หลายคนอาจเคยได้ยินเสียงในหูกันมาบ้าง ซึ่งเป็นเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นภายในหูและมักมีเสียงหลายรูปแบบ อาจเกิดเพียงแค่ชั่วคราวหรือในบางรายอาจเกิดอย่างถาวรก็ได้ แม้โดยทั่วไปถือเป็นอาการที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็อาจสร้างความรำคาญ รบกวนสมาธิ รวมถึงทำให้เกิดปัญหาในการนอนหลับตอนกลางคืนได้อีกด้วย
เสียงในหูเป็นอย่างไร ?
เสียงในหูที่หลายคนได้ยินนั้นอาจแตกต่างกันไป เช่น ได้ยินเป็นเสียงฮึมฮัม เสียงสะท้อน เสียงดังกริ๊ก เสียงตามจังหวะหัวใจหรือชีพจร หรือเสียงคล้ายเครื่องจักร เป็นต้น ซึ่งอาจแตกต่างกันตามระดับเสียงที่มีทั้งเสียงต่ำไปจนถึงเสียงสูง โดยอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับหูเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง และจะได้ยินเสียงชัดเจนที่สุดเมื่ออยู่ในสถานที่เงียบ ๆ ทั้งนี้ อาการเสียงในหูอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หรือทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น หงุดหงิด อ่อนเพลีย เครียด วิตกกังวล มีปัญหาด้านความจำหรือการนอนหลับ เป็นต้น
เสียงในหูเกิดจากอะไร ?
ปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดเสียงในหู มีดังนี้
- เสียงดัง หากฟังเสียงดังจากแหล่งต่าง ๆ เป็นเวลานาน เช่น การเปิดเพลงและดนตรี งานคอนเสิร์ต เครื่องจักรกล อาวุธปืน เป็นต้น อาจทำให้เกิดความเสียหายภายในหูอย่างชั่วคราวหรือถาวรได้
- อายุ อาการเสียงในหูมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะการทำงานของเส้นประสาทหูอาจเสื่อมลง โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นกับหูทั้งสองข้างของผู้สูงอายุ
- ขี้หูอุดตัน หากมีขี้หูสะสมเป็นปริมาณมากอาจทำให้เกิดการอุดตันขึ้น ซึ่งอาจทำให้แก้วหูระคายเคืองหรือสูญเสียการได้ยินได้ด้วย
- หูติดเชื้อและไซนัสอักเสบ อาจเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเป็นหวัด จึงส่งผลต่อการได้ยิน เนื่องจากเกิดความดันเพิ่มสูงขึ้นบริเวณโพรงไซนัส
- กระดูกหูเกิดการเปลี่ยนแปลง การงอกของกระดูกในหูที่ผิดปกติอาจส่งผลต่อการได้ยินและทำให้เกิดเสียงในหูได้
- โรคและความผิดปกติเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดฝอยผิดปกติ ภาวะหลอดเลือดแข็ง เลือดไหลเป็นแบบกระแสแบบไหลวน การแข็งตัวของหลอดเลือดแดง การเกิดเนื้องอกหลอดเลือด เป็นต้น
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาขับปัสสาวะ ยาควินิน ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาแอสไพริน และยาเคมีบำบัด เป็นต้น โดยอาการเสียงในหูมักจะหายไปเองหลังจากหยุดใช้ยา
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร การบาดเจ็บที่ศีรษะและคอ การเกิดเนื้องอกเส้นประสาทหู ภาวะไฟโบรมัยอัลเจีย เป็นต้น ซึ่งแม้สาเหตุเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดเสียงในหูได้ แต่ก็พบได้ไม่บ่อยนัก
สังเกตอาการเสียงในหู เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์ ?
หากพบว่ามีเสียงในหูเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยอาการนั้นอาจแย่ลง รบกวนสมาธิ หรือส่งผลกระทบต่อการนอน รวมถึงหากเกิดเสียงในหูหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะร่วมกับสูญเสียการได้ยินอย่างกะทันหัน กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าอ่อนแรงหรือเกิดอาการเวียนศีรษะ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ เนื่องจากอาจเกิดปัญหาสุขภาพอันตรายอื่น ๆ ตามมาได้
นอกจากนี้ หากเกิดเสียงในหูหลังจากติดเชื้อในทางเดินหายใจอย่างไข้หวัดแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา แต่หากมีอาการเกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน หรือเกิดเสียงในหูพร้อมกับสูญเสียการได้ยินหรือเวียนหัว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
รับมืออาการเสียงในหูอย่างไรดี ?
ผู้ป่วยที่มีอาการเสียงในหูบางส่วนอาจรักษาให้หายได้ยาก แต่ที่สำคัญ คือ แพทย์ต้องดูแลอาการให้มั่นใจว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรงและผู้ป่วยเข้าใจอาการที่เป็นอยู่ของตน ส่วนการรักษาเมื่อเกิดเสียงในหูนั้น โดยทั่วไปจะต้องรักษาตามอาการและสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานี้ ซึ่งการปรับพฤติกรรมหรือการรักษาเสริมด้วยวิธีบางอย่างอาจมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้ ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการนี้ได้ เช่น เสียงดัง คาเฟอีน นิโคติน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น และควรควบคุมความเครียดด้วย เนื่องจากความเครียดสามารถทำให้อาการแย่ลงได้
- ใช้อุปกรณ์กลบเสียง โดยอาจใช้เสียงเพลงสบาย ๆ เสียงลมพัด เสียงวิทยุเบา ๆ เพื่อช่วยกลบเสียงในหู
- ใส่เครื่องช่วยฟัง สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน เครื่องช่วยฟังจะช่วยให้ผู้ป่วยได้ยินชัดเจนมากยิ่งขึ้นและช่วยลดอาการเสียงในหูด้วย
- ใช้ยารักษา อาจใช้ยารักษาภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อช่วยลดอาการในผู้ป่วยบางราย อย่างยากลุ่มไตรไซคลิก หรือยาคลายกังวล เช่น ยาอะมิทริปไทลีน ยานอร์ทริปไทลีน เป็นต้น