เรื่องน่ารู้ของระบบประสาท กับเคล็ดลับการดูแลรักษา

ระบบประสาท มีหน้าที่ควบคุมและประสานการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยจะรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมภายนอกรอบตัวแล้วสั่งการให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้นอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาสมดุลของระบบต่าง ๆ

1487 ระบบประสาท Resized

แม้ว่าระบบประสาทจะมีการทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่ข้อมูลต่อไปนี้อาจช่วยให้เข้าใจถึงความสำคัญและการทำงานของระบบประสาทมากยิ่งขึ้น

ระบบประสาท คือ อะไร ?

ระบบประสาทเกิดจากเซลล์ประสาททั้งหมดในร่างกาย โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมภายนอกผ่านทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ จากนั้นจะวิเคราะห์ข้อมูลแล้วสั่งการให้อวัยวะต่าง ๆ ตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันเส้นประสาทก็จะส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมองด้วย เช่น เมื่อมือไปสัมผัสกับจานร้อน ๆ เราจะปล่อยมือออกจากจานนั้นทันทีโดยอัตโนมัติ เป็นต้น

ระบบประสาทแบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามตำแหน่งในร่างกาย คือ

  • ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) ประกอบไปด้วยเซลล์ประสาท สมอง และไขสันหลัง
  • ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System) ประกอบด้วยเซลล์ประสาทอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง

ระบบประสาททำงานอย่างไร ?

การทำงานของระบบประสาทขึ้นอยู่กับเซลล์ประสาท ซึ่งมีอยู่หลายพันล้านเซลล์และมีหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น เซลล์ประสาทรับความรู้สึกจะทำหน้าที่รับข้อมูลจากตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนังไปยังสมอง หรือเซลล์ประสาทสั่งการมีหน้าที่รับคำสั่งจากสมองและไขสันหลัง เพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เป็นต้น

โดยเซลล์ประสาททั้งหมดจะส่งผ่านข้อมูลถึงกันผ่านกระบวนการไฟฟ้าเคมีจนเกิดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ทำให้มีผลต่อความคิด การเรียนรู้ การเคลื่อนไหว และพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนเรา ซึ่งมีรายละเอียดแต่ละด้าน ดังนี้

ความฉลาดและความจำ

ระบบประสาทของเด็กแรกเกิดประกอบด้วยเซลล์ประสาทที่ยังไม่เชื่อมโยงกัน แต่เมื่อเด็กเจริญเติบโตและมีการเรียนรู้ จะเกิดการส่งผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาทมากขึ้น ทำให้เซลล์ประสาทเชื่อมโยงถึงกันและเกิดเป็นกระแสประสาท ซึ่งการเชื่อมโยงดังกล่าวนั้นจะมีผลต่อความฉลาดของเด็ก โดยสมองของเด็กจะพัฒนาได้เร็วและเกิดการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทเป็นเครือข่ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับสมองของผู้ใหญ่ นักวิทยาศาตร์จึงเชื่อว่าการฝึกสมองและการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จะช่วยกระตุ้นสมองให้เกิดการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทมากขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการเรียนรู้ การทดลอง และการมองเห็นจะถูกเก็บไว้ที่เปลือกสมองหรือคอร์เทกซ์ (Cortex) ก่อน แล้วข้อมูลที่มีความสำคัญจะถูกส่งไปยังสมองส่วนที่มีหน้าที่เก็บความทรงจำอย่างฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) หรืออะมิกดะลา (Amygdala) เพื่อสร้างเป็นความทรงจำระยะยาวต่อไป

การทำงานพื้นฐานของร่างกาย ระบบประสาทอัตโนมัติจะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การหายใจ และการย่อยอาหาร เป็นต้น โดยแบ่งเป็น 2 ระบบย่อย คือ ระบบประสาทซิมพาเทติกที่ทำหน้าที่เตรียมร่างกายให้พร้อมเผชิญภาวะเครียดหรืออันตราย และระบบประสาทพาราซิมพาเทติกที่ทำหน้าที่ในภาวะผ่อนคลาย

การเคลื่อนไหว สมองใหญ่หรือซีรีบรัม (Cerebrum) เป็นสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยสมองซีกซ้ายจะควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายด้านขวา และสมองซีกขวาจะควบคุมการทำงานของร่างกายด้านซ้าย เช่น สมองซีกซ้ายจะควบคุมและสั่งการให้เท้าด้านขวาเหยียบคันเร่งขณะขับรถ เป็นต้น

ประสาทสัมผัส การรับรู้ผ่านประสาททั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็็นการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรส และการรับสัมผัสขึ้นอยู่กับกระบวนการต่าง ๆ ในสมอง ดังนี้

  • การมองเห็น เกิดขึ้นเมื่อแสงตกกระทบสิ่งต่าง ๆ แล้วสะท้อนผ่านเข้ามาในลูกตา จะทำให้เกิดภาพบนจอประสาทตาหรือเรตินา (Retina) แล้วเรตินาจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปของสัญญาณประสาทแล้วส่งไปยังสมอง จากนั้นสมองจะแปลผลข้อมูลเป็นภาพของวัตถุ
  • การได้ยิน เกิดจากคลื่นเสียงเคลื่อนที่เข้าสู่ช่องหู ส่งผลให้เยื่อแก้วหูสั่นสะเทือน จากนั้นเสียงสั่นสะเทือนที่ผ่านเข้ามาในหูจะถูกส่งไปยังกระดูกในหูชั้นกลาง เพื่อเปลี่ยนเป็นสัญญาณประสาท ซึ่งเปลือกสมองจะเป็นตัวแปลความหมายของสัญญาณเหล่านี้เป็นเสียง
  • การได้กลิ่น เยื่อเมือกบุผิวของโพรงจมูกจะมีเซลล์ประสาทรับกลิ่นที่ทำปฏิกิริยากับกลิ่นต่าง ๆ เมื่อสูดดมเข้าไป จากนั้นเซลล์ประสาทรับกลิ่นจะส่งข้อมูลไปตามเส้นประสาทไปยังสมอง เพื่อแปลสัญญาณกลิ่นที่ได้รับ
  • การรับรส ลิ้นประกอบด้วยเซลล์รับรสที่อยู่ในตุ่มรับรสขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับสารเคมีในอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยตุ่มรับรสมีหน้าที่รับรสชาติต่าง ๆ ได้แก่ รสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม และรสขม จากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังเปลือกสมอง เพื่อแปลรสชาติของอาหารนั้น ๆ
  • การรับสัมผัส ผิวหนังประกอบไปด้วยตัวรับความรู้สึกมากกว่า 4 ล้านตัว โดยเฉพาะตามนิ่้วมือ ลิ้น และริมฝีปาก ซึ่งตัวรับความรู้สึกนี้จะรวบรวมข้อมูลที่เกิดจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ไปยังสมอง เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น เช่น แรงกด หรือความเจ็บปวด เป็นต้น

วิธีดูแลรักษาระบบประสาทให้ทำงานเป็นปกติ

ระบบประสาทมีความสำคัญต่อร่างกายมาก จึงควรดูแลรักษาระบบประสาทและระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดปกติ โดยอาจปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • รักษาโรคต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาท เช่น โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และอาจปรึกษาแพทย์เพื่อให้ช่วยวางแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณพอดี โดยเฉพาะอาหารไขมันต่ำ อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และโฟเลต ซึ่งอาจช่วยบำรุงระบบประสาทให้ทำงานได้ตามปกติ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำที่เป็นสาเหตุทำให้รู้สึกสับสน มึนงง และอาจมีปัญหาเกี่ยวกับความจำได้
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพและโรคต่าง ๆ
  • งดสูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งไม่ใช้สารเสพติดที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายในระยะยาว
  • เข้ารับการตรวจวัดสายตาและการได้ยินหากมองเห็นไม่ชัดหรือมีปัญหาในการได้ยินเสียง
  • ป้องกันการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อศีรษะ
  • ไม่ควรทำหลาย ๆ สิ่งในเวลาเดียวกัน แต่ให้จัดลำดับความสำคัญ โดยเรียงสิ่งที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับต้น ๆ
  • เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาสมาธิและความสามารถในการจดจ่อตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ
  • จดบันทึกช่วยจำ โดยเขียนสิ่งที่ต้องทำลงในสมุดบันทึกหรือปฏิทิน
  • ฝึกคิดบวกหรือมองโลกในแง่ดี