เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการแก้หมันในผู้หญิง ขั้นตอนเพื่อเจ้าตัวน้อยคนใหม่

การแก้หมันหรือต่อหมันเป็นขั้นตอนที่จะช่วยให้คู่รักมีลูกเจ้าตัวน้อยเพิ่มภายหลังการทำหมัน โดยบทความนี้จะพูดการแก้หมันในผู้หญิงเป็นหลักว่ามีรายละเอียดอย่างไร การแก้หมันสามารถทำได้จริงไหม รวมทั้งความเสี่ยงในการแก้หมัน

ก่อนที่จะรู้จักขั้นตอนการแก้หมัน ควรทำความรู้จักกับการทำหมันโดยคร่าว ๆ ก่อน ซึ่งการทำหมันในเพศหญิงนั้น มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการปฏิสนธิระหว่างไข่ของฝ่ายหญิงและอสุจิของฝ่ายชาย วิธีทำหมันในผู้หญิงใช้การผ่าตัดเพื่อตัด ผูก หรือปิดกั้นท่อนำไข่ (Fallopian Tube) ทั้งสองข้าง ทำให้ไข่จากรังไข่ไม่สามารถเดินทางไปยังบริเวณมดลูกได้ 

แม้ว่าการแก้หมันในผู้หญิง (Tubal Ligation Reversal) สามารถทำได้ แต่โอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงลักษณะหรือวิธีในการทำหมันที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการแก้หมันด้วย

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการแก้หมันในผู้หญิง ขั้นตอนเพื่อเจ้าตัวน้อยคนใหม่

แก้หมันต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?

หากเคยผ่านการทำหมันและต้องการแก้หมัน จำเป็นจะต้องผ่านการประเมินจากแพทย์เกี่ยวกับอัตราการสำเร็จของการแก้หมัน โอกาสในการตั้งครรภ์หลังจากการแก้หมัน และความปลอดภัยจากการแก้หมันเพื่อให้แน่ใจว่าการผ่าตัดนี้จะเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้จริง โดยแพทย์อาจประเมินด้วยเกณฑ์ต่อไปนี้

  • อายุของผู้เข้ารับการแก้หมัน อายุที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตราการตั้งครรภ์ลดลงและเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ โดยผู้ที่อายุ 35-40 ปีขึ้นไปอาจมีโอกาสแก้หมันจนมีบุตรสำเร็จน้อยลง
  • รูปแบบการทำหมันก่อนหน้า การทำหมันในเพศหญิงมีทั้งแบบตัดท่อนำไข่เพียงเล็กน้อย ผูกท่อ หนีบหรือรัดท่อด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันไข่ตก การทำหมันในกลุ่มนี้มีโอกาสแก้หมันสำเร็จมากกว่า แต่สำหรับผู้ที่ทำหมันด้วยการใช้ไฟฟ้าจี้เพื่อปิดท่อนำไข่อาจไม่สามารถแก้หมันได้
  • ความสมบูรณ์และความยาวของท่อนำไข่ ต่อเนื่องจากการทำหมันในรูปแบบต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อท่อนำไข่แตกต่างกันไป การทำหมันบางรูปแบบอาจทำให้ความยาวของท่อนำไข่สั้นลงหรือทำให้ท่อเกิดความเสียหายจนส่งผลต่อการแก้หมันได้
  • ระยะเวลาในการทำหมัน ยิ่งผ่านการทำหมันมานาน โอกาสสำเร็จยิ่งลดลง 
  • สุขภาพระบบสืบพันธุ์ แพทย์จะตรวจสุขภาพทางเพศของพ่อและแม่เพื่อดูคุณภาพและโอกาสในการตั้งครรภ์สำเร็จ เพื่อให้แน่ใจว่าภายหลังการแก้หมัน คู่รักสามารถมีลูกได้จริงหรือมีโอกาสตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้น
  • น้ำหนักตัว เพราะน้ำหนักตัวที่มากเกินไปอาจส่งผลอัตราการสำเร็จของการแก้หมัน
  • ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์และการแก้หมัน โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน  

โดยการประเมินเหล่านี้แพทย์อาจประเมินด้วยการสอบถาม การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด และการตรวจพิเศษด้วยภาพสแกนภายในร่างกาย นอกจากเกณฑ์เหล่านี้แล้ว แพทย์อาจตรวจด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อประเมินความพร้อมของผู้ที่ต้องการเข้ารับการแก้หมัน

ขั้นตอนการแก้หมันในผู้หญิงทำอย่างไร?

ขั้นแรกของขั้นตอนแก้หมัน วิสัญญีแพทย์จะวางยาสลบ จากนั้นศัลยแพทย์จะเริ่มผ่าตัดด้วยการผ่าเปิดหน้าท้องเป็นช่องขนาดเล็กเพื่อสอดกล้อง ซึ่งมีลักษณะคล้ายท่อขนาดเล็กที่ติดกล้องเอาไว้ โดยแพทย์จะสอดเข้าไปเพื่อตรวจดูสภาพของท่อนำไข่ว่าสมบูรณ์และสามารถแก้หมันได้หรือไม่ หากท่อนำไข่สมบูรณ์พร้อมสำหรับการแก้หมัน แพทย์จะเริ่มผ่าตัด โดยอาจใช้เวลาราว 2–3 ชั่วโมง

การผ่าตัดแก้หมันในเพศหญิงแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ ดังนี้

1. การแก้หมันด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery)

การแก้หมันด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องเป็นขั้นตอนที่นิยมทำในปัจจุบัน ขั้นตอนนี้แพทย์จะผ่าตัดแก้หมันด้วยการส่องกล้อง โดยแพทย์จะผ่าตัดหน้าท้องให้เป็นช่องขนาดเล็กเพื่อสอดอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายท่อ ปลายท่อจะติดอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น กล้อง อุปกรณ์ผ่าตัด คีมจับ และอุปกรณ์อื่น ๆ 

เมื่อสอดอุปกรณ์เข้าไป แพทย์จะเริ่มแก้หมันตามลักษณะของการทำหมันครั้งที่ผ่านมา เช่น นำอุปกรณ์ที่ปิดท่อนำไข่ อย่างคลิปหนีบหรือห่วงที่รัดไว้ออก หากการทำหมันครั้งก่อนเป็นการตัดท่อ แพทย์จะตรวจสอบส่วนปลายของท่อว่าอยู่ในสภาพที่สามารถเชื่อมต่อได้หรือไม่ หากปลายท่ออยู่ในสภาพที่เหมาะสม แพทย์จะเย็บส่วนปลายทั้งสองด้านที่ถูกตัดออกเข้าหากัน หากส่วนปลายที่ถูกตัดเสียหาย แพทย์อาจตัดเนื้อเยื่อส่วนที่เสียหายออกและเย็บปลายท่อนำไข่เข้าหากัน 

2. ผ่าตัดแก้หมันแบบผ่าเปิดหน้าท้อง (Minilaparotomy or Abdominal Incision)

วิธีนี้เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยแพทย์จะกรีดหน้าท้องเพื่อเปิดช่องขนาดเล็ก เพื่อให้เห็นท่อนำไข่ จากนั้นแพทย์จะแก้หมันในลักษณะเดียวกันกับการผ่าตัดแก้หมันผ่านกล้อง จากนั้นแพทย์จะเย็บปิดแผลผ่าตัด

โดยระหว่างการผ่าตัดทั้งสองแบบ หากแพทย์ประเมินแล้วว่าความยาวของท่อนำไข่ไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้แพทย์อาจต้องหยุดการผ่าตัดแก้หมัน และภายหลังการผ่าตัดเย็บต่อท่อน้ำไข่ แพทย์จะใช้สารทึบรังสีฉีดเข้าไปบริเวณท่อที่เย็บต่อกันเพื่อตรวจความสมบูรณ์ของการเย็บ 

การพักฟื้นและดูแลตนเองหลังผ่าตัดแก้หมัน

ภายหลังการผ่าตัดแก้หมันในเพศหญิง แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยที่ผ่าตัดผ่านกล้องพักเพื่อรอดูอาการราว 3–4 ชั่วโมง หากไม่มีอาการผิดปกติก็อาจกลับบ้านได้ในวันเดียวกันหรือนอนพักฟื้น 1-2 วัน ซึ่งผู้ป่วยควรพาเพื่อนหรือญาติมาพากลับ เพราะฤทธิ์ของยาสลบสามารถส่งผลต่อการทรงตัวและการรับรู้ได้ หากผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพื่อแก้หมัน แพทย์อาจแนะนำให้พักที่โรงพยาบาลราว 2–3 วันเพื่อพักฟื้นและดูอาการ

โดยก่อนที่ผู้ป่วยจะกลับบ้าน แพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลตนเองและการทำความสะอาดแผลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด รวมทั้งแจ้งระยะเวลาในการพักฟื้นของผู้ป่วยแต่ละคน แพทย์อาจนัดผู้ป่วยหลังผ่าตัดมาเพื่อติดตามอาการ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาปวดหลังผ่าตัด หรือยาอื่น ๆ ซึ่งผู้ป่วยควรใช้ตามที่แพทย์แนะนำ

นอกจากนี้ ในช่วงพักฟื้น ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย การมีเพศสัมพันธ์ การยกของหนัก หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้แผลผ่าตัดหายช้า

การแก้หมันได้ผลแค่ไหน?

แม้ว่าคุณจะผ่านเกณฑ์ของการรับการผ่าตัดแก้หมัน แต่ขั้นตอนนี้อาจไม่ได้ให้ผลสำเร็จที่แน่นอน เพราะอย่างที่กล่าวไปว่าความสามารถในการตั้งครรภ์หลังจากการต่อหมันนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งอายุของผู้เข้ารับการแก้หมัน ทั้งสุขภาพโดยรวม และอีกหลายปัจจัย การแก้หมันเป็นเพียงขั้นตอนที่ช่วยให้ไข่ของฝ่ายหญิงสามารถเดินทางจากรังไข่มายังมดลูก ซึ่งเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิเท่านั้น

ความเสี่ยงจากการแก้หมันที่ควรรู้

เช่นเดียวกับการผ่าตัดและขั้นตอนทางการแพทย์แบบอื่น การผ่าตัดเพื่อแก้หมันอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ แต่พบได้น้อยมาก โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบ เช่น ภาวะเลือดออกมากผิดปกติ แผลผ่าตัดติดเชื้อ อวัยวะภายในที่อยู่ใกล้เคียงตำแหน่งผ่าตัดเสียหาย ความเสี่ยงของการท้องนอกมดลูกเพิ่มขึ้น ท่อนำไข่อุดตันเนื่องจากเกิดแผลเป็นบริเวณท่อนำไข่ แพ้ยาสลบ 

ภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงจากการผ่าตัดอาจพบได้ในรูปแบบอื่นได้เช่นกัน ดังนั้นหากพบอาการผิดปกติภายหลังการผ่าตัด เช่น ปวดท้องมากขึ้น ถ่ายเป็นเลือด เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดตามร่างกาย หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์ทันที

หากคุณผู้หญิงไม่เหมาะกับการเข้ารับการผ่าตัดแก้หมัน แพทย์อาจแนะนำวิธีอื่นที่อาจช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF (In-vitro Fertilization) สำหรับคนที่ผ่าตัดแก้หมันสำเร็จ เมื่อผ่านไปสักระยะแล้วพบปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม