เอดส์ กับระยะของการติดเชื้อ

ระยะของการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งรวมถึงระยะเอดส์ เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรทราบ เพื่อการรักษาและการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง เนื่องจากระยะเอดส์นั้นมีความรุนแรงกว่าระยะติดเชื้อเอชไอวีมาก และจะนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด หากผู้ป่วยไม่ได้รักษาหรือดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้อาการของโรคเข้าสู่ระยะเอดส์ในประมาณ 10 ปีหรือเร็วกว่านั้น

เอดส์กับระยะการติดเชื้อ

ระยะของการติดเชื้อเอชไอวี

การติดเชื้อเอชไอวีมีทั้งหมด 3 ระยะ โดยแต่ละระยะมีอาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  • ระยะเฉียบพลัน เป็นระยะที่เกิดขึ้นในช่วง 2-4 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยในระยะนี้จะมีเชื้ออยู่ในเลือดเป็นจำนวนมาก และแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย ในช่วงแรกอาจมีอาการคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกายจากการติดเชื้อ โดยอาจมีอาการดังนี้

    • มีไข้
    • เจ็บคอ
    • ปวดศีรษะ
    • หนาวสั่น
    • อ่อนเพลียมากผิดปกติ
    • ต่อมน้ำเหลืองบวม
    • มีผื่นแดงและนูนที่ผิวหนัง
    • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ระยะอาการสงบ เป็นระยะที่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย แต่มีอัตราการเพิ่มจำนวนของเชื้ออยู่ในปริมาณต่ำ ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาให้เห็น แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้หากไม่ระมัดระวัง ทั้งนี้ ระยะอาการสงบนี้อาจเกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคล เพราะผู้ป่วยในระยะอาการสงบบางรายอาจต้องรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมอาการและลดโอกาสในการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
  • ระยะเอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome: AIDS) หากผู้ป่วยไม่รับประทานยาหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้เชื้อเอชไอวีเพิ่มจำนวนขึ้นและทำลายภูมิคุ้มกัน เป็นเหตุให้อาการของผู้ป่วยเข้าสู่ระยะเอดส์ซึ่งเป็นระยะที่มีความรุนแรงที่สุดในการติดเชื้อเอชไอวี เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉวยโอกาส เช่น แบคทีเรียหรือเชื้อรา โดยอาการในระยะเอดส์ที่มักพบ มีดังต่อไปนี้
  • มีอาการหนาวสั่น และเหงื่อออกในเวลากลางคืน
  • มีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียสติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • มีจุดสีขาวภายในช่องปาก
  • เกิดผื่นสีน้ำตาล แดง ม่วงหรือชมพู
  • อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
  • มีแผลบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก
  • น้ำหนักลดลงผิดปกติ
  • มีอาการไออย่างต่อเนื่องและมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
  • ปอดบวม
  • ปวดศีรษะเรื้อรัง
  • มีปัญหาเรื่องความจำ

ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าสู่ระยะเอดส์ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะหากไม่รักษาจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีิวิต โดยคาดการณ์ว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจะมีชีวิตอยู่ได้หลังจากเข้าสู่ระยะเอดส์ประมาณ 3 ปีเท่านั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ

การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี

การตรวจเลือดเป็นวิธีตรวจหาเชื้อเอชไอวีที่เชื่อถือได้มากที่สุด โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่สงสัยว่าอาจได้รับเชื้อหรือมีความเสี่ยงตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาได้ทันท่วงที เมื่อได้ตัวอย่างเลือดมาแล้ว แพทย์อาจนำไปตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจแอนติบอดี การตรวจหาเอนติเจน p24 การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส (Nucleic Acid Test: NAT) เป็นต้น

แนวทางรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ให้หายขาดได้ แต่มีวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นได้ โดยวิธีหลักในการรักษาคือการใช้ยาต้านรีโทรไวรัส ซึ่งแพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้ยาหลายตัวร่วมกันเพื่อป้องการดื้อยา และจะต้องรับประทานยาอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อยังต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นและช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงมากขึ้น เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลิกสูบบุหรี่ และฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี