เส้นเสียงอักเสบ หรือสายเสียงอักเสบ เป็นภาวะที่ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการเสียงแหบ หรือบางคนอาจแทบไม่มีเสียงเวลาพูด เจ็บคอ คันคอ และไอแห้ง โดยระยะเวลาการเกิดอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ตั้งแต่ 1–3 สัปดาห์ ไปจนถึงนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุ
เส้นเสียงเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในกล่องเสียง โดยอวัยวะนี้จะมีหน้าที่คอยเปิด ปิด และสั่น เพื่อสร้างเสียงขณะที่พูด ซึ่งสาเหตุที่สามารถส่งผลให้อวัยวะส่วนนี้เกิดการอักเสบได้ก็จะมีอยู่หลายอย่าง เช่น การใช้เสียงมากเกินไป การตะโกนเสียงดัง การสูดดมสารก่อภูมิแพ้ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไปจนถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด อย่างภาวะกรดไหลย้อน และการติดเชื้อไวรัส
สาเหตุของการเกิดเส้นเสียงอักเสบ
ภาวะเส้นเสียงอักเสบเป็นภาวะที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง ซึ่งแต่ละสาเหตุก็จะส่งผลให้ระยะเวลาการเกิดอาการที่ยาวนานแตกต่างกันไป โดยตัวอย่างสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะเส้นเสียงอักเสบ ก็เช่น
1. การใช้เสียงมากเกินไป
การตะโกนเสียงดังมาก ๆ หรือการใช้เสียงมากเกินไป อาจส่งผลให้เส้นเสียงเกิดการฉีกขาดและเกิดการอักเสบตามมาได้
2. การติดเชื้อ
ในบางครั้งภาวะเส้นเสียงอักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อได้ เช่น
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่ทางเดินหายใจ เช่น เชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุของโรคไข้หวัด
- การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เช่นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) อย่างไรก็ตาม สาเหตุในกลุ่มนี้เป็นสาเหตุที่พบได้ค่อนข้างน้อย
นอกจากนี้ ในช่วงที่เป็นไข้หวัด ผู้ป่วยหลายคนยังมักมีอาการเสียงแหบที่ยิ่งต้องให้ผู้ป่วยพูดเสียงที่ดังขึ้นและอาการไอ รวมถึงยังมีพฤติกรรมกระแอมเพื่อให้รู้สึกโล่งคอร่วมด้วย ซึ่งทั้งอาการและพฤติกรรมในลักษณะนี้จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เส้นเสียงเกิดการอักเสบได้ง่ายหรือยิ่งมีความรุนแรงที่มากขึ้น
3. สารก่อการระคายเคือง
การได้รับสารเคมี ฝุ่นควัน หรือสารก่อภูมิแพ้บางชนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้กล่องเสียงหรือเส้นเสียงเกิดการอักเสบตามมาในอนาคตได้
4. กรดไหลย้อน
กรดไหลย้อน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่หูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่มีหน้าที่คอยควบคุมไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปทางหลอดอาหารทำงานผิดปกติไป ส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไป ซึ่งในบางคน กรดที่ไหลย้อนขึ้นมาอาจขึ้นไปยังบริเวณคอและส่งผลให้เกิดภาวะเส้นเสียงอักเสบตามมาได้
5. ไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อไซนัสหรือโพรงอากาศที่อยู่บริเวณใบหน้าเกิดการอักเสบและบวมจากการติดเชื้อ ซึ่งก็อาจเป็นได้ทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือบางคนก็อาจเป็นจากสารก่อภูมิแพ้ โดยหากผู้ที่ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจเสี่ยงเกิดการสะสมของเสมหะที่จับตัวกันหนาและไหลลงคออย่างเรื้อรัง จนในระยะยาวก็อาจส่งผลให้กล่องเสียงเกิดการระคายเคือง รวมถึงเกิดอาการเจ็บคอและเสียงแหบตามมาได้
6. สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ อาจส่งผลให้เส้นเสียงเกิดอาการบวม อักเสบ และจับตัวกันหนาได้
7. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจส่งผลให้กล่องเสียงและเส้นเสียงเกิดอาการบวม อักเสบ และจับตัวกันหนาคล้ายกับการสูบบุหรี่ได้เช่นกัน
8. การได้รับอาการบาดเจ็บ
การได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าอกหรือลำคอ ซึ่งอาจเกิดได้จากทั้งการเกิดอุบัติเหตุและการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคบางชนิด อาจส่งผลให้เกิดภาวะเส้นเสียงเป็นอัมพาต (Vocal Paralysis) และนำไปสู่การเกิดภาวะเส้นเสียงอักเสบตามมาได้
9. มะเร็ง
โรคมะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากการที่เซลล์บางชนิดเริ่มเจริญเติบโตและแบ่งตัวมากผิดปกติ โดยในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดมะเร็งที่บริเวณกล่องเสียง หรือคอหอยส่วนล่าง ผู้ป่วยก็อาจเสี่ยงเกิดภาวะเส้นเสียงอักเสบตามมาได้
นอกจากนี้ เส้นเสียงอักเสบยังอาจเกิดได้จากการที่เส้นเสียงที่เปลี่ยนรูปไปตามอายุ เนื่องจากเมื่ออายุเริ่มเพิ่มขึ้น เส้นเสียงก็อาจเกิดการเปลี่ยนรูปไปได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเส้นเสียงอักเสบตามมา
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเส้นเสียงอักเสบ
ผู้ที่มีอาการเส้นเสียงอักเสบอาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
- พยายามพักการใช้เสียง 1–2 สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการกระซิบ เนื่องจากการกระซิบอาจยิ่งส่งผลให้อาการแย่ลง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ หรือประมาณ 6–8 แก้ว/วัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ แต่ให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
- พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นควันหรือมลพิษมาก ๆ หรือหากเลี่ยงไม่ได้ก็ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย
- อมยาอมแก้เจ็บคอ กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ลำคอ
- ใช้เครื่องฟอกอากาศ เพื่อช่วยกรองสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ
- หากกำลังใช้ยาแก้คัดจมูกอยู่ อาจลองปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการเส้นเสียงอักเสบ เนื่องจากยาชนิดนี้อาจส่งผลให้คอแห้งได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยว เผ็ด และร้อนจัด เนื่องจากอาหารกลุ่มนี้อาจส่งผลให้คอเกิดการระคายเคืองได้
ทั้งนี้ วิธีเหล่านี้เป็นเพียงวิธีดูแลตัวเองจากภาวะเส้นเสียงอักเสบในเบื้องต้นเท่านั้น หากลองทำตามวิธีเหล่านี้แล้วอาการต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ ผู้ที่มีภาวะเส้นเสียงอาจเสบควรไปพบแพทย์ แต่หากเกิดอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ หายใจไม่ออก กลืนลำบาก มีไข้ติดต่อกันนาน ๆ ไอปนเลือด อาการต่าง ๆ เริ่มแย่ลง