เลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์อันตรายไหม รับมืออย่างไร

เชื่อว่าปัญหาเลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์อาจทำให้คุณแม่หลาย ๆ คน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ รู้สึกเครียดหรือเป็นกังวลว่าจะมีสิ่งผิดปกติใด ๆ ในร่างกายที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่

แม้จะฟังดูน่ากลัว แต่อาการเลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยและมักไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ ต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ รวมถึงยังเป็นอาการที่คุณแม่สามารถรับมือได้ด้วยตัวเองง่าย ๆ ที่บ้าน

เลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์อันตรายไหม รับมืออย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาการเลือดกำเดาไหลก็อาจเป็นปัญหาที่ควรได้รับการดูแลที่เหมาะสมโดยแพทย์ได้เช่นกันแต่พบได้น้อย เพื่อให้คุณแม่ได้ทำความเข้าใจอาการเลือดกำเดาไหลและสังเกตตัวเอง บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการเลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์ ทั้งสาเหตุ วิธีดูแลตัวเอง รวมถึงสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์เอาไว้ 

ทำไมคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ถึงเสี่ยงต่อการเกิดเลือดกำเดาไหลได้บ่อย

โดยปกติแล้ว หลอดเลือดภายในโพรงจมูกจะมีขนาดที่ค่อนข้างเล็กและเปราะบาง ซึ่งในช่วงที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะผลิตเลือดออกมามากขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ ส่งผลให้หลอดเลือดทั่วร่างกายขยายใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการไหลเวียนของเลือด และเมื่อหลอดเลือดบริเวณโพรงจมูกขยายใหญ่ขึ้นมาก ๆ ก็จะเสี่ยงต่อการแตกหรือเกิดความเสียหายได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ อาการเลือดกำเดาไหลในระหว่างการตั้งครรภ์ยังอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น ๆ  เช่น

  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์มักส่งผลให้คุณแม่หลายคนเกิดอาการผิดปกติทางจมูก และเสี่ยงต่อการเกิดเลือดกำเดาไหลได้ง่ายขึ้น
  • ภูมิแพ้หรือไข้หวัด เป็นโรคที่ส่งผลให้หลอดเลือดในโพรงจมูกของคุณแม่เกิดการระคายเคืองและอักเสบ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้หลอดเลือดแตกหรือเกิดความเสียหายได้ง่าย
  • ภาวะเยื่อจมูกอักเสบระหว่างตั้งครรภ์ เป็นภาวะที่ส่งผลให้คุณแม่หลายคนที่อยู่ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์เกิดอาการคัดจมูกและเลือดกำเดาไหล 
  • เยื่อบุภายในโพรงจมูกแห้ง โดยอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ การอยู่ในห้องแอร์นาน ๆ หรือการอยู่ในสถานที่ที่อากาศแห้งมาก
  • โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคที่ส่งผลกระทบต่อการแข็งตัวของเลือด
  • การได้รับสารเคมีบางชนิดที่พบได้ในยาพ่นจมูก
  • การได้รับบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุบริเวณจมูก

รับมืออย่างไรเมื่อเลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ซึ่งพบอาการเลือดกำเดาไหลอาจลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้เพื่อหยุดเลือด

  1. ยืนหรือนั่งตัวตรง หลีกเลี่ยงการเงยหน้าหรือเอนตัวลงนอน
  2. บีบปีกจมูกเบา ๆ ค้างเอาไว้ประมาณ 10–15 นาที โดยในระหว่างนี้ให้หายใจทางปากแทนและบ้วนเลือดทิ้งเสมอ
  3. ในกรณีที่เห็นว่าเลือดกำเดาไหลมาก อาจก้มหน้าลงเล็กน้อยขณะบีบปีกจมูก เพื่อป้องกันเลือดกำเดาไหลลงคอ และสามารถประคบน้ำแข็งบริเวณดั้งจมูกร่วมด้วยเพื่อช่วยให้หลอดเลือดหดตัวลง
  4. เมื่อบีบปีกจมูกครบเวลาที่กำหนดแล้วให้สังเกตอาการอีกครั้ง หากเลือดกำเดายังไม่หยุดไหล ให้ทำตามวิธีข้างต้นใหม่อีกครั้ง แต่หากเลือดกำเดาไม่หยุดไหลภายใน 30 นาที ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม

เมื่อเลือดกำเดาหยุดไหลแล้ว พยายามหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูก การแคะจมูก การเอนหลัง และการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงต่อเนื่องนาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหรือการยกของหนัก อย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันเลือดกำเดาไหลซ้ำ

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะสามารถป้องกันเลือดกำเดาไหลได้หรือไม่

การป้องกันอาการเลือดกำเดาไหลในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจทำได้ยาก แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยการทำตามวิธีดังต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • ใช้เครื่องทำความชื้นพื่อเพิ่มระดับความชื้นในอากาศ
  • หลีกเลี่ยงการแคะจมูกและการสั่งน้ำมูกแรง ๆ
  • เมื่อรู้สึกว่าจะจามควรอ้าปาก โดยใช้กระดาษทิชชู่ปิดปากขณะจามหรือจามใส่ข้อพับแขน
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงต่อเนื่องนาน ๆ
  • เพิ่มความชุ่มชื้นภายในโพรงจมูกโดยการทาปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum Jelly) บาง ๆ ภายในโพรงจมูก หรือใช้สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูก

ทั้งนี้ แม้อาการเลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์จะเป็นอาการที่พบได้บ่อยและมักไม่รุนแรง แต่เพื่อความปลอดภัย คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากป่วยเป็นโรคความดันสูง เลือดกำเดาไหลบ่อย เลือดกำเดาไหลหลังจากที่ได้รับแรงกระแทกที่ศีรษะ กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ หรือพบว่าเลือดกำเดาไหลนานเกิน 30 นาทีแม้จะห้ามเลือดด้วยวิธีข้างต้นแล้ว 

รวมถึงหากอาการเลือดกำเดาไหลเกิดขึ้นร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เวียนศีรษะ มองเห็นภาพเบลอ ปวดศีรษะขั้นรุนแรงอย่างเรื้อรัง มีไข้ หนาวสั่น ปวดท้อง ท้องอืดขั้นรุนแรง อาเจียน อ่อนเพลีย ขาบวมอย่างฉับพลัน สับสน ตัวซีด น้ำหนักลดผิดปกติ ดวงตาหรือผิวหนังเป็นสีเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด