เสียงแหบ (Hoarseness) เป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยเสียงของผู้พูดที่เปล่งออกมาจะมีลักษณะเบา แหบ มีโทนเสียงที่เปลี่ยนไป ต้องฝืนออกแรงเปล่งเสียงมากขึ้น และบางรายอาจพบอาการระคายเคืองในลำคอร่วมด้วย
เสียงแหบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการใช้เสียงที่ดังมากเกินไป การสูดดมสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง การสูบบุหรี่ และอาจเป็นผลมาจากโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่าง เช่น โรคไข้หวัด กล่องเสียงอักเสบ กรดไหลย้อน และโรคมะเร็งปอด เป็นต้น
โดยทั่วไปเสียงแหบมักเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เอง ในเบื้องต้นอาจลองบรรเทาอาการเสียงแหบด้วยวิธีต่อไปนี้
- พักการใช้เสียง โดยเฉพาะการกระซิบ เนื่องจากการกระซิบจะยิ่งส่งผลให้เส้นเสียงเกิดอาการระคายเคืองมากยิ่งขึ้น
- ดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้บริเวณลำคอ และป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ
- อมยาอมแก้เจ็บคอ หรือกลั้วคอด้วยน้ำเกลือเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้บริเวณลำคอ
- เพิ่มความชื้นในอากาศด้วยการใช้เครื่องทำความชื้น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เนื่องจากเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์จะทำให้คอแห้งมากขึ้น และอาจส่งผลให้อาการเสียงแหบแย่ลง
- ไม่ควรขากเสมหะ เนื่องจากการขากเสมหะจะทำให้เส้นเสียงเกิดการระคายเคือง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้คัดจมูก เนื่องจากตัวยาอาจส่งผลให้เกิดอาการคอแห้ง
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
- งดสูบบุหรี่
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการเสียงแหบควรไปพบแพทย์หากลองทำตามวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาการเสียงแหบเกิดขึ้นนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือพบอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก รู้สึกเจ็บขณะพูดคุยหรือกลืนอาหาร ไอปนเลือด กลืนอาหารลำบาก คลำพบก้อนบริเวณลำคอ หรือไม่มีเสียงขณะพูดออกมา เป็นต้น