เป็นโควิดกินยาอะไร ตัวช่วยบรรเทาอาการได้ที่บ้าน

เป็นโควิดกินยาอะไรที่ช่วยให้อาการดีขึ้นและหายได้เร็ว เป็นสิ่งที่หลายคนน่าจะต้องการทราบเมื่อตรวจพบว่าตนเองติดโควิด-19 การกินยาเป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการจากโควิด-19 เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จาม ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ และท้องเสียได้ดี และช่วยให้รู้สึกสบายตัวขึ้น

การรักษาโควิด-19 จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ และปัจจัยเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ที่ติดเชื้อ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีโรคประจำตัวและได้รับวัคซีนป้องกันมาแล้วมักจะเกิดอาการไม่รุนแรงมาก และหายได้ด้วยการดูแลตัวเองที่บ้านและกินยาที่หาซื้อได้เอง บทความนี้ได้ตอบข้อสงสัยว่า “เป็นโควิดกินยาอะไร” เอาไว้แล้ว

Covid Drugs

เป็นโควิดกินยาอะไร ยา 6 ชนิดนี้ช่วยได้

หลายคนอยากรู้ว่าเมื่อเป็นโควิดกินยาอะไรดี ซึ่งยาส่วนใหญ่ที่ใช้รักษาจะช่วยบรรเทาอาการจากโรคโควิด-19 คล้ายกับยารักษาไข้หวัดใหญ่ ซึ่งแบ่งเป็น 6 กลุ่มยาที่ช่วยรักษาตามอาการ ดังนี้

1. ยาแก้ปวด

โควิด-19 อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และมีไข้ การใช้ยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ ยาแก้ปวดมีทั้งยาเม็ดสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ และยาน้ำสำหรับเด็กเล็ก ปริมาณการกินยามักคำนวณจากน้ำหนักตัวและอายุ ควรใช้ยาตามที่ฉลากยาระบุหรือตามที่เภสัชกรแนะนำ

2. ยาแก้ไอ

เป็นโควิดกินยาอะไรเมื่อมีอาการไอ คำตอบคือยาแก้ไอ ผู่ป่วยควรเลือกใช้ยาแก้ไอให้เหมาะสมกับอาการไอที่เป็น ดังนี้

  • ยาที่ช่วยกดอาการไอ (Cough Suppressants) เช่น เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) เหมาะสำหรับคนที่มีอาการไอแห้ง คันคอ ไม่มีเสมหะ ซึ่งจะช่วยให้ไอน้อยลง
  • ยาขับเสมหะ (Expectorants) เช่น เหมาะสำหรับคนที่มีอาการไอมีเสมหะ เช่น ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ขับเสมหะออกจากระบบทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น

การใช้ยาแก้ไอมีข้อควรระวังสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนให้เด็กกินยาแก้ไอ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก

3. ยาแก้เจ็บคอ

ยาแก้เจ็บคอมีหลายประเภท เช่น ลูกอมและสเปรย์ มักมีส่วนผสมของตัวยาที่ช่วยต้านการอักเสบ ยาชาเฉพาะที่ หรือฆ่าแบคทีเรียในช่องปาก และสมุนไพร เช่น คาโมมายล์ ชะเอมเทศ เมนทอล ยูคาลิปตัส ที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ระคายคอ และช่วยให้ชุ่มคอ

4. ยาแก้คัดจมูก

ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้คัดจมูกช่วยให้หลอดเลือดฝอยในโพรงจมูกที่บวมอยู่ยุบตัวลง จึงช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกจากโควิด-19 และช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ยาแก้คัดจมูกมีทั้งยาเม็ด ยาน้ำ และยาพ่นจมูก เช่น ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) และออกซี่เมตาโซลีน (Oxymetazoline)

ยาแก้คัดจมูกบางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ และยาแก้ไอ จึงควรอ่านฉลากยาและใช้ยาให้เหมาะสม ระมัดระวังการได้รับยาซ้ำซ้อนและเกินขนาด

5. สมุนไพร 

กรมการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงกินยาสมุนไพรที่อาจช่วยบรรเทาอาการโควิด-19 ได้ คือฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีสรรพคุณต้านการอักเสบ แก้ไอ และใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะปอดบวม ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโควิด-19

ฟ้าทะลายโจรชนิดเม็ดและแคปซูลสามารถหาซื้อได้ตามร้ายขายยาทั่วไป โดยขนาดที่แนะนำให้กินคือวันละ 180 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง ก่อนอาหาร ควรเริ่มกินให้เร็วที่สุดหลังจากตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 และควรติดต่อกันประมาณ 5 วัน แต่ไม่แนะนำให้เด็ก ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตรกินยาฟ้าทะลายโจรนี้

6. ยาต้านไวรัส

ยาต้านไวรัสจะใช้ในกรณีที่ผู้ติดโควิด-19 มีภาวะสุขภาพหรือโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวานที่ไม่ได้รับรักษาอย่างต่อเนื่อง และโรคมะเร็ง โดยเป็นยาที่ไม่สามารถหาซื้อมากินเอง และต้องใช้ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์

ยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 เช่น ยาเนอร์มาเทรลเวียร์และริโทนาเวียร์ (Nirmatrelvir-Ritonavir) ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)

เมื่อรู้แล้วว่าเป็นโควิดกินยาอะไร ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนกินหรือใช้ยาชนิดใดก็ตาม โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว และใช้ยาตามที่ฉลากยาหรือเภสัชกรแนะนำ หากมีอาการท้องเสียอาจดื่มผงเกลือแร่ ORS ซึ่งเป็นยาชนิดผงละลายน้ำ เพื่อช่วยชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากการถ่ายเหลว  

นอกจากการกินยา ควรดูแลตัวเองให้หายได้เร็วขึ้นด้วยการพักผ่อนมาก ๆ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ เปิดหน้าต่างในที่พักให้ระบายอากาศ และสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ไปสู่ผู้อื่น หากดูแลตัวเองและกินยาที่ซื้อได้เองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เจ็บหน้าอก ริมฝีปาก ผิว และเล็บเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ และสับสน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา