เป็นหวัดแล้วหูอื้อ สาเหตุและวิธีการรับมืออย่างถูกต้อง

เป็นหวัดแล้วหูอื้อ คืออาการที่ได้ยินเสียงลดน้อยลงจากปกติเสียงหรือได้ยินเสียงภายในศีรษะในขณะที่กำลังเป็นหวัด การรู้จักสาเหตุที่ทำให้หูอื้อขณะเป็นหวัด และวิธีรักษาอาการหวัดและหูอื้ออย่างถูกต้องอาจช่วยให้สามารถรับมือกับอาการเป็นหวัดแล้วหูอื้อได้ดีขึ้น

หูอื้อไม่ใช่โรคหรือปัญหาสุขภาพ แต่เป็นอาการที่สามารถถูกกระตุ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดัง สิ่งแปลกปลอมอุดตันในหู ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโรคหวัดด้วย การเป็นหวัดแล้วหูอื้ออาจสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ที่มีอาการ ดังนั้น หูอื้อจึงเป็นอาการที่ไม่ควรมองข้ามและควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว หูอื้อมักดีขึ้นได้เมื่อรักษาปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุ

Tinnitus after Cold

สาเหตุที่เป็นหวัดแล้วหูอื้อ

หวัดเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น คอ โพรงจมูก เมื่อเกิดการติดเชื้อ บริเวณโพรงจมูกอาจเกิดการอักเสบและบวม ซึ่งอาจทำให้ท่อยูสเตเชียนที่เชื่อมระหว่างโพรงจมูกและหูชั้นกลางบวม และอาจส่งผลให้ความดันในหูเพิ่มขึ้น จึงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเป็นหวัดแล้วหูอื้อได้

อีกหนึ่งสาเหตุคือเยื่อแก้วหูทะลุ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อแก้วหูฉีกขาดจากการติดเชื้อบริเวณหูชั้นกลาง โดยโรคหวัดอาจทำให้ท่อยูสเตเชียนบวมและอุดตัน ส่งผลให้ของเหลวสะสมภายในหูชั้นกลางและทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยอาการหูอื้อเป็นหนึ่งในอาการของเยื่อแก้วหูทะลุ ดังนั้น ผู้ที่เป็นหวัดแล้วหูอื้ออาจมีอาการเยื่อแก้วหูทะลุร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม เยื่อแก้วหูทะลุมักดีขึ้นได้เองโดยใช้เวลาประมาณ 2–3 สัปดาห์

นอกจากนี้ ยาบางชนิดที่รับประทานเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากโรคหวัดก็อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อขณะเป็นหวัดได้ โดยยาที่อาจกระตุ้นให้เกิดหูอื้อส่วนใหญ่จะเป็นยาแก้ปวดต่าง ๆ ที่ใช้รักษาอาการปวดหัวหรือลดไข้ เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

วิธีรับมือเมื่อเป็นหวัดแล้วหูอื้ออย่างเหมาะสม

โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการเป็นหวัดแล้วหูอื้อจะดีขึ้นเมื่อหายจากโรคหวัดแล้ว โดยในระหว่างนี้ สามารถดูแลตัวเองได้หลายวิธี เช่น

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยควรดื่มน้ำประมาณวันละ 6–8 แก้ว
  • จิบน้ำอุ่น โดยน้ำอุ่นอาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอจากโรคหวัดดีขึ้น
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและชะล้างน้ำมูกที่อุดตันอยู่ภายในจมูก
  • พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูจากโรคหวัดเร็วขึ้น
  • รับประทานยาแก้คัดจมูก เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูกหรือจมูกตันให้ดีขึ้น
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อลดอาการปวดหัว เจ็บคอและลดไข้
  • หลีกเลี่ยงการใช้หูฟังและเปิดเสียงดังเกินไป รวมถึงการอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดัง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพหูได้

หากเป็นหวัดแล้วหูอื้อไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง หายใจถี่ เวียนศีรษะ สูญเสียการได้ยิน ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากอาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการหวัดและหูอื้ออาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่างได้