เมลามีนเป็นสารอันตรายที่ปะปนอยู่ในสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน หากสารนี้ปะปนอยู่ในอาหารก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้ อย่างทำให้ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีการติดเชื้อที่ไต และอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น ทุกคนจึงควรระมัดระวังในการใช้งานอุปกรณ์แต่ละอย่าง และหลีกเลี่ยงการได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้ตนและคนที่คุณรักปลอดภัยจากสารอันตรายชนิดนี้
เมลามีน คือ อะไร ?
เมลามีนเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่พบมากที่สุดในรูปของผลึกสีขาวที่อุดมไปด้วยไนโตรเจน ซึ่งสามารถละลายน้ำได้เล็กน้อย และยังนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งของต่าง ๆ เช่น พลาสติก กาว วัสดุรองบนเคาน์เตอร์ครัว ไวท์บอร์ด เครื่องล้างจาน เครื่องใช้ในครัว จานชาม กระดาษ กระดาษลัง และบรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นต้น
อันตรายจากเมลามีน
หากสารเมลามีนสะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณมาก อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งโดยปกติแล้วเราอาจรับพิษของสารเมลามีนได้จากหลายทาง เช่น การรับประทานอาหาร การสูดดม การสัมผัสทางผิวหนัง เป็นต้น ทั้งนี้ จากการทดลองในสัตว์หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การได้รับสารเมลามีนในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากร่างกายไม่อาจย่อยสลายสารนี้ได้ อีกทั้งยังขับสารพิษออกมาทางปัสสาวะได้ช้า สารเมลามีนที่ตกค้างอยู่จึงอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างสารเมลามีน โปรตีน กรดยูริก และฟอสเฟต และอาจมีผลึกอยู่ในปัสสาวะ นอกจากนี้ หากสารเมลามีนรวมตัวกับกรดไซยานูริกอาจทำให้เกิดผลึกเมลามีนไซยานูเรต ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดนิ่วในไต และอาจส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย มะเร็ง หรือเสียชีวิตได้ แม้ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยด้านนี้ในมนุษย์โดยตรง และจำเป็นต้องค้นคว้าเพิ่มเติมให้ทราบผลลัพธ์ที่ชัดเจนต่อไป แต่ทุกคนก็อาจเสี่ยงได้รับสารพิษชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายจนเกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะจากภาชนะที่ทำจากเมลามีนและอาหารที่มีการปนเปื้อน ดังนี้
การใช้ภาชนะที่ทำจากเมลามีน
คนนิยมนำสารเมลามีนมาใช้ทำภาชนะพลาสติกเพื่อใส่อาหารกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีคุณสมบัติในการทนความร้อน ซึ่งหากทุกคนใช้สารนี้ตามข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ก็อาจไม่ทำให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่หากนำภาชนะเหล่านี้ไปใช้กับไมโครเวฟหรือใส่อาหารที่มีความร้อนสูง อาจทำให้สารฟอร์มาลดีไฮด์หรือที่เรียกกันว่าฟอร์มาลีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่อยู่ในพลาสติกซึมออกมาและเกิดการปนเปื้อนกับอาหารได้ ดังนั้น หากต้องการนำภาชนะเมลามีนมาใส่อาหาร ควรทิ้งอาหารไว้ให้เย็นลงก่อนนำมาใส่ภาชนะจากเมลามีนเสมอ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนเมลามีน
การปนเปื้อนของสารเมลามีนพบได้ในนมผงสำหรับเด็กที่มีแหล่งผลิตในประเทศจีน ซึ่งสารนี้ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่านมนั้นมีโปรตีนสูงทั้งที่ความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยตามปกติแล้ว การตรวจโปรตีนในนมจะวัดจากค่าของไนโตรเจน เมื่อนำสารเมลามีนไปละลายน้ำหรือผสมในนมจะตรวจพบปริมาณไนโตรเจนสูง จึงอาจเข้าใจผิดว่านมนั้นมีโปรตีนสูงได้ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีอาหารอื่น ๆ ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเมลามีนอีกด้วย เช่น โปรตีนจากพืชที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างกลูเตนข้าวโพด กากถั่วเหลือง โปรตีนถั่วเหลือง รำข้าวหรือโปรตีนข้าวเข้มข้น และโปรตีนจากวุ้นเส้น เป็นต้น ซึ่งหากผู้บริโภครับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณมากก็อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะออกเพียงเล็กน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย มีสัญญาณอาการของการติดเชื้อในไต และความดันโลหิตสูง จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาเพิ่มเติมต่อไป
ทำอย่างไรให้ปลอดภัยจากเมลามีน ?
ผู้บริโภคควรเรียนรู้วิธีป้องกันตนเองและคนในครอบครัวจากอันตรายของสารเมลามีน เพื่อคงไว้ซึ่งสุขภาพที่ดี โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ระมัดระวังไม่ให้สารเมลามีนเข้าตา จมูก ปาก หรือสัมผัสถูกผิวหนัง หากสารนี้สัมผัสกับบริเวณดังกล่าว ควรรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด และหากสูดดมสารเมลามีนเข้าไป ควรรีบออกจากสถานที่นั้น ๆ แล้วไปอยู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ทันที
- หลีกเลี่ยงการใส่อาหารร้อนหรือน้ำเดือดจัดในภาชนะพลาสติกที่เข้าไมโครเวฟไม่ได้ หรือเปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่ทำจากเซรามิค หรือภาชนะที่ระบุว่าใช้กับไมโครเวฟได้แทน
- ตรวจดูฉลากบรรจุภัณฑ์ที่ระบุแหล่งผลิตอย่างชัดเจน รวมถึงตรวจสอบวันผลิตและวันหมดอายุก่อนเลือกซื้อและรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารใด ๆ
- ติดตามข่าวสารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ทันข่าวคราวเกี่ยวกับสารเมลามีน และข่าวทางด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม หากได้รับสารเมลามีนเข้าไปในร่างกายไม่ว่าทางใด ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที และลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อร่างกายให้น้อยที่สุด