แครอทกับประโยชน์ต่อสุขภาพ

แครอท เป็นพืชในตระกูลผักชีที่มีหัวอยู่ใต้ดิน มีสีสันหลากหลายทั้งส้ม แดง เหลือง ขาว และม่วง สามารถรับประทานได้ทั้งส่วนหัวที่อยู่ใต้ดินและใบ แต่ส่วนหัวจะเป็นที่นิยมนำมาใช้รับประทานเป็นอาหารได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบดิบ คั้นน้ำ ผ่านการปรุงสุก หรือใช้ปรุงเป็นขนม รวมถึงอาจใช้เป็นยาก็ได้เช่นกัน

แครอท

แครอทเป็นพืชที่ขึ้นชื่อว่าอุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะเบต้าแคโรทีน พบได้มากในพืช ผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ ปกติแล้วร่างกายของมนุษย์สามารถเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนให้ไปเป็นวิตามินเอได้ และอาจทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) การรับประทานแครอทเชื่อว่าอาจมีส่วนช่วยในการรักษาโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคไฟโบรมัยอัลเจีย รวมถึงการขาดวิตามินเอ วิตามินซี และสังกะสี นอกจากนี้แครอทยังประกอบไปด้วยกากใยอาหารที่เชื่อว่ามีส่วนช่วยปรับปรุงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก และยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่ายอีกด้วย แต่ข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางการแพทย์มีมากน้อยเพียงใดที่จะช่วยยืนยันสรรพคุณ ประโยชน์ และความปลอดภัยของการรับประทานแครอทที่มีบทบาทหรือส่วนช่วยในการรักษาโรคเหล่านี้

การรักษาด้วยแครอทที่อาจได้ผล

โรคขาดวิตามินเอ โดยปกติแล้วเมื่อรับประทานแครอทเข้าไปร่างกายจะสามารถเปลี่ยนเบต้าแคโรทีนให้เป็นวิตามินเอ ซึ่งมีงานวิจัยบางงานเกี่ยวกับการรับประทานแยมแครอท 1 ช้อนทุกวัน ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 สัปดาห์ พบว่าสามารถช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของเด็กที่เป็นโรคขาดวิตามินเอ และยังมีงานวิจัยอื่น ๆ เกี่ยวกับการรับประทานแครอทขูดในปริมาณ 100 กรัมทุกวัน ต่อเนื่องเป็นเวลา 60 วันโดยทำการศึกษาทดลองกับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ พบว่าระดับวิตามินเอเพิ่มสูงขึ้นในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์บางคนที่มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินเอ

การรักษาด้วยแครอทที่เป็นไปได้ แต่ยังมีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอ

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มีการศึกษาทดลองเกี่ยวกับพลาสมาและอาหารที่มีส่วนประกอบของแคโรทีนอยด์และความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก พบว่าระดับพลาสม่าแคโรทีนอยด์สูงอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้น้อย ซึ่งจากการศึกษานี้ได้แนะนำว่าการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนอาจทำหน้าที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายวัยหนุ่มได้ แต่เนื่องจากหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะสรุปถึงคุณสมบัติดังกล่าวของแครอทได้ จึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระและลดการเกิดออกซิเดชันของไขมัน ไขมันและโรคอ้วนเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดและหัวใจ กลุ่มอาการเมตาบอลิก และโรคเบาหวาน ซึ่งมีการศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำแครอทโดยให้กลุ่มตัวอย่างเพศชายจำนวน 8 คนและเพศหญิงจำนวน 9 คนบริโภคน้ำแครอทคั้นสดในปริมาณ 16 ออนซ์ทุกวันเป็นเวลา 3 เดือนและเก็บตัวอย่างเลือดทั้งก่อนและหลังการทดลอง พบว่าการบริโภคน้ำแครอทเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของพลาสม่าอย่างมีนัยสำคัญ แต่เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อยและหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะสรุปถึงคุณสมบัติดังกล่าวของแครอทได้ จึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ท้องเสีย นอกจากแครอทจะอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนแล้ว ยังอุดมไปด้วยกากใยอาหาร ซึ่งอาจมีส่วนช่วยปรับปรุงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก รวมถึงอาการท้องเสีย ซึ่งจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการให้ทารกและเด็กเล็กที่มีอาการท้องเสียอย่างเฉียบพลัน อายุระหว่าง 3-48 เดือนที่มีภาวะขาดน้ำไม่มากถึงระดับปานกลางจากอาการท้องเสีย รับประทานสารละลายเกลือแร่ที่มีส่วนผสมของแครอทและข้าว พบว่ากลุ่มตัวอย่างถ่ายอุจจาระและมีระยะเวลาที่เกิดอาการท้องเสียลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่เนื่องจากหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะสรุปถึงคุณสมบัติดังกล่าวของแครอทได้ จึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย ผู้ป่วยจะมีอาการตึง เมื่อย หรือปวดกล้ามเนื้อแบบเรื้อรัง นอนไม่หลับ ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ลำไส้แปรปรวน ปวดไมเกรน เครียด วิตกกังวล มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ สมาธิลดลง เป็นต้น ซึ่งมีงานวิจัยเกี่ยวกับการรับประทานอาหารมังสวิรัติร่วมกับดื่มน้ำแครอท 2-4 แก้ว เป็นเวลา 7 เดือน พบว่าผู้ป่วยโรคไฟโบรมัยอัลเจียบางคนมีอาการที่ดีขึ้น แต่เนื่องจากหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะสรุปถึงคุณสมบัติดังกล่าวของแครอทได้ จึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

โรคและอาการอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคขาดวิตามินซี โรคขาดสังกะสี ท้องผูก หรือบำรุงสายตา ซึ่งยังจำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของแครอทในการรักษาโรค

คุณค่าทางโภชนาการของแครอทดิบ ต่อ 100 กรัม

น้ำ 88.29 กรัม

พลังงาน 41 กิโลแคลอรี่

โปรตีน 0.93 กรัม

ไขมัน 0.24 กรัม

คาร์โบไฮเดรต 9.58 กรัม

เส้นใย 2.8 กรัม

น้ำตาล 4.74 กรัม

แคลเซียม 33 มิลลิกรัม

เหล็ก 0.30 มิลลิกรัม

แมงกานีส 13 มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม

โพแทสเซียม 320 มิลลิกรัม

โซเดียม 69 มิลลิกรัม

สังกะสี 0.24 มิลลิกรัม

วิตามินซี 5.9 มิลลิกรัม

วิตามินบี 1 0.066 มิลลิกรัม

วิตามินบี 2 0.058 มิลลิกรัม

วิตามินบี 3 0.983 มิลลิกรัม

วิตามินบี 6 0.138 มิลลิกรัม

โฟเลต 19 ไมโครกรัม

วิตามินเอ 16706 หน่วยสากล

วิตามินอี 0.66 มิลลิกรัม

วิตามินเค 13.2 ไมโครกรัม

ความปลอดภัยในการรับประทานแครอท

แครอทสามารถใช้รับประทาน คั้นน้ำ หรือนำไปประกอบอาหารได้โดยค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่หากรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจเป็นสาเหตุทำให้ผิวเหลือง ฟันเสื่อม หรือฟันผุได้ และยังไม่เป็นที่แน่ชัดหากนำไปใช้เป็นยาจะมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด รวมถึงมีข้อควรระวังในการรับประทานแครอทโดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร การรับประทานแครอทเป็นอาหารค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความปลอดภัยที่ชัดเจนหากรับประทานแครอทเพื่อเป็นยา
  • เด็ก อาจรับประทานแครอทได้อย่างปลอดภัยถ้ารับประทานในปริมาณที่เหมาะสม แต่อาจไม่ปลอดภัยหากให้เด็กเล็กหรือทารกรับประทานหรือดื่มน้ำแครอทในปริมาณมาก เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้ผิวเหลือง หรือฟันผุได้
  • ผู้ที่แพ้แครอท อาจทำให้แพ้ได้ในผู้ที่มีอาการแพ้แครอท เซเลอรี หรือพืชในตระกูลที่เกี่ยวข้อง
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง หรืออาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาที่ใช้อยู่ในขณะนั้น หากผู้ป่วยเบาหวานรับประทานแครอทในปริมาณมาก ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด