อาการฟกช้ำ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือเคล็ดขัดยอกจากการเล่นกีฬาหรือการทำงานนาน ๆ อาจเป็นปัญหาที่พบเจออยู่เป็นประจำ ซึ่งตัวช่วยอันดับต้น ๆ คงหนีไม่พ้นการทายาแก้ปวด ทว่าก่อนจะใช้ยาสักตัว การเรียนรู้และศึกษาวิธีใช้ยาที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อร่างกายมากที่สุด
ยาทาแก้ปวดจะใช้บรรเทาอาการปวดที่เล็กน้อย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามคอ บ่า ไหล่ หรือหลัง อาการบวม ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก หรือข้ออักเสบ (Arthritis) ทั้งที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยทั่วไป ยาทาแก้ปวดจะมีตัวยา วิธีใช้ยา และข้อควรระวังที่ต่างจากยาแก้ปวดชนิดเม็ดไม่น้อย จึงควรขอคำแนะนำจากเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนการใช้ยา ท้ายที่สุดต้องไม่ลืม อ่านฉลากบรรจุภัณฑ์ยาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาทาแก้ปวด
อาการปวดตามกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น หรือเส้นประสาท เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การทำงานหนัก อายุที่มากขึ้น ปัญหาสุขภาพอย่างออฟฟิศซินโดรม ข้ออักเสบ หรือข้อเสื่อม ซึ่งอาการปวดจากสาเหตุเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ โดยอาจทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่สะดวก รู้สึกวิตกกังวล หรือมีปัญหาในการนอนหลับ ประสิทธิภาพในการทำงานหรือการเล่นกีฬาอาจลดลง และอาจพัฒนาไปสู่อาการเรื้อรังหรือรุนแรงอื่น ๆ หลายคนจึงมักจะเลือกใช้ยาทาแก้ปวดเฉพาะที่ เนื่องจากหาซื้อได้ทั่วไป ใช้ได้ทันทีและสะดวกในการใช้งาน
ทั้งนี้ ยาทาแก้ปวดมีจำหน่ายในรูปแบบเจลใส ครีม สเปรย์ และแผ่นแปะผิวหนัง แต่ละยี่ห้อจะมีส่วนผสมที่หลากหลายและมีคุณสมบัติที่ต่างกันออกไป โดยมีตัวอย่างยาและส่วนผสม ดังนี้
- เมทิลซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) และไดเอ็ทธิลเอมีนซาลิไซเลต (Diethylamine Salicylate) เป็นอนุพันธ์ของยาในกลุ่มซาลิไซเลต (Salicylates) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ บรรเทาปวด ลดอาการบวมแดง โดยเฉพาะกับกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อในบริเวณที่อยู่ใกล้กับผิวหนัง เช่น นิ้วมือ หัวเข่า หรือข้อศอก
- เมนทอล (Menthol) หรือการบูร เป็นหนึ่งในสารต้านการระคายเคือง (Counterirritants) ที่มีคุณสมบัติทำให้รู้สึกเย็นบริเวณผิวหนัง พร้อมกับกลิ่นหอมชวนให้ผ่อนคลาย จึงอาจช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้น โดยความเย็นจากเมนทอลจะช่วยลดการไหลเวียนของเลือด เลือดไหลน้อยลง ลดปวด บวม แดง และฟกช้ำ ซึ่งคล้ายกับหลักการของการประคบเย็น
- สารแคปไซซิน (Capsaicin) ปกติแล้วจะเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สร้างความเผ็ดร้อนในพริก เมื่อนำมาทำเป็นยาทาแก้ปวด จึงให้ความรู้สึกอุ่นร้อนที่ผิวหนัง โดยจะไปยับยั้งการทำงานของตัวรับความรู้สึกปวดบริเวณผิวหนัง ส่งผลให้ความรู้สึกปวดลดน้อยลง แต่อาจต้องใช้ติดต่อกันนานถึง 2 สัปดาห์ กว่าอาการจะดีขึ้น
- สารเอสซิน (Aescin) เป็นสารสกัดจากพืชชนิดหนึ่งที่งานวิจัยบางส่วนกล่าวถึงคุณสมบัติช่วยยับยั้งการสะสมของเหลว ลดอาการบวมภายในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง และลดการอักเสบ
การเลือกซื้อยาทาแก้ปวดและวิธีใช้ยาอย่างปลอดภัย
นอกจากความแตกต่างที่ตัวยาแล้ว ยาทาแก้ปวดยังมีสูตรร้อนและเย็น ผู้ใช้จึงควรเลือกซื้อยาทาแก้ปวดให้เหมาะกับอาการของตัวเอง โดยสูตรเย็นจะเหมาะกับอาการบาดเจ็บเฉียบพลันจากการเกิดอุบัติเหตุ การกระแทก หรือการเล่นกีฬา อาทิ ฟกช้ำ ข้อเท้าแพลง เคล็ดขัดยอก อาการบวม หรือกล้ามเนื้ออักเสบ โดยนำมาใช้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นภายใน 24–72 ชั่วโมงหลังมีอาการ ต่อเนื่องด้วยสูตรร้อนจะใช้หลังได้รับบาดเจ็บไปแล้วประมาณ 48–72 ชั่วโมง อาทิ อาการปวดเรื้อรัง ข้อต่อหรือกล้ามเนื้อตึง เคล็ดขัดยอก หรือปวดเมื่อยตามตัวทั่วไป ซึ่งการใช้ยาตามสเต็ปที่ถูกต้องอาจช่วยให้ผู้ป่วยหายดีได้เร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น เพื่อให้ยาทาแก้ปวดมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ และลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงหรือผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ ผู้ใช้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- อ่านฉลากบรรจุภัณฑ์ก่อนการใช้ยาเสมอ และใช้ยาตามที่ระบุบนฉลากหรือตามคำสั่งของเภสัชกรหรือแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยควรใช้ยาไม่เกิน 4 ครั้งต่อวัน ยกเว้นฉลากยา เภสัชกร หรือแพทย์แนะนำให้ใช้ได้
- เช็ดความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะทายาแก้ปวดให้แห้งทุกครั้ง และล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการทายาลงบนผิวหนัง โดยไม่ควรนำนิ้วที่ทายามาสัมผัสเนื้อเยื้อบริเวณดวงตา ปาก หรือจมูก
- ไม่ควรใช้ทายาบนผิวหนังที่มีแผลเปิดหรือผิวหนังที่ได้รับบาดเจ็บ ถูกแดดเผา อักเสบจากการสัมผัสลมแรง แห้งแตก หรือระคายเคืองอยู่ก่อนแล้ว
- หากตัวยาก่อให้เกิดความรู้สึกร้อน ร่วมกับอาการปวดหรือไม่สบายผิว ควรเช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณดังกล่าวด้วยสบู่และน้ำเย็น
- หลีกเลี่ยงความร้อนอย่างแผ่นประคบร้อนหรือน้ำร้อนขณะทายาแก้ปวด เพราะตัวยาอาจซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วขึ้น
- หากทายาแก้ปวดแล้วผิวหนังเกิดการระคายเคือง ผื่นคัน หรือผิวหนังไวต่อยา ควรหยุดใช้ยาแล้วไปปรึกษาแพทย์
- ผู้ที่แพ้ยาหรือไวต่อยาแอสไพริน (Aspirin) และผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ อาจต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาทาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของยากลุ่มซาลิไซเลต
- การใช้ยาทาแก้ปวดในปริมาณมากหรือใช้ยาผิดวิธีอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ แต่มักพบได้น้อยมาก
- หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยาทาแก้ปวด เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
อย่างไรก็ตาม แม้ยาทาแก้ปวดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นได้ แต่ผู้ป่วยควรเน้นแก้ไขหรือดูแลที่สาเหตุด้วย ยกตัวอย่างเช่น การพักการใช้งานเพื่อลดการบาดเจ็บ อาการบาดเจ็บการทำงานหนักและการเล่นกีฬา รวมถึงการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือการทำงานของตัวเอง อาทิ ขยับและปรับท่านั่งหรืออิริยาบทในการทำงานให้เหมาะสม บริหารกล้ามเนื้อให้ยืดหยุ่นเป็นประจำ อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย หรือการตรวจสุขภาพกล้ามเนื้อและข้อต่อก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
วิธีเหล่านี้ถือเป็นการป้องกันที่จะช่วยให้ห่างไกลจากอาการปวด รวมทั้งอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากยาทาแก้ปวดใช้ไม่ได้ผลหรือส่งผลให้มีอาการแย่ลง ควรหยุดใช้ยาแล้วไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่ตรงจุดต่อไป