เพลงพัฒนาสมองได้ ประโยชน์ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

คนมากมายชื่นชอบการฟังเพลง เพราะให้ความเพลิดเพลินผ่อนคลายจิตใจ แต่รู้หรือไม่ว่าเพลงพัฒนาสมองคนเราได้ด้วย ไม่เพียงแต่ช่วยผ่อนคลายความเครียด ปรับอารมณ์และจิตใจ หรือทำให้รู้สึกสนุกสนานเท่านั้น แต่อาจส่งผลดีต่อสมองในหลายด้าน อย่างช่วยให้ฉลาดขึ้น และช่วยฟื้นฟูความจำ และเสียงเพลงยังมีประโยชน์ด้านใดอีกบ้าง สามารถศึกษาได้จากบทความนี้

2013 เพลงพัฒนาสมอง rs

เพลงพัฒนาสมองได้อย่างไรบ้าง ?

มีการศึกษาวิจัยบางส่วนกล่าวถึงประโยชน์ของเสียงเพลงที่ส่งผลดีต่อสมองไว้ ดังนี้

การเรียนดนตรีทำให้ฉลาดยิ่งขึ้น
คนที่เรียนดนตรีมักเก่งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์เมื่อมีอายุมากขึ้น เพราะการเรียนดนตรีช่วยให้สมองได้ฝึกแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม จังหวะและเวลานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยหากเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่เด็กจะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น เพราะอาจเป็นช่วงที่สมองกำลังพัฒนาและก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ยิ่งบทเรียนนั้นเข้มข้นมาก สมองก็จะยิ่งพัฒนามากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ก็อาจได้รับประโยชน์จากการเรียนดนตรีได้เช่นเดียวกัน เพียงแค่หมั่นใช้งานสมองส่วนความจำระยะสั้นที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ ความเข้าใจ และการใช้เหตุผล ก็อาจช่วยให้ระบบการเรียนรู้ในสมองเสื่อมสภาพช้าลงได้

การเล่นดนตรีช่วยเพิ่มความจำ
การเล่นดนตรีช่วยให้จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และยังช่วยรักษาความทรงจำให้คงอยู่เมื่อมีอายุมากขึ้นด้วย โดยการทำกิจกรรมที่ซับซ้อนอย่างการอ่านโน้ตดนตรี หรือการวางมือบนสายเครื่องดนตรี จะช่วยเพิ่มความจุของความจำระยะสั้นให้กับสมอง และเมื่อเวลาผ่านไป สมองจะเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานหลายอย่างไปพร้อมกันโดยไม่รู้สึกว่าข้อมูลล้นจนเกินไป รวมถึงช่วยให้สมองจดจำข้อมูลได้นานขึ้นด้วย นอกจากนี้ การเล่นดนตรีเป็นกลุ่มยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแยกแยะข้อมูลเล็ก ๆ ในพื้นที่ที่ซับซ้อนภายในสมองอีกด้วย ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในระยะยาวได้

นอกจากนี้ มีงานวิจัยบ่งชี้อีกว่าเสียงเพลงช่วยกักเก็บความทรงจำใหม่ ๆ โดยพบว่าผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรง ทำคะแนนข้อสอบด้านความจำและการใช้เหตุผลได้ดีหลังจากเข้าเรียนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งเป็นการค้นคว้าโดยให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างพอเหมาะโดยเปิดดนตรีคลอไปด้วย       

การตีกลองอาจช่วยบำบัดโรคอัลไซเมอร์
ปัจจุบันมีการนำเสียงกลองไปใช้ในการบำบัดโรค เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดความเหนื่อยล้า และรักษาบาดแผลทางอารมณ์ ซึ่งมีการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของเสียงดนตรีต่อสมอง พบว่าการตีกลองมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยเป็นผลดีต่อร่างกายและอารมณ์ของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้หญิงที่มีความผิดปกติด้านการรับประทานอาหาร เด็กออทิสติก ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ผู้ที่เผชิญกับความเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ผู้ที่มีปัญหาในการจัดการกับความเครียด หรือผู้ที่มีอาการเสพติดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นอกจากนี้ นักบำบัดโรคยังได้นำเสียงกลองไปใช้รักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมขั้นรุนแรงและผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกอีกด้วย รวมทั้งมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นชี้ว่า การตีกลองช่วยให้คนที่มีสุขภาพแข็งแรงผ่อนคลายความเครียดได้เป็นอย่างดี        

การร้องเพลงเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีอาการป่วยทางสมอง
ปกติแล้วสมองซีกขวาของคนเราจะทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิดแบบองค์รวม สัญชาติญาณ ศิลปะ จังหวะ หรือจินตนาการ ซึ่งความสามารถในการร้องเพลงของคนเรานั้นส่วนหนึ่งมีผลมาจากสมองซีกขวา การร้องเพลงจึงอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยบางราย โดยนักวิจัยพบว่าการร้องเพลงอาจมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่กำลังฟื้นตัวจากโรคหลอดเลือดสมองหรือจากอาการบาดเจ็บทางสมองที่ทำให้สมองซีกซ้ายซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับคำพูดเกิดความเสียหาย โดยผู้ป่วยอาจใช้สมองซีกขวาในการเรียนรู้ที่จะพูดในสิ่งที่ตนเองคิดออกมาเป็นเพลงก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ ละทำนองเพลงทิ้ง นอกจากนี้ การร้องเพลงยังช่วยให้คนที่มีสุขภาพดีเรียนรู้เกี่ยวกับคำพูดและวลีได้เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน

ส่วนงานวิจัยอื่น ๆ ก็ได้ชี้ถึงประโยชน์ของเสียงเพลงที่มีต่อสุขภาพด้านต่าง ๆ ด้วย เช่น ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล หรืออาการซึมเศร้า ช่วยลดความเจ็บปวดทางร่างกาย หรืออาจช่วยรักษาภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นต้น

ฟังเพลงอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ?

ผู้ที่ต้องการฟังเพลงเพื่อพัฒนาสมองควรเลือกฟังเพลงตามแนวที่ชื่นชอบ โดยอาจใช้หูฟังคู่ใจเพื่อฟังเพลงโปรดเหล่านั้นพร้อมกับฟังเพลงแบบสุ่มไปด้วย เพราะการฟังเพลงแบบสุ่มจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขอย่างโดพามีนออกมา นอกจากนี้ อาจเลือกฟังเพลงแจ๊สก็ได้ เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่า การฟังเพลงแจ๊สช่วยเพิ่มสารเอ็นดอร์ฟินและสารอิมมูโนโกลบูลินที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อในร่างกาย หรืออาจเลือกฟังดนตรีออร์เคสตรา เพราะนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าดนตรีออร์เคสตราช่วยให้ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมมีความมั่นใจในตนเองและอารมณ์ดีขึ้น ส่วนเพลงคลาสสิคก็อาจช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจและชีพจรช้าลง ช่วยลดความดันโลหิต และลดฮอร์โมนความเครียดได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรฟังเพลงในระดับเสียงที่ดังเกินไป เพราะอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน และไม่ควรให้เด็กทารกฟังเพลงจากหูฟัง เพราะสมองของเด็กยังไม่พร้อมที่จะรับคลื่นเสียงที่มีความเข้มข้นสูง แต่หากต้องการให้ทารกได้ยินเสียงเพลง ควรร้องเพลงให้เด็กฟังด้วยตัวเองแทน