เนื้องอกมดลูก

ความหมาย เนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids) คือ เนื้องอกชนิดหนึ่งที่ไม่เป็นอันตรายและมีโอกาสน้อยมากที่จะกลายเป็นมะเร็งมดลูก เนื้องอกชนิดนี้มักเกิดในผู้หญิงวัย 30-40 ปีไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งผู้หญิงที่มีเนื้องอกบริเวณมดลูกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรหากไม่รับการรักษา

Uterine Fibroids

อาการของเนื้องอกมดลูก

เมื่อเกิดเนื้องอกขึ้นที่มดลูก ผู้หญิงหลายรายอาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ แต่บางรายก็อาจมีอาการเกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งลักษณะอาการขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิด ขนาด หรือจำนวนของเนื้องอก โดยอาการที่มักพบได้ มีดังนี้

  • ประจำเดือนมามากกว่าปกติ หรือมานานกว่า 1 สัปดาห์
  • รู้สึกแน่นหรือปวดบริเวณท้องน้อย
  • ท้องน้อยมีขนาดโตขึ้น
  • ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะลำบาก
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ปวดหลัง หรือปวดขา
  • ท้องผูก
  • เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ คลอดบุตร หรือมีความเสี่ยงที่ทำให้ต้องผ่าคลอด
  • มีบุตรยาก แต่มักเกิดขึ้นได้น้อย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด หากมีอาการ เช่น ปวดบริเวณท้องน้อยอย่างเรื้อรัง ประจำเดือนมามากและนานกว่าปกติ เจ็บขณะมีประจำเดือน หรือมีปัญหาในการปัสสาวะ เป็นต้น และควรรีบเข้ารับการรักษาทันทีหากมีเลือดออกทางช่องคลอดอย่างผิดปกติ หรือปวดแปลบบริเวณท้องน้อยอย่างเฉียบพลัน เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคที่เกี่ยวกับอุ้งเชิงกรานได้

สาเหตุของเนื้องอกมดลูก

ปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกได้อย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจนเตอโรน เป็นต้น
  • การใช้ยา เช่น การใช้สารหรือยาบางชนิดอย่างยาคุมกำเนิด เพราะอาจเพิ่มการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูกได้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางประการที่ทำให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกมดลูกมากขึ้น ได้แก่

  • กรรมพันธุ์ หากมีคนในครอบครัวเป็นเนื้องอกในมดลูก อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้กับผู้หญิงคนอื่นในครอบครัวมากขึ้น
  • ความแตกต่างทางร่างกาย ผู้หญิงที่มีประจำเดือนก่อนวัย เป็นโรคอ้วน หรือขาดวิตามินดี จะมีความเสี่ยงเผชิญภาวะนี้สูงกว่าคนทั่วไป
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหาร คนที่รับประทานเนื้อแดงมาก รับประทานผักใบเขียว ผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์จากนมน้อย และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะมีความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูกมากกว่าคนทั่วไปเช่นกัน

การวินิจฉัยเนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูกมักถูกตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจภายใน โดยแพทย์จะรู้สึกถึงก้อนเนื้อที่มีลักษณะผิดปกติภายในมดลูก และแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัดต่อไป เช่น

  • การตรวจอัลตราซาวด์ แพทย์จะใช้อุปกรณ์พิเศษส่งคลื่นเสียงสะท้อนเป็นภาพของมดลูก เพื่อให้มองเห็นเนื้องอกมดลูกได้ชัดเจนจนสามารถวัดขนาดและระบุบริเวณที่เกิดเนื้องอกได้
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีประจำเดือนมากผิดปกติ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ตรวจนับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเพื่อให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางจากการสูญเสียเลือดอย่างเรื้อรังหรือไม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจด้วยภาพถ่ายวิธีอื่น ๆ ในกรณีที่ผลตรวจอัลตราซาวด์ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ เช่น การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) การฉีดน้ำเกลือหรือสารย้อมสีเข้าไปในมดลูกเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น หรือการส่องกล้องตรวจมดลูก เป็นต้น ซึ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยยืนยันผลการวินิจฉัยและนำไปใช้วางแผนการรักษาต่อไป

การรักษาเนื้องอกมดลูก

ส่วนใหญ่แล้วเนื้องอกมดลูกมักไม่มีอาการใด ๆ และอาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ต้องเข้ารับการตรวจติดตามอาการอยู่เสมอ และควรดูแลตัวเองด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายเป็นประจำสัปดาห์ละ 7 ชั่วโมงขึ้นไปอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเนื้องอกมดลูกได้
  • ป้องกันภาวะโลหิตจาง ผู้หญิงที่สูญเสียเลือดไปจากเนื้องอกมดลูกและได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพออาจก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อลดความเสี่ยงภาวะโลหิตจาง

ในกรณีที่มีอาการ ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษา โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าวิธีการรักษาใดเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งจะต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน เช่น อาการที่เกิดจากเนื้องอกมดลูก ขนาดและบริเวณที่เกิดเนื้องอก การวางแผนตั้งครรภ์ในอนาคต อายุของผู้ป่วย และภาวะหมดประจำเดือนที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น

โดยปัจจุบัน สามารถรักษาเนื้องอกมดลูกได้ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

1. การใช้ยา

ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาแก้ปวดอย่างยาไอบูโพรเฟน ยาระงับปวดอื่น ๆ ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หรือสั่งใช้ยาคุมกำเนิดในปริมาณต่ำเพื่อควบคุมอาการของเนื้องอกมดลูก แต่หากผู้ป่วยมีประจำเดือนมามากกว่าปกติ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กเพื่อป้องกันหรือรักษาภาวะโลหิตจางด้วย

2. การรักษาด้วยฮอร์โมน

แพทย์อาจใช้ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิ่งเพื่อช่วยทำให้เนื้องอกฝ่อลง ทั้งยังช่วยให้อาการต่าง ๆ บรรเทาลงได้ ทว่าการรักษาวิธีนี้จะทำให้การผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูก เกิดอาการร้อนวูบวาบ และช่องคลอดแห้งได้ อีกทั้งเนื้องอกมดลูกอาจเกิดขึ้นอีกหากหยุดรักษา ดังนั้น แพทย์จึงมักใช้วิธีนี้ในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อลดขนาดเนื้องอกมดลูกก่อนการผ่าตัด

3. การผ่าตัด

หากผู้ป่วยมีเนื้องอกมดลูกและมีอาการอื่น ๆ ที่ค่อนข้างรุนแรงหรือมีความจำเป็นอื่น ๆ แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดรักษาเนื้องอกมดลูก เนื่องจากเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุด เช่น

การผ่าตัดลอกเนื้องอกมดลูก (Myomectomy)
เป็นการกำจัดเนื้องอกมดลูกออกโดยยังรักษาเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ ไว้ เป็นวิธีที่ใช้ในผู้ป่วยที่ต้องการตั้งครรภ์หลังจากผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแล้ว หรือไม่ต้องการตัดมดลูกออก โดยสามารถผ่าตัดแบบส่องกล้องหรือผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดโดยพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ชนิดและขนาดของเนื้องอก รวมทั้งบริเวณที่เกิดเนื้องอก เป็นต้น

การผ่าตัดนำมดลูกออกไป (Hysterectomy)
การผ่าตัดนำมดลูกออกไปเป็นวิธีรักษาที่มั่นใจได้ว่าจะหายขาดจากเนื้องอกมดลูก โดยมักใช้ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือมีเลือดออกมาก นอกจากนี้ อาจใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน ผ่านวัยทองไปแล้ว หรือไม่ต้องการตั้งครรภ์อีก ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่อาจผ่าตัดทางหน้าท้องหรือผ่าตัดด้วยการส่องกล้องได้ และผู้ป่วยจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการพักฟื้นหลังการผ่าตัด

การจี้ทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Ablation)
วิธีนี้จะช่วยลดภาวะเลือดไหลทางช่องคลอด โดยอาจจี้ด้วยเลเซอร์ ไฟฟ้า คลื่นไมโครเวฟ หรือความเย็น ซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็ก ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว แต่จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกหลังการรักษา

การสลายเนื้องอก
เป็นการสอดเข็มและกล้องขนาดเล็กเข้าไปในมดลูก และใช้กระแสไฟฟ้าหรือความเย็นเข้าไปจี้เพื่อทำลายเนื้องอก

การอุดเส้นเลือดมดลูก (Uterine Fibroid Embolization: UFE)
เป็นการสอดท่อขนาดเล็กเข้าไปในหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงเนื้องอก จากนั้นจะฉีดพลาสติกขนาดเล็กหรือเจลบางชนิดเข้าไปในหลอดเลือด เพื่ออุดหลอดเลือดไว้ไม่ให้ส่งเลือดไปเลี้ยงเนื้องอกจนทำให้เนื้องอกฝ่อไปในที่สุด

โดยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีเลือดออกมาก มีอาการปวดหรือเกิดแรงกดที่กระเพาะปัสสาวะและทวารหนัก รวมทั้งผู้ที่ไม่ต้องการผ่าตัดมดลูก ผลข้างเคียงของการรักษา คือ ผู้ป่วยจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก แต่การรักษานี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา

ภาวะแทรกซ้อนของเนื้องอกมดลูก

ส่วนใหญ่แล้วเนื้องอกมดลูกจะไม่เป็นอันตราย แต่ก็อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่ค่อยสบายตัว และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ภาวะโลหิตจางจากการสูญเสียเลือดมาก เป็นต้น

นอกจากนี้ การมีเนื้องอกมดลูกในขณะตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ เช่น ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ปัญหาในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ภาวะเลือดออกในการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ทารกอยู่ในท่าก้น และการคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น นอกจากนี้ เนื้องอกมดลูกบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก การแท้งบุตร และเพิ่มความเสี่ยงในการผ่าคลอดอีกด้วย

การป้องกันเนื้องอกมดลูก

ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของเนื้องอกมดลูก จึงยังไม่สามารถป้องกันภาวะนี้ได้ แต่อาจลดความเสี่ยงด้วยการดูแลสุขภาพตนเองอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนผู้ป่วยที่เคยมีเนื้องอกมดลูกก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้ เนื่องจากเนื้องอกที่แพทย์ตรวจไม่พบขณะผ่าตัดอาจโตขึ้นจนก่อให้เกิดอาการได้อีก เพื่อป้องกันการเกิดเนื้องอกมดลูกซ้ำ ผู้ป่วยอาจต้องตัดมดลูกออก ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก และอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ โดยแพทย์จะประเมินความจำเป็นและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นก่อนพิจารณาตัดมดลูก เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง