การแก้หมันในผู้ชายเป็นขั้นตอนทางการแพทย์ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีลูก บางคนอาจเคยได้ยินคำว่าการทำหมันถาวร จึงทำให้สับสนว่าการแก้หมันทำได้จริงไหม ซึ่งในความเป็นจริงการแก้หมันชายสามารถทำได้ แต่โอกาสสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
แม้ว่าการแก้หมันชายสามารถทำได้ แต่อาจไม่ได้ผลสำหรับผู้ชายที่ทำหมันทุกคน ก่อนการเข้ารับการผ่าตัดแก้หมัน แพทย์จำเป็นต้องประเมินโอกาสสำเร็จ ความเสี่ยง และอีกหลาย ๆ ปัจจัย เพื่อให้ขั้นตอนการแก้หมันมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นหากคุณผู้ชายคนไหนต้องการแก้หมัน บทความนี้อาจให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคุณได้
การแก้หมันชายเป็นอย่างไร
การทำหมันในผู้ชายมีจุดประสงค์เพื่อปิดกั้นเซลล์อสุจิไม่ให้วิ่งจากท่อพักน้ำน้ำเชื้อ (Epididymis) ไปยังต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal Vesicle) ด้วยการผูกหรือตัดท่อนำอสุจิ (Vas Deferens) เมื่อถึงจุดสุดยอดหรือการหลั่งจากการมีเพศสัมพันธ์ จึงไม่ทำให้เกิดการปฏิสนธิ เพราะไม่มีเซลล์อสุจิผสมอยู่ในน้ำเชื้อ
ด้วยเหตุนี้การแก้หมันจึงเป็นวิธีที่จะช่วยเปิดทางให้เซลล์อสุจิสามารถวิ่งผ่านท่อนำอสุจิไปยังต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิได้อีกครั้งเพื่อรอเวลาที่จะเข้าไปปฏิสนธิเมื่อเกิดการหลั่ง
ก่อนการผ่าตัดแก้หมันในผู้ชายต้องผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง
การผ่าตัดแก้หมันเป็นขั้นตอนทางการแพทย์ที่ค่อนข้างมีราคาสูงและมักไม่รวมอยู่ในสิทธิ์การคุ้มครองต่าง ๆ โดยก่อนการเข้ารับการผ่าตัด แพทย์จะต้องประเมินร่างกายของผู้เข้ารับผ่าตัดและปัจจัยอื่น ๆ เพื่อดูโอกาสสำเร็จของการผ่าตัด เช่น
- สุขภาพโดยรวม อายุ โรคประจำตัว ยาและอาหารเสริมที่ใช้
- รูปแบบของการทำหมันครั้งก่อนหน้าและระยะเวลาที่ทำ สำหรับผู้ที่ผ่านการทำหมันมานาน โอกาสสำเร็จของการแก้หมันมักลดลง โดยเฉพาะการแก้หมันภายหลังการทำหมันตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป
- การตรวจคุณภาพและจำนวนของอสุจิเพื่อประเมินว่าคุณภาพและจำนวนอสุจิสามารถทำให้เกิดการตั้งครรภ์ภายหลังการผ่าตัดแก้หมันได้จริง
- การตรวจความพร้อมในการตั้งครรภ์ของฝ่ายหญิงด้วยวิธีต่าง ๆ เพราะแพทย์จำเป็นต้องประเมินว่าระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงมีโอกาสตั้งครรภ์ได้จริงและสามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปและไม่เคยมีลูกมาก่อน ซึ่งโอกาสสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
นอกจากนี้ แพทย์อาจประเมินองค์ประกอบอื่น ๆ เพิ่มเติม สำหรับผู้ที่แพทย์คาดว่าการแก้หมันไม่สามารถช่วยให้มีลูกได้ แพทย์อาจแนะนำวิธีการตั้งครรภ์แบบอื่นเพื่อทดแทนการแก้หมัน อย่างการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF (In-Vitro Fertilization)
ขั้นตอนการแก้หมันในผู้ชายทำอย่างไร
หากแพทย์ประเมินว่าผู้ที่ต้องการแก้หมันมีความพร้อม แพทย์จะพูดคุยเกี่ยวกับความเสี่ยง ค่าใช้จ่าย และการเตรียมตัว โดยการเตรียมก่อนเข้ารับการผ่าตัด แพทย์จะให้หยุดใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Blood-Thinner Medication) และยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ หยุดใช้ยาชั่วคราวเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน นอกจากนี้ อาจมีวิธีเตรียมตัวอื่น ๆ ที่แพทย์อาจแนะนำเพิ่มเติม ซึ่งผู้เข้ารับการผ่าตัดควรทำตาม
ขั้นตอนแรก แพทย์จะวางยาสลบเพื่อให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดหมดสติ จากนั้นแพทย์จะใช้มีดผ่าตัดกรีดผิวหนังบริเวณถุงอัณฑะ โดยแพทย์จะหาตำแหน่งของการทำหมันครั้งก่อนหน้าเพื่อตรวจของเหลวจากท่อส่วนที่ต่อมาจากอัณฑะว่ามีเซลล์อสุจิหรือไม่
โดยผลการตรวจเซลล์อสุจิจะส่งผลต่อรูปแบบการผ่าตัดแก้หมัน ได้แก่
1. การแก้หมันชายแบบ Vasectomy Reversal
หากพบอสุจิในของเหลว แพทย์จะผ่าตัดแก้หมันด้วยวิธีนี้ โดยแพทย์จะเย็บปลายท่อนำอสุจิทั้งสองด้านจากการตัดส่วนที่ผูกออกเข้าหากันเพื่อให้ท่อลำเลียงอสุจิได้ตามปกติเหมือนก่อนการทำหมัน จากนั้นแพทย์จะเย็บปิดแผลผ่าตัดด้วยไหมละลาย
2. การแก้หมันชายแบบ Epididymovasostomy
หากไม่พบเซลล์อสุจิในของเหลว แพทย์จะแก้หมันด้วยวิธี Epididymovasostomy ส่วนสาเหตุที่ไม่พบเซลล์อสุจิในของเหลวอาจเป็นผลมาจากท่อนำอสุจิส่วนที่ถูกผูกเพื่อทำหมันทำให้เกิดแผลเป็นหรือพังผืดอุดตันส่งผลให้อสุจิไม่สามารถวิ่งผ่านได้ โดยแพทย์จะผ่าตัดแก้หมันด้วยการนำท่อนำอสุจิส่วนที่ไม่อุดตันไปเชื่อมต่อกับท่อพักน้ำเชื้อโดยตรง โดยไม่ผ่านท่อส่วนที่อุดตัน อสุจิจึงสามารถวิ่งไปยังต่อสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิได้ตามปกติ
เรื่องที่ควรรู้ภายหลังการผ่าตัดแก้หมันชาย
การผ่าตัดแก้หมันชายอาจใช้เวลาราว 2‒4 ชั่วโมง และสามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียวกัน ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดควรให้ญาติหรือคนใกล้ชิดพากลับบ้าน เนื่องจากฤทธิ์ของยาสลบที่ใช้ระหว่างผ่าตัด ส่งผลต่อการกระบวนการคิด สติ และการทรงตัวจึงอาจทำให้เดินทางไม่สะดวกและเสี่ยงอุบัติเหตุได้
ผู้ที่เข้ารับการแก้หมันอาจพบอาการปวดและบวมที่ไม่รุนแรงบริเวณแผลผ่าตัด แพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ ไหมที่ใช้เย็บแผลผ่าตัดสามารถละลายได้เองภายใน 7‒10 วัน ส่วนระยะเวลาพักฟื้นที่สมบูรณ์และสามารถกลับมาทำกิจกรรมได้ตามปกติอาจใช้เวลาประมาณ 6‒8 สัปดาห์
หลังจากการผ่าตัด ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรดูแลตนเองด้วยวิธีต่อไปนี้
- รักษาแผลให้แห้งอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำและว่ายน้ำ โดยเฉพาะช่วง 2‒3 วันแรก
- งดกิจกรรมทางเพศและงดการหลั่งน้ำอสุจิในช่วงพักฟื้นตามที่แพทย์กำหนด
- งดทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อแผล อย่างการออกกำลังกายและการยกของหนัก
- ดูแลรักษาความสะอาดของแผลและผิวหนังโดยรอบอย่างเหมาะสม
- สวมกางเกงชั้นในที่ระบายอากาศได้ดี กระชับ แต่ไม่คับจนเกินไป
- หยุดงานเพื่อพักฟื้น ผู้ที่ทำงานออฟฟิศหรืองานที่ไม่ได้ใช้การเคลื่อนไหวมากอาจกลับมานั่งทำงานได้ภายในไม่กี่วัน แต่สำหรับผู้ที่ต้องเดิน ยืน หรือใช้แรงในการทำงาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกลับมาทำงาน
นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำการดูแลตนเองหลังผ่าตัดแบบอื่น ๆ ซึ่งผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดควรทำตาม หากมีข้อสงสัย ควรสอบถามแพทย์
รู้ได้อย่างไรว่าการแก้หมันสำเร็จ
ภายหลังการแก้หมันใช้อาจใช้เวลาตั้งแต่หลายสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือนในฟื้นฟูการลำเลียงอสุจิให้กลับมาเป็นปกติ ถึงแม้ว่าอสุจิกลับมาวิ่งและหลั่งออกไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าอัตราการตั้งครรภ์จะสำเร็จ เพราะอัตราการตั้งครรภ์นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อย่างความพร้อมของระบบสืบพันธุ์ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย สุขภาพโดยรวม และอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่ออัตราการสำเร็จ คือ ระยะเวลาของการทำหมัน
ถึงแม้ว่าอสุจิจะสามารถหลั่งออกไปพร้อมกับน้ำเชื้อเมื่อมีเพศสัมพันธ์
จากข้อมูลปัจจุบัน ภายหลังการผ่าตัดแก้หมัน อาจมีโอกาสตั้งครรภ์ระหว่าง 30–75 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ที่แก้หมันภายในระยะ 3 ปีหลังการทำหมันอาจมีโอกาสสำเร็จ 75 เปอร์เซ็นต์ หากแก้หมันในช่วง 3‒8 ปีให้หลังอาจมีโอกาสสำเร็จ 55 เปอร์เซ็นต์ โดยระยะเวลาของการทำหมันและแก้หมันที่ห่างกันส่งผลให้อัตราการตั้งครรภ์สำเร็จน้อยลง อย่างไรก็ตาม อัตราเหล่านี้เป็นเพียงค่าประมาณเท่านั้น หากต้องการแก้หมัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม
ความเสี่ยงจากการแก้หมันชาย
การผ่าตัดแก้หมันมีความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างน้อย แต่ในผู้ที่พบภาวะแทรกซ้อนอาจพบความผิดปกติ อย่างเลือดออกบริเวณถุงอัณฑะ แผลผ่าตัดติดเชื้อ และอาการปวดเรื้อรัง หากพบอาการเหล่านี้ หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ โดยเฉพาะเลือดออกมาก เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดตามร่างกาย แผลบวมแดงผิดปกติ ควรไปพบแพทย์
ผู้ที่เข้ารับการแก้หมันมักอยากมีลูกเพิ่ม ซึ่งบางคนอาจพบกับปัญหามีลูกยาก ปัญหานี้อาจไม่ได้มาจากการผ่าตัด แต่อาจมาจากหลาย ๆ ปัจจัย ดังนั้นหากภายใน 1‒3 ปีหลังการแก้หมัน แล้วยังไม่เกิดการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์
สุดท้ายนี้ แม้ว่าบางคนอาจมีคุณสมบัติไม่ตรงกับเกณฑ์ที่แพทย์ใช้พิจารณาในข้างต้น แต่เพื่อความแน่ใจและไม่เป็นการตัดโอกาส ควรเข้ารับตรวจจากแพทย์เพื่อประเมินอีกครั้ง ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการผ่าตัดแก้หมันได้ แพทย์จะช่วยให้แนะนำวิธีอื่นที่อาจช่วยให้ตั้งครรภ์