การเลือกนมเด็กให้เหมาะกับช่วงวัยของลูก จะทำให้ลูกได้รับสารอาหารสำคัญ อย่างโปรตีน แคลเซียม และวิตามินต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย เด็กที่ไม่ได้ดื่มนมอย่างเพียงพออาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาว เช่น มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง และอาจเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกเปราะก่อนเข้าสู่วัยรุ่น
องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ทารกแรกคลอดดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน และดื่มนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 1–2 ปี สำหรับเด็กวัยก่อนเรียนและวัยเรียนควรดื่มนมปริมาณ 200 มิลลิลิตร จำนวน 2–3 แก้วต่อวัน อ่านข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกนมเด็กให้เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อพัฒนาการการเติบโตที่สมวัยของลูกได้ในบทความนี้
เลือกนมเด็กให้เหมาะสมตามช่วงวัย
เด็กแต่ละช่วงวัยมีความต้องการสารอาหารที่แตกต่างกัน พ่อแม่ควรเลือกนมเด็กให้เหมาะสมกับอายุของลูก ดังนี้
วัยทารก (อายุ 0–1 ปี)
ทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือนควรกินนมแม่อย่างเดียว และควรกินต่อเนื่องไปจนอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม เนื่องจากนมแม่ประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคต่าง ๆ และช่วยให้เด็กเจริญเติบโตได้ตามวัย แต่คุณแม่บางคนอาจมีโรคประจำตัว ต้องรับประทานยาที่อาจไม่ปลอดภัยต่อการให้นม หรือนมแม่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก การให้นมผงอาจเป็นตัวเลือกทดแทนการให้นมแม่ได้
นมผงสำหรับทารกแบ่งเป็นหลายสูตร เช่น นมผงดัดแปลงสูตรสำหรับทารกแรกเกิดถึง 1 ปี และสูตรสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี ซึ่งผลิตจากนมวัวและดัดแปลงสูตรให้เหมาะสมกับทารก รวมถึงนมผงสำหรับทารกที่แพ้นมวัว (Dairy Allergy) อย่างนมผงที่ผลิตจากนมถั่วเหลือง หรือนมผงสูตรโปรตีนที่ผ่านการย่อย (Hydrolyzed Protein Milk Formula) อย่างไรก็ตาม การให้นมผงไม่สามารถทดแทนสารอาหารที่ทารกได้รับจากนมแม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกนมผงให้ลูกแทนนมแม่เสมอ
โดยเฉลี่ยแล้ว ทารกแรกเกิดควรได้รับนมประมาณ 45–90 มิลลิลิตร ทุก 2–3 ชั่วโมง และจะเพิ่มปริมาณขึ้นตามวัย เมื่ออายุ 6 เดือน ควรได้รับนมประมาณ 180–230 มิลลิลิตร ทุก 4–5 ชั่วโมง โดยเริ่มให้เด็กรับประทานอาหารควบคู่กับนม ปริมาณและความถี่ในการให้นมจึงแตกต่างกันตามการรับประทานอาหารของเด็ก
เด็กก่อนวัยเรียน (อายุ 1–5 ปี)
คุณแม่สามารถให้นมลูกต่อเนื่องได้หลังจากอายุครบ 1 ปี เพราะน้ำนมแม่ยังอุดมด้วยสารอาหารไม่ว่าจะให้นมแม่ไปนานเท่าไรก็ตาม แต่หลังจากลูกอายุครบปีแล้ว คุณแม่สามารถให้ลูกดื่มนมวัวควบคู่กันหรือดื่มแทนนมแม่หากคุณแม่ไม่สะดวกหรือลูกไม่ดื่มนมแม่แล้ว
โดยเด็กอายุ 1–2 ปี ควรดื่มนมไขมันเต็มรสจืดที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์เพื่อให้ได้รับสารอาหาร อย่างแคลเซียม ไขมัน และโปรตีนครบถ้วน ส่วนเด็กอายุ 2–5 ปี สามารถดื่มนมไขมันต่ำและนมขาดมันเนย (Skim Milk) แทนการดื่มนมไขมันเต็มได้ ทั้งนี้ เด็กอายุระหว่าง 1–5 ปี ควรดื่มนมวันละ 240 มิลลิตร โดยดื่มเสริมควบคู่กับการรับประทานอาหารมื้อหลักให้ครบ 5 หมู่
พ่อแม่ควรระวังไม่ให้นมลูกมากเกินไปจนลูกอิ่มและไม่ยอมรับประทานอาหาร นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ลูกได้รับแคลเซียมและโปรตีนจากนมมากเกินไป ทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อยลง และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
เด็กวัยเรียน (อายุ 6–12 ปี)
เด็กอายุ 6–12 ปี เป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงต้องการสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอในแต่ละวัน จึงควรดื่มนมให้ได้วันละ 1–2 แก้ว ปริมาณแก้วละ 200 มิลลิตร ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารหลักในปริมาณที่เหมาะสมให้ครบ 3 มื้อ
เทคนิคเลือกนมเด็กให้เหมาะกับลูก
นอกจากการเลือกนมเด็กให้เหมาะสมกับช่วงวัยแล้ว พ่อแม่ควรเลือกคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- นมสำหรับเด็กควรเป็นนมรสจืด เพราะนมที่ปรุงแต่งรสชาติมักผสมน้ำตาลในปริมาณมาก ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุและโรคอ้วน
- เลือกนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และหมั่นตรวจดูวันหมดอายุของนมเด็กเสมอ หากหมดอายุแล้วไม่ควรนำมาดื่มต่อ
- หากลูกมีภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Milk Intolerance) หรือมีอาการแพ้นมวัว ควรปรึกษากุมารแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำนมสำหรับเด็กที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโทส (Lactose Free) หรือรับประทานอาหารอื่นที่มีสารอาหารอย่างแคลเซียม โปรตีน และไขมันอย่างเพียงพอ เพื่อทดแทนการขาดสารอาหารเหล่านี้จากการดื่มนมวัว
- หากลูกมีปัญหาแพ้นมวัว ควรปรึกษาแพทย์ถึงการเลือกนมที่เหมาะสมตามวัย เช่น นมสูตรโปรตีนที่ผ่านการย่อย และนมถั่วเหลือง เป็นต้น
- เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ควรได้รับสารอาหารต่าง ๆ ครบ 5 หมู่ในแต่ละมื้อ เน้นรับประทานผักผลไม้ ธัญพืชขัดสีน้อย โปรตีน และไขมันชนิดดีควบคู่ไปกับการดื่มนม นอกจากนี้ ยังควรให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
การเลือกนมเด็กให้เหมาะสมตามช่วงวัยจะช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์และเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายได้ตามเกณฑ์ หากลูกมีอาการของภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง โดยมักจะพบอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย อาเจียน หรือมีอาการแพ้นมวัว ส่งผลให้เกิดผื่นแดงคันบริเวณรอบดวงตา ใบหน้า และปาก ปวดท้องและท้องเสีย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป