หลายคนที่เป็นหวัดไม่หายสักทีน่าจะกำลังมีคำถามว่า ทำไมอาการถึงไม่ดีขึ้นสักที หรือมีอะไรผิดปกติภายในร่างกายหรือไม่ เนื่องจากปกติแล้วโรคหวัดหรือไข้หวัด (Common Cold) มักดีขึ้นได้เองในไม่กี่วัน ซึ่งเป็นข้อสงสัยที่อาจเป็นไปได้ เนื่องจากโรคไข้หวัดที่ไม่ดีขึ้นในระยะเวลา 12 สัปดาห์ อาจบ่งบอกได้ถึงความผิดปกติทางร่างกายบางอย่างได้
โรคหวัด หรือไข้หวัด เป็นโรคหนึ่งที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยอาการของผู้ป่วยโรคนี้ที่มักพบได้ก็เช่น อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม ไอ เจ็บคอ และมีไข้อ่อน ๆ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้ว โรคนี้มักไม่ได้ส่งผลข้างเคียงใด ๆ ที่รุนแรงต่อร่างกาย และมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองในระยะเวลาประมาณ 7–10 วัน
สาเหตุที่อาจเป็นไปได้เมื่อเป็นหวัดไม่หายสักที
โรคหวัดหรือไข้หวัด เป็นโรคที่เกิดจากการการที่ร่างกายติดเชื้อไวรัส โดยชนิดของเชื้อก็อาจเป็นได้หลายอย่าง แต่ชนิดที่พบได้บ่อยมักจะเป็นเชื้อไรโนไวรัส (Rhinovirus)
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นหวัดไม่หายสักที อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็อาจจะเกิดขึ้นหรือเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ อย่างภาวะเนื้อเยื่อในโพรงจมูกอักเสบอย่างเรื้อรัง (Chronic Rhinitis) ได้เช่นกัน โดยสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะนี้ก็เช่น
1. โรคภูมิแพ้อากาศ หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis)
โรคภูมิแพ้อากาศ เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสารบางอย่างในอากาศ เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ เชื้อรา หรือสะเก็ดรังแคของสัตว์ ในลักษณะที่ผิดปกติไปในลักษณะคล้ายตอบสนองต่อสารอันตราย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการในลักษณะคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม มีเสมหะ และปวดศีรษะตามมา
2. ภาวะจมูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้ (Vasomotor Rhinitis)
ภาวะจมูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้เป็นภาวะที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่เนื้อเยื่อในโพรงจมูก และอาการในลักษณะจาม คัดจมูก หรือน้ำมูกไหลเช่นกัน แต่สาเหตุของภาวะนี้จะไม่ได้เกิดจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้เหมือนกับโรคภูมิแพ้อากาศ
โดยสาเหตุของภาวะนี้มักจะเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของร่างกายต่อปัจจัยบางอย่างที่มากเกินไป ซึ่งมักจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ขณะที่อากาศมีการเปลี่ยนแปลง การดมกลิ่นบางอย่าง การรับประทานอาหารบางชนิด การออกกำลังกาย การใช้ยารักษาโรคบางชนิด หรือบางครั้งก็อาจจะหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่พบก็ได้เช่นกัน
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นหวัดไม่หายสักที
สำหรับผู้ที่เป็นหวัดไม่หายสักที อาจจะลองนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ด้วยตัวเองในเบื้องต้น
- ป้องกันตัวเองจากสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย พยายามปิดหน้าต่างและประตูเมื่อเห็นว่าสภาพแวดล้อมมีฝุ่นหรือสารก่อภูมิแพ้สูง ซักผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนด้วยน้ำร้อนอาทิตย์ละ 1 ครั้ง อาบน้ำหลังจากออกไปข้างนอก หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศ HEPA (High–Efficiency Particulate Absorption Filter)
- พยายามดื่มน้ำให้เพียงพอ แต่ให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนผสม เพื่อช่วยระบายเยื่อเมือกที่อยู่ภายในโพรงจมูกและบรรเทาการอักเสบของเนื้อเยื่อในโพรงจมูก
- ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ด้วยการใช้กระบอกฉีดยา ลูกสูบยางแดง หรืออุปกรณ์คล้ายกาน้ำสำหรับล้างจมูกพ่นน้ำเกลือเข้าไปในรูจมูกทีละข้าง โดยขณะทำ ให้บ้วนน้ำเกลือทิ้งเสมอ และหายใจทางปากแทน และสั่งน้ำมูกเบา ๆ หลังล้างเสร็จแต่ละข้าง เพื่อกำจัดน้ำเกลือและสิ่งตกค้างในโพรงจมูกให้หมด
นอกจากวิธีในข้างต้นแล้ว การป้องกันตัวเองจากการป่วยด้วยโรคไข้หวัดด้วยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Flu Vaccine) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ก็ถือเป็นอีกสิ่งสำคัญเช่นกัน เพื่อช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคไข้หวัด
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่เป็นหวัดไม่หายสักทีที่ลองทำวิธีดังที่ได้กล่าวไปแล้วพบว่า อาการต่าง ๆ ยังคงไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง ผู้ป่วยก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดบริเวณใบหน้า หรือเป็นโรคไข้หวัดบ่อย ๆ แม้จะได้รับการฉีดวัคซันไข้หวัดใหญ่ไปแล้ว เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของโรครุนแรงบางชนิดได้