ระบบประสาทมีหน้าที่ควบคุมและประสานการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยจะรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมภายนอกรอบตัวแล้วสั่งการให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้นอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยรักษาสมดุลของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย และช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบประสาทมีความสำคัญต่อร่างกายมาก หากระบบประสาทเกิดความเสียหายก็จะส่งผลให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติตามไปด้วย เช่น มีอาการอ่อนแรง เกิดภาวะอัมพาต เกิดภาวะโคม่า และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว การทำความเข้าใจการทำงานของระบบประสาทและวิธีดูแลระบบประสาทให้มีสุขภาพดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ทำความรู้จักระบบประสาท
ระบบประสาทเกิดจากเซลล์ประสาททั้งหมดในร่างกาย โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมภายนอกผ่านทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ จากนั้นจึงวิเคราะห์ข้อมูลแล้วสั่งการให้อวัยวะต่าง ๆ ตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันเส้นประสาทก็จะส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมองด้วย เช่น เมื่อมือไปสัมผัสกับจานร้อน ๆ เราจะปล่อยมือออกจากจานนั้นทันทีโดยอัตโนมัติ
ระบบประสาทแบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามตำแหน่งในร่างกาย คือ
1. ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System: CNS)
ระบบประสาทส่วนกลางประกอบไปด้วยเซลล์ประสาท สมอง และไขสันหลัง ระบบประสาทส่วนกลางจะอ่านสัญญาณจากเส้นประสาทต่าง ๆ และควบคุมกระบวนการคิด การเคลื่อนไหว และความรู้สึก
2. ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System: PNS)
ระบบประสาทส่วนปลายประกอบด้วยเซลล์ประสาทอื่น ๆ ทั่วร่างกายที่ไม่ได้อยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง โดยระบบประสาทส่วนปลายจะถ่ายทอดข้อมูลจากระบบประสาทส่วนกลางไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า แขน ขา ซึ่งระบบประสาทส่วนปลายแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
- ระบบประสาทโซมาติก (Somatic Nervous System : SNS) ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อโครงร่างที่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ
- ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System : ANS) ควบคุมควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ กล้ามเนื้อหัวใจ และระบบของอวัยวะภายในต่างๆ ที่อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ
การทำงานของระบบประสาท
การทำงานของระบบประสาทขึ้นอยู่กับเซลล์ประสาทหลายพันล้านเซลล์ที่มีหน้าที่แตกต่างกันออกไป ภายในร่างกาย เช่น เซลล์ประสาทรับความรู้สึกจะทำหน้าที่รับข้อมูลจากตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนังเพื่อส่งไปยังสมอง หรือเซลล์ประสาทสั่งการมีหน้าที่รับคำสั่งจากสมองและไขสันหลังเพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ
เซลล์ประสาททั้งหมดจะส่งผ่านข้อมูลถึงกันผ่านกระบวนการไฟฟ้าเคมีจนเกิดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ทำให้มีผลต่อความคิด การเรียนรู้ การเคลื่อนไหว และพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนเรา มีรายละเอียดดังนี้
1. ความฉลาดและความจำ
เมื่อแรกเกิดระบบประสาทของเราจะประกอบด้วยเซลล์ประสาทที่ยังไม่เชื่อมโยงกัน แต่เมื่อเจริญเติบโตและมีการเรียนรู้ก็จะเกิดการส่งผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาทมากขึ้น ทำให้เซลล์ประสาทเชื่อมโยงถึงกันและเกิดเป็นกระแสประสาท ดังนั้น การฝึกสมองและการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จะช่วยกระตุ้นสมองให้เกิดการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทมากขึ้นได้
ข้อมูลที่ได้จากการเรียนรู้ การทดลอง และการมองเห็นจะถูกเก็บไว้ที่เปลือกสมองหรือคอร์เทกซ์ (Cortex) ก่อน จากนั้นข้อมูลที่มีความสำคัญจะถูกส่งไปยังสมองส่วนที่มีหน้าที่เก็บความทรงจำอย่างฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) หรืออะมิกดะลา (Amygdala) เพื่อสร้างเป็นความทรงจำระยะยาวต่อไป
ซึ่งการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทมีผลต่อการพัฒนาทางความคิดและความจำ จึงอาจส่งต่อการเรียนรู้และความฉลาด ทั้งนี้ สมองของเด็กจะพัฒนาได้เร็วและเกิดการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับสมองของผู้ใหญ่ด้วย
2. การทำงานพื้นฐานของร่างกาย
ระบบประสาทอัตโนมัติจะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การหายใจ และการย่อยอาหาร โดยแบ่งเป็น 2 ระบบย่อย คือ ระบบประสาทซิมพาเทติกที่ทำหน้าที่เตรียมร่างกายให้พร้อมเผชิญภาวะเครียดหรืออันตราย และระบบประสาทพาราซิมพาเทติกที่ทำหน้าที่ในภาวะผ่อนคลาย
3. การเคลื่อนไหว
สมองใหญ่หรือซีรีบรัม (Cerebrum) เป็นสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยสมองซีกซ้ายจะควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายด้านขวา และสมองซีกขวาจะควบคุมการทำงานของร่างกายด้านซ้าย เช่น สมองซีกซ้ายจะควบคุมและสั่งการให้เท้าด้านขวาเหยียบคันเร่งขณะขับรถ
ส่วนสมองน้อยหรือซีรีเบลลัม (Cerebellum) เป็นสมองส่วนที่ประสานการเคลื่อนไหวของร่างกายให้ราบรื่น ช่วยควบคุมการทรงตัวและการเคลื่อนไหวของร่างกาย
4. ประสาทสัมผัส
การรับรู้ผ่านประสาททั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรส และการรับสัมผัสขึ้นอยู่กับกระบวนการต่าง ๆ ในสมอง ดังนี้
การมองเห็น
การมองเห็นเกิดขึ้นเมื่อแสงตกกระทบสิ่งต่าง ๆ แล้วสะท้อนผ่านเข้ามาในลูกตา จะทำให้เกิดภาพบนจอประสาทตาหรือเรตินา (Retina) แล้วเรตินาจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปของสัญญาณประสาทแล้วส่งไปยังสมอง จากนั้นสมองจะแปลผลข้อมูลเป็นภาพของวัตถุ
การได้ยิน
การได้ยินเกิดจากคลื่นเสียงเคลื่อนที่เข้าสู่ช่องหู ส่งผลให้เยื่อแก้วหูสั่นสะเทือน จากนั้นเสียงสั่นสะเทือนที่ผ่านเข้ามาในหูจะถูกส่งไปยังกระดูกในหูชั้นกลาง เพื่อเปลี่ยนเป็นสัญญาณประสาท ซึ่งเปลือกสมองจะเป็นตัวแปลความหมายของสัญญาณเหล่านี้เป็นเสียง
การได้กลิ่น
เยื่อเมือกบุผิวของโพรงจมูกจะมีเซลล์ประสาทรับกลิ่นที่ทำปฏิกิริยากับกลิ่นต่าง ๆ เมื่อสูดดมเข้าไป จากนั้นเซลล์ประสาทรับกลิ่นจะส่งข้อมูลไปตามเส้นประสาทไปยังสมอง เพื่อแปลสัญญาณกลิ่นที่ได้รับ
การรับรส
ลิ้นประกอบด้วยเซลล์รับรสที่อยู่ในตุ่มรับรสขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับสารเคมีในอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยตุ่มรับรสมีหน้าที่รับรสชาติต่าง ๆ ได้แก่ รสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม และรสขม จากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังเปลือกสมอง เพื่อแปลรสชาติของอาหารนั้น ๆ
การรับสัมผัส
ผิวหนังประกอบไปด้วยตัวรับความรู้สึกมากกว่า 4 ล้านตัว โดยเฉพาะตามนิ้วมือ ลิ้น และริมฝีปาก ซึ่งตัวรับความรู้สึกนี้จะรวบรวมข้อมูลที่เกิดจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ไปยังสมอง เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น เช่น แรงกด หรือความเจ็บปวด
วิธีการดูแลระบบประสาทให้ทำงานเป็นปกติ
ระบบประสาทมีความสำคัญต่อร่างกายมาก จึงควรดูแลรักษาระบบประสาทและระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดปกติ โดยอาจปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณพอดี โดยเฉพาะอาหารไขมันต่ำ อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และโฟเลต ซึ่งอาจมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงระบบประสาท
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำที่เป็นสาเหตุทำให้รู้สึกสับสน มึนงง และอาจส่งผลต่อความจำได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพและโรคต่าง ๆ
- งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช้สารเสพติด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทและสุขภาพโดยรวมในระยะยาว
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจปรึกษาแพทย์เพื่อหารูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเอง
- รักษาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาท เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง
- เข้ารับการตรวจวัดสายตาและการได้ยินหากมีอาการมองเห็นไม่ชัดหรือมีปัญหาในการได้ยินเสียง
- ป้องกันการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อศีรษะ เช่น สวมหมวกนิรภัยเมื่อขับรถจักรยานยนต์ และสวมอุปกรณ์ป้องกันเมื่อทำงานที่ต้องเสี่ยงอันตราย
- หลีกเลี่ยงการทำหลาย ๆ สิ่งในเวลาเดียวกัน แต่ควรจัดลำดับความสำคัญโดยเรียงสิ่งที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับต้น ๆ
- เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาสมาธิและความสามารถในการจดจ่อตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ
- จดบันทึกช่วยจำ โดยเขียนสิ่งที่ต้องทำลงในสมุดบันทึกหรือปฏิทิน
- ฝึกคิดบวกหรือมองโลกในแง่ดี
การดูแลระบบประสาทอย่างเหมาะสมไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อกระบวนการคิดวิเคราะห์ ความทรงจำ หรือการเคลื่อนไหวร่างกายเท่านั้น แต่ยังช่วยให้อวัยวะทุกส่วนในร่างกายสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อร่างกายด้วย