ฟันน้ำนม ฟันชุดแรกของเด็กที่ควรดูแลอย่างถูกต้อง

ฟันน้ำนม คือ กระดูกฟันที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้บดเคี้ยวอาหารในช่วงวัยเริ่มแรกของชีวิต เด็กจะมีฟันน้ำนมก่อน แล้วจะหลุดออกเพื่อให้ฟันแท้งอกขึ้นมาแทนที่เมื่อถึงเวลา โดยฟันน้ำนมซี่แรก ๆ จะเริ่มงอกขึ้นตอนเด็กอายุประมาณ 6 เดือนจนครบ 20 ซี่ แล้วจะหลุดร่วงออกไปเพื่อให้ฟันแท้งอกขึ้นมาแทนที่จนครบ 32 ซี่ในภายหลัง

ฟันน้ำนมมีความสำคัญต่อการบดเคี้ยวอาหาร และการออกเสียงพูดให้ชัดเจน โดยทั่วไป ฟันน้ำนมของเด็กจะไม่หลุดออกจนกว่าฟันแท้จะขึ้นมาแทน หากเด็กมีฟันผุหรือเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ฟันหัก จะทำให้สูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนวัยที่ฟันแท้จะขึ้น อาจส่งผลให้เคี้ยวอาหารลำบาก พูดไม่ชัด ถูกเพื่อนล้อ และอาจทำให้เกิดฟันซ้อนเกและฟันคุดตามมา

ฟันน้ำนม ฟันชุดแรกของเด็กที่ควรดูแลอย่างถูกต้อง

กระบวนการงอกและหลุดร่วงของฟันน้ำนมโดยทั่วไป

กระบวนการงอกของฟันน้ำนมเกิดขึ้นตั้งแต่ในครรภ์มารดา โดยฟันจะเริ่มพัฒนาอยู่ใต้เหงือก และค่อย ๆ งอกขึ้นมา โดยฟันน้ำนมคู่แรกจะงอกขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกันในขณะที่เด็กมีอายุประมาณ 6 เดือน และฟันคู่ถัดมาด้านซ้ายและขวาจะงอกขึ้นเรื่อย ๆ จนครบ 20 ซี่ โดยมีฟันบน 10 ซี่ และฟันล่าง 10 ซี่ เมื่ออายุประมาณ 2 ปีครึ่ง ถึง 7 ปี

ฟันแถวบน

การงอกและการหลุดของฟันบนตามอายุของเด็กโดยประมาณ มีดังนี้

  • ฟันตัดหน้าซี่กลาง บน 2 ซี่ (Central Incisor) ฟันงอกช่วงอายุ 8–12 เดือน ฟันหลุดช่วงอายุ 6–7 ปี
  • ฟันตัดหน้าซี่ข้าง บน 2 ซี่ (Lateral Incisor) ฟันงอกช่วงอายุ 9–13 เดือน ฟันหลุดช่วงอายุ 7–8 ปี
  • ฟันเขี้ยว บน 2 ซี่ (Canine หรือ Cuspid) ฟันงอกช่วงอายุ 16–22 เดือน ฟันหลุดช่วงอายุ 10–12 ปี
  • ฟันกรามซี่แรก บน 2 ซี่ (First Molar) ฟันงอกช่วงอายุ 13–19 เดือน ฟันหลุดช่วงอายุ 9–11 ปี
  • ฟันกรามซี่ที่สอง บน 2 ซี่ (Second Molar) ฟันงอกช่วงอายุ 25–33 เดือน ฟันหลุดช่วงอายุ 10–12 ปี

ฟันแถวล่าง

การงอกและการหลุดของฟันบนตามอายุของเด็กโดยประมาณ มีดังนี้

  • ฟันตัดหน้าซี่กลาง ล่าง 2 ซี่ (Central Incisor) ฟันงอกช่วงอายุ 6–10 เดือน ฟันหลุดช่วงอายุ 6–7 ปี
  • ฟันตัดหน้าซี่ข้าง ล่าง 2 ซี่ (Lateral Incisor) ฟันงอกช่วงอายุ 10–16 เดือน ฟันหลุดช่วงอายุ 7–8 ปี
  • ฟันเขี้ยว ล่าง 2 ซี่ (Canine หรือ Cuspid) ฟันงอกช่วงอายุ 17–23 เดือน ฟันหลุดช่วงอายุ 9–12 ปี
  • ฟันกรามซี่แรก ล่าง 2 ซี่ (First Molar) ฟันงอกช่วงอายุ 14–18 เดือน ฟันหลุดช่วงอายุ 9–11 ปี
  • ฟันกรามซี่ที่สอง ล่าง 2 ซี่ (Second Molar) ฟันงอกช่วงอายุ 23–31 เดือน ฟันหลุดช่วงอายุ 10–12 ปี

เด็กผู้หญิงมักจะมีฟันงอกขึ้นมาเร็วกว่าเด็กผู้ชาย และจะเริ่มโยกและหลุดร่วงเพื่อให้ฟันแท้มาแทนที่เรื่อย ๆ จนฟันแท้ครบ 32 ซี่ เมื่ออายุประมาณ 13 ปี

ในกระบวนการเกิดฟันน้ำนม จะพบอาการที่เป็นผลกระทบโดยทั่วไป คือเด็กจะมีน้ำลายไหล และเหงือกบวมแดงก่อนฟันจะแทรกตัวงอกขึ้นมา ซึ่งทำให้เกิดความเจ็บปวด อาจรบกวนการนอนและการรับประทานอาหารของเด็กได้ แต่หากมีอาการรุนแรง อย่างเด็กมีไข้ ท้องร่วง หรือมีอาการชักเกร็ง ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

วิธีรับมือกับฟันน้ำนมที่งอกใหม่

หากเด็กมีอาการที่ไม่รุนแรงซึ่งเกิดจากฟันน้ำนมงอก เช่น น้ำลายไหล พ่อแม่ควรหมั่นเช็ดน้ำลายและคราบที่ไหลออกมาที่ปากและคาง ทำความสะอาดเสื้อผ้าและผ้ากันเปื้อนอยู่เสมอ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มความชุ่มชื้นทาผิวเพื่อป้องกันอาการระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดบริเวณเหงือกและฟันโดยใช้นิ้วสะอาด หรือใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำถูเหงือกของเด็กเบา ๆ และหากเด็กมีอาการเจ็บเหงือกและเหงือกบวม ควรใช้ผ้าชุบน้ำเย็น ช้อน หรือห่วงยางกัดสำหรับเด็กให้เด็กกัดไว้ แต่ต้องอุณหภูมิของสิ่งของนั้นจะต้องไม่เย็นจนเกินไป

หากมีอาการปวดมาก อาจให้เด็กรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟนในปริมาณที่เหมาะสมกับอายุของเด็ก โดยไม่ควรใช้ยาที่มีส่วนผสมของเบนโซเคน (Benzocaine) เพราะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือดสูง (Methemoglobinemia) ซึ่งจะลดปริมาณออกซิเจนในเลือดลงทำให้เกิดอันตรายได้

ส่วนด้านการรับประทานอาหาร หากเด็กเริ่มมีฟันขึ้น พ่อแม่ควรหาอาหารแข็งเพื่อฝึกหัดให้เด็กใช้ฟัน เช่น แตงกวาหรือแครอทที่ปอกแล้ว โดยต้องคอยดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอาหารติดคอเด็ก

ดูแลฟันน้ำนม เพื่อเตรียมพร้อมรับฟันแท้อย่างสุขภาพดี

ฟันน้ำนมมีบทบาทสำคัญในลำดับขั้นพัฒนาการของเด็ก นอกจากจะเป็นตำแหน่งที่จะเกิดฟันแท้มาแทนที่ ยังช่วยในเรื่องลักษณะทางกายภาพให้มีโครงสร้างร่างกายเป็นปกติ มีฟันไว้ช่วยบดเคี้ยวอาหาร หากฟันน้ำนมมีสุขภาพดี ไม่ผุกร่อนหรือติดเชื้อ ก็จะส่งเสริมพัฒนาการฟันแท้ที่จะงอกตามมาให้สมบูรณ์แข็งแรงไปด้วย

เมื่อฟันน้ำนมของเด็กเริ่มคลอนแต่ยังไม่หลุดร่วงออกไป อาจต้องใช้เวลาเพื่อรอให้ฟันหลุด หรืออาจใช้ผ้าก๊อซหุ้มฟันแล้วดึงออกอย่างรวดเร็ว หากวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล หรือมีปัญหาเกี่ยวกับฟันและพัฒนาการของฟัน ควรพาเด็กไปปรึกษาทันตแพทย์

วิธีการดูแลรักษาสุขภาพเหงือกและฟันน้ำนม เพื่อพร้อมรับการงอกของฟันแท้ เช่น

  • ให้เด็กแปรงฟันอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน โดยแปรงฟันให้เด็กหรือสอนให้เด็กเรียนรู้วิธีแปรงฟันอย่างถูกต้อง
  • รักษาความสะอาดของช่องปากอยู่เสมอ บ้วนปาก แปรงฟัน หลังรับประทานอาหาร หรืออาจใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดฟันเพิ่มเติม
  • รับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ ดีต่อสุขภาพ และจำกัดปริมาณอาหารหรือขนมขบเคี้ยวที่ไม่มีประโยชน์
  • พาเด็กไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ

ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันฟันผุชนิดต่าง ๆ ก่อนการใช้งาน