เห็ดหลินจือ (Lingzhi หรือ Reishi) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า กาโนเดอร์มา ลูซิดัม (Ganoderma Lucidum) เป็นเห็ดที่มีขนาดใหญ่ มีสีเข้ม มีพื้นผิวมันวาว มีลักษณะคล้ายไม้ และมีรสขม มีประวัติศาสตร์ยาวนานในการใช้เห็ดหลินจือเพื่อรักษาหรือบำรุงสุขภาพในประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีนและญี่ปุ่น เนื่องจากเชื่อว่าสารประกอบภายในเห็ดมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย
ในเห็ดหลินจือมีสารอาหารที่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพมากมาย จำพวกเส้นใยต่าง ๆ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม เซเลเนียม ธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง สารโมเลกุลชีวภาพที่สำคัญ อย่างสเตียรอยด์ (Steroids) เทอร์ปีนอยด์ (Terpenoids) ฟีนอล (Phenols) นิวคลีโอไทด์ (Nucleotides) ไกลโคโปรตีน (Glycoproteins) พอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharides) และสารอนุพันธ์อื่น ๆ โดยเฉพาะกรดอะมิโนไลซีน (Lysine) และลิวซีน (Leucine)
ด้วยเหตุนี้ มีบางคนหรือในบางวัฒนธรรมนำเห็ดหลินจือมาประกอบอาหารและแปรรูปเพื่อการบริโภคอย่างหลากหลาย นักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสนใจและนำเห็ดหลินจือมาทดลองหาประสิทธิผลทางการรักษาและการบำรุงสุขภาพ เพื่อพิสูจน์ว่าเห็ดชนิดนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายของคนเราจริงหรือไม่
เห็ดหลินจือมีประโยชน์ต่อสุขภาพที่อาจเป็นไปได้จริงหรือ ?
แม้มีการค้นคว้าทดลองมากมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและคุณประโยชน์ที่อาจเป็นไปได้ของเห็ดหลินจือ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่แน่ชัดถึงคุณลักษณะและประสิทธิผลในด้านใด ๆ ดังนั้น ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลของเห็ดหลินจือ ปริมาณและวิธีการบริโภคที่เหมาะสม รวมทั้งข้อจำกัดต่าง ๆ และปัจจัยทางสุขภาพของตนให้ดีก่อนการบริโภค
ตัวอย่างงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเห็ดหลินจือที่อาจมีผลต่อสุขภาพ
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
งานค้นคว้าหนึ่งได้ทดลองหาประสิทธิผลและความปลอดภัยของการบริโภคอาหารเสริมเห็ดหลินจือในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จำนวน 32 ราย ผลลัพธ์คือ เห็ดหลินจืออาจมีสรรพคุณในด้านการระงับอาการปวด ปลอดภัยต่อการรับประทานเข้าสู่ร่างกายและไม่มีผลข้างเคียง อย่างไรก็ตาม กลับไม่ปรากฏผลที่มีนัยสำคัญในการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน การต้านการอักเสบ หรือผลการปรับระบบภูมิคุ้มกันแต่อย่างใด
เพิ่มสมรรถภาพร่างกาย
มีการทดลองที่ทดสอบประสิทธิภาพของเห็ดหลินจือในด้านการเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย โดยได้ทดลองในผู้ป่วยโรคปวดกล้ามเนื้อไฟโบรไมอัลเจีย (Fibromyalgia) เพศหญิงจำนวน 64 ราย ตลอดระยะเวลาการทดลอง 6 สัปดาห์ ผู้ป่วยบริโภคเห็ดหลินจือปริมาณ 6 กรัม/วัน จากนั้นจึงทดสอบสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย ผลการทดลองคือ เห็ดหลินจืออาจสัมพันธ์กับความทนทานของร่างกายในขณะออกกำลังกายและความยืดหยุ่นของร่างกายในผู้ป่วยโรคปวดกล้ามเนื้อไฟโบรไมอัลเจีย ซึ่งอาจเป็นผลดีในการค้นคว้าทดลองและวางแผนการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ต่อไป แต่ยังคงขาดหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจน จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าในด้านนี้ เพื่อหาหลักฐานและข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดถึงประสิทธิผลของเห็ดหลินจือต่อไป
ต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน และป้องกันการทำลายเซลล์ตับ
จากการทดลองหาประสิทธิภาพของสารไตรเทอร์พีนอยด์ (Triterpenoids) และโพลีแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ในเห็ดหลินจือในด้านการต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน และการป้องกันการทำลายเซลล์ตับในกลุ่มผู้ทดลองที่มีสุขภาพดี 42 คน ผลลัพธ์ที่ได้แสดงถึงประสิทธิภาพของเห็ดหลินจือในการช่วยต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบของตับ
อย่างไรก็ตาม แม้เห็ดหลินจืออาจช่วยต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันได้ แต่การทดลองดังกล่าวเป็นเพียงการค้นคว้าวิจัยขนาดเล็ก ควรศึกษาค้นคว้าต่อไปเพื่อหาหลักฐานและข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดถึงประสิทธิผลของเห็ดหลินจือ
รักษามะเร็ง
อีกหนึ่งงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิผลของสารโพลีแซ็กคาไรด์ในเห็ดหลินจือในผู้ป่วยมะเร็งปอด จากการวิเคราะห์พบว่า สารดังกล่าวมีส่วนในการยับยั้งการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว
จากการค้นคว้าวิจัยมากมายถึงประสิทธิผลทางการรักษาโรคมะเร็งของเห็ดหลินจือ พบว่าเห็ดหลินจืออาจส่งผลต่อการต้านการอักเสบในผู้ป่วยมะเร็งปอดบางราย แต่ยังคงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือการทดลองทางการแพทย์ที่ให้ข้อมูลเพียงพอที่สนับสนุนให้ใช้เห็ดหลินจือในการรักษามะเร็งอย่างเป็นทางการ
เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบจากการรวบรวมงานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิผลของเห็ดหลินจือเพื่อรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ 373 คน แม้จะพบว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัดได้ดีขึ้นเมื่อรักษาร่วมกับการใช้สารสกัดจากเห็ดหลินจือ แต่เมื่อทดลองใช้เห็ดหลินจือเพียงอย่างเดียวกลับไม่มีประสิทธิผลในการทำให้มะเร็งลดขนาดลงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ จากการทบทวนงานวิจัยพบว่ามีงานวิจัย 4 ชิ้นที่มีผลลัพธ์สนับสนุนว่าเห็ดหลินจืออาจสัมพันธ์ต่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็มีผลลัพธ์จากงานวิจัยหนึ่งที่แสดงถึงผลข้างเคียงของเห็ดหลินจือ เป็นอาการคลื่นไส้และนอนไม่หลับด้วย
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ข้อพิสูจน์ทางคุณสมบัติและคุณประโยชน์ของเห็ดหลินจือยังคงมีจำกัด บางงานวิจัยเป็นการทดลองขนาดเล็ก หลักฐานที่ได้ยังไม่มีคุณภาพเพียงพอ หรือเป็นเพียงการทดลองในผู้ป่วยบางกลุ่มเท่านั้น ประสิทธิผลของเห็ดหลินจือต่อโรคมะเร็ง จึงยังคงเป็นหัวข้อการค้นคว้าที่ควรดำเนินการทดลองต่อไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน และเป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้ในอนาคต
ภาวะต่อมลูกหมากโต และการเจ็บป่วยในระบบทางเดินปัสสาวะ
มีกระบวนการทดลองหนึ่งที่ใช้สารสกัดจากเห็ดหลินจือทดลองในผู้ป่วยเพศชาย 88 รายซึ่งมีอายุเกินกว่า 49 ปีขึ้นไป ที่มีอาการปัสสาวะติดขัด หลังการทดลองกว่า 12 สัปดาห์ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้ป่วยต่างมีระดับคะแนน IPSS ที่ดีขึ้น (The International Prostate Symptom Score) ซึ่งเป็นค่าคะแนนสากลในการวัดปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะของผู้ป่วยจากการตอบคำถาม แต่กลับไม่ปรากฏผลในเชิงการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต การขับถ่ายปัสสาวะ หรือขนาดของต่อมลูกหมากแต่อย่างใด
ดังนั้น การทดลองดังกล่าวจึงยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเพียงพอ จึงควรมีการค้นคว้าทดลองในด้านนี้ต่อไปในอนาคต เพื่อค้นหาหลักฐานที่แน่ชัดในการสรุปเกี่ยวกับประสิทธิผลของเห็ดหลินจือต่อการรักษาภาวะต่อมลูกหมากโตหรือปัญหาสุขภาพใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ
จากการวิเคราะห์ผลการทดลองทางการแพทย์ 5 รายการ ซึ่งมีผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เข้าร่วมทดลองกว่า 398 ราย พบว่า เห็ดหลินจือไม่ได้มีผลทางการรักษาในเชิงการลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดระดับความดันโลหิต หรือระดับไขมันคอเลสเตอรอลลงแต่อย่างใด มีเพียงผลลัพธ์ที่ไม่ชัดเจนและไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพเพียงพอจะสนับสนุนผลทางการรักษาเหล่านั้น และไม่มีข้อมูลที่เพียงพอในการยืนยันด้านความปลอดภัยจากการบริโภคเห็ดหลินจือเช่นเดียวกัน โดยหนึ่งในงานวิจัยเหล่านั้น ได้แสดงถึงผลข้างเคียงจากการบริโภคเห็ดหลินจือในผู้ป่วยบางราย เป็นอาการคลื่นไส้ ท้องร่วง หรือท้องผูก
ดังนั้น จึงควรมีการค้นคว้าทดลองถึงประสิทธิภาพของเห็ดหลินจือในการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจต่อไป รวมทั้งให้ได้ความกระจ่างชัดเจนในด้านดังกล่าวมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อแนวทางในการรักษาป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต
ปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคเห็ดหลินจือ
ในขณะนี้ยังคงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพียงพอที่จะระบุปริมาณการบริโภคเห็ดหลินจืออย่างชัดเจน เนื่องจากประสิทธิผลและผลข้างเคียงจากการบริโภคอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างของผู้บริโภคด้วย เช่น อายุ สุขภาพ รูปแบบของการบริโภค และจุดประสงค์ของการบริโภค ดังนั้น ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดหลินจือ และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการบริโภค เพราะแม้เห็ดหลินจือในแต่ละรูปแบบจะเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ แต่สารเคมีและส่วนประกอบต่าง ๆ อาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน
โดยทั่วไป ปริมาณการบริโภคเห็ดหลินจือ/วัน ได้แก่
- เห็ดหลินจืออบแห้ง ไม่ควรบริโภคเกิน 1.5-9 กรัม/วัน
- ผงสกัดเห็ดหลินจือ ไม่ควรบริโภคเกิน 1-1.5 กรัม/วัน
- สารละลายเห็ดหลินจือ ไม่ควรบริโภคเกิน 1 มิลลิลิตร/วัน
ความปลอดภัยในการบริโภคเห็ดหลินจือ
แม้จะมีการพิสูจน์ถึงคุณประโยชน์ในบางด้านที่อาจเกิดขึ้นได้จากการบริโภคเห็ดหลินจือ แต่ผู้บริโภคก็ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดหลินจือ และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรระมัดระวังในด้านปริมาณและรูปแบบเห็ดหลินจือที่บริโภค เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ในภายหลัง
โดยข้อควรระวังในการบริโภคเห็ดหลินจือ ได้แก่
ผู้บริโภคทั่วไป:
- ควรบริโภคเห็ดหลินจือในปริมาณที่พอดี
- การบริโภคสารสกัดจากเห็ดหลินจือติดต่อกันนานเกินกว่า 1 ปี อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
- การบริโภคเห็ดหลินจือในรูปแบบผงติดต่อกันนานเกินกว่า 1 เดือน อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เนื่องจากอาจเกิดภาวะพิษที่เป็นอันตรายต่อตับ
- การบริโภคเห็ดหลินจืออาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปากแห้ง คอแห้ง คันจมูก เลือดกำเดาไหล ท้องไส้ปั่นป่วน ถ่ายเป็นเลือด
- การดื่มไวน์เห็ดหลินจืออาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการผดผื่นคัน
- การสูดหายใจเอาเซลล์สืบพันธุ์หรือสปอร์ (Spores) ของเห็ดหลินจือเข้าไป อาจทำให้เกิดอาการแพ้
ผู้ที่มีควรระมัดระวังในการบริโภคเป็นพิเศษ:
ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร แม้ยังไม่มีการพิสูจน์ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ในกลุ่มผู้บริโภคนี้ แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเห็ดหลินจือ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของตนและลูกน้อย
ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด การบริโภคเห็ดหลินจือในปริมาณมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีเลือดออกในผู้ป่วยบางรายที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยง ผู้ป่วยควรหยุดบริโภคเห็ดหลินจือ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนวันผ่าตัด
ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ
- ความดันโลหิตต่ำ เห็ดหลินจืออาจส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำลง ดังนั้น ผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตต่ำจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเห็ดหลินจือ
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ การบริโภคเห็ดหลินจือในปริมาณมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีเลือดออกในผู้ที่มีเกล็ดเลือดต่ำ ดังนั้น ผู้ป่วยภาวะเกล็ดเลือดต่ำจึงไม่ควรบริโภคเห็ดหลินจือ
- ภาวะมีเลือดออกผิดปกติ การบริโภคเห็ดหลินจือในปริมาณมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีเลือดออกในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะเลือกออกผิดปกติอยู่แล้ว