เลือดออกขณะตั้งครรภ์ ถือเป็นเรื่องปกติที่พบบ่อยในช่วงไตรมาสแรก แม้ส่วนใหญ่จะไม่ใช่สัญญาณเตือนที่อันตราย แต่บางครั้งอาการเลือดออกก็อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ ดังนั้น คนท้องอาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์และตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อความปลอดภัยของทั้งตนเองและเจ้าตัวน้อยในครรภ์
โดยทั่วไป สตรีมีครรภ์ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ มักพบเลือดออกเล็กน้อยในช่วงไตรมาสแรกประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีเลือดออกในช่วงไตรมาสที่สองและสามจะถือว่าเป็นเรื่องฉุกเฉินและอาจเป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีเลือดออกในปริมาณมาก จึงควรไปพบสูตินรีแพทย์โดยเร็วที่สุด
สาเหตุของเลือดออกขณะตั้งครรภ์
ปกติแล้วอาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์นั้นจะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละคน และสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ
การตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก
อาการเลือดออกในช่วงแรกของการตั้งครรภ์อาจมีสาเหตุ เช่น
1. เลือดล้างหน้าเด็ก
คนท้องอาจมีเลือดล้างหน้าเด็กออกมาคล้ายเลือดประจำเดือนโดยมีลักษณะเป็นจุดเลือดเล็ก ๆ ในช่วง 6-12 วันแรกของการตั้งครรภ์เนื่องจากไข่ปฏิสนธิเข้าไปฝังตัวในผนังมดลูก ซึ่งปกติเลือดชนิดนี้จะหายไปได้เองภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือประมาณ 2-3 วัน
2. การแท้งบุตร
ภาวะนี้พบได้บ่อยที่สุดในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยมักจะส่งผลให้มีอาการปวดเกร็งหน้าท้องส่วนล่างอย่างรุนแรงหรือมีเนื้อเยื่อถูกขับออกมาทางช่องคลอด ทั้งนี้ คนท้องที่มีเลือดออกในช่วงแรกของการตั้งครรภ์อาจไม่ได้แท้งบุตรเสมอไป
3. ท้องนอกมดลูก
เกิดจากความผิดปกติของการปฏิสนธิของไข่และอสุจิ ทำให้ตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่ภายนอกโพรงมดลูกโดยเฉพาะบริเวณท่อนำไข่ เมื่อเจริญเติบโตก็อาจส่งผลให้ท่อนำไข่แตก ทำให้มีเลือดออก ปวดเกร็งหน้าท้องส่วนล่างอย่างมาก หรือเวียนศีรษะได้ แม้ท้องนอกมดลูกจะเป็นอันตรายต่อร่างกายคุณแม่ แต่เป็นกรณีที่มักพบได้น้อย
4. ครรภ์ไข่ปลาอุก
เมื่ออัลตราซาวด์ครรภ์ของผู้ป่วยภาวะนี้จะพบเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ซึ่งมีลักษณะคล้ายไข่ปลาในมดลูกแทนที่ตัวอ่อนของทารก โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกคลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง รวมถึงมีมดลูกขยายใหญ่มากกว่าปกติด้วย
การตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสสองและสาม
การมีเลือดออกในช่วงหลังของการตั้งครรภ์อาจมีสาเหตุ เช่น
1. รกเกาะต่ำ
เกิดจากรกเคลื่อนตัวลงต่ำจนคลุมบริเวณปากมดลูกบางส่วนหรือคลุมทั้งหมดไป เมื่อปากมดลูกขยายตัวจะส่งผลให้หลอดเลือดที่เชื่อมระหว่างรกและมดลูกฉีกขาดจนมีเลือดออกในที่สุด ทั้งนี้ การมีเลือดออกจากภาวะรกเกาะต่ำอาจไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ แต่คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
2. รกลอกตัวก่อนกำหนด
รกที่ลอกตัวออกจากมดลูกทั้งก่อนหรือในระหว่างการคลอดลูกอาจส่งผลให้คุณแม่มีเลือดออกอย่างรุนแรง เจ็บครรภ์ ท้องแข็งหรือมดลูกบีบตัว และปวดหลัง ลูกน้อยในครรภ์อาจขาดออกซิเจนได้ แต่ปกติภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดเกิดขึ้นน้อยมากเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
3. มดลูกแตก
มดลูกแตกถือเป็นภาวะที่พบได้ยาก มักเกิดในช่วงเจ็บท้องคลอด โดยส่วนใหญ่จะพบในหมู่คนท้องที่เคยผ่าคลอดผ่าตัดบริเวณมดลูกมาก่อน ในช่วงก่อนมดลูกจะแตก คุณแม่อาจปวดท้องอย่างมาก ท้องแข็งเกร็ง มดลูกบีบตัวแรง แต่เมื่อมดลูกแตก ท้องจะหายแข็งเกร็ง มดลูกบีบตัวน้อยลง และจะมีเลือดออกในอวัยวะภายในอย่างรุนแรง ส่วนตัวทารกจะมีหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งภาวะนี้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จึงต้องผ่าท้องทำคลอดทันที
4. สายสะดือพาดผ่านปากมดลูก
ภาวะนี้เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์มาก เพราะหลอดเลือดสายสะดืออาจฉีกขาดจนทำให้เด็กเสียเลือดอย่างรุนแรงและขาดออกซิเจนได้ โดยผู้ที่ตั้งครรภ์จะมีเลือดออกทางช่องคลอดในปริมาณมากแต่มักไม่มีอาการปวดร่วมด้วย ส่วนในทารกจะมีอัตราการเต้นของหัวใจเต้นที่ผิดปกติ
5. คลอดก่อนกำหนด
อาการเลือดออกในช่วงอายุครรภ์มากนั้นอาจบ่งบอกว่าทารกพร้อมออกมาเผชิญโลกภายนอกแล้ว ซึ่งหากคุณแม่คนใดมีมูกหรือเลือดออกบริเวณช่องคลอด มดลูกหดตัว เจ็บท้องต่อเนื่องเป็นระยะด้วยความถี่สม่ำเสมอ มีของเหลวใสไหลออกมาจากช่องคลอด เกิดความดันในช่องท้อง หรือปวดหลังส่วนล่างก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะคลอดก่อนกำหนดนั่นเอง
วิธีรับมือกับการมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์
เลือดออกขณะตั้งครรภ์อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอยู่ในไตรมาสไหนหรือเกิดจากสาเหตุใด คุณแม่จึงควรหมั่นดูแลและสังเกตตนเอง รวมทั้งคอยปรึกษาแพทย์อยู่เป็นประจำ โดยอาจใส่ผ้าอนามัยและจดบันทึกความเปลี่ยนแปลงของอาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์ เพื่อดูปริมาณเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอดว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด รวมทั้งสังเกตดูว่าเลือดดังกล่าวมีลักษณะหรือสีที่เปลี่ยนไปหรือไม่ หากพบเนื้อเยื่อไหลออกมาจากช่องคลอดก็ควรเก็บตัวอย่างไปให้แพทย์วินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป และยังควรหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือมีเพศสัมพันธ์ขณะเลือดออกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วยหากพบสัญญาณของการแท้งบุตรหรือปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เช่น ปวดท้องหรือปวดเกร็งหน้าท้องส่วนล่างอย่างรุนแรง มีเลือดออกอย่างรุนแรงไม่ว่าจะมีอาการปวดร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม มีเนื้อเยื่อถูกขับออกมาทางช่องคลอด เวียนศีรษะ หมดสติ มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือตัวสั่น เป็นต้น