แตงกวา แท้จริงแล้วจัดเป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งบางคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นผัก โดยส่วนประกอบหลักของแตงกวากว่า 95% เป็นน้ำ ส่วนที่เหลือเป็นเส้นใยธรรมชาติ แร่ธาตุ วิตามิน และสารประกอบต่าง ๆ จึงเชื่อว่าการบริโภคแตงกวาอาจให้คุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพร่างกาย
แตงกวา (ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Cucumis Sativus) เป็นผลของไม้เลื้อยที่มีหลายพันธุ์ต่างกันตามถิ่นกำเนิด ไม่ได้มีแต่เพียงแตงสีเขียว รูปทรงรียาว บางสายพันธุ์ก็สั้น กลม มีเปลือกหนา ผิวขรุขระ สีเหลือง สีส้ม หรือสีขาวแตกต่างกันไป คนนิยมรับประทานแตงกวาทั้งแบบแตงกวาสด หรือนำไปปรุงสุกประกอบอาหารชนิดต่าง ๆ
นอกจากรสชาติและความฉ่ำน้ำน่ารับประทานของแตงกวาแล้ว สารอาหารต่าง ๆ ในแตงกวาอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้ด้วย เช่น
- เส้นใยอาหาร แตงกวาเป็นแหล่งของเส้นใยอาหารที่อาจบำรุงระบบขับถ่าย และอาจช่วยในเรื่องของการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีได้
- สารพฤกษเคมี หรือไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytochemicals) เป็นสารตามธรรมชาติที่พบได้ในอาหารจำพวกพืชผักผลไม้ ซึ่งในแตงกวามีสารชนิดนี้ ได้แก่ ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) คิวเคอร์บิทาซิน (Cucurbitacin) และลิกแนน (Lignan)
- สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) เป็นสารที่เชื่อว่าอาจมีฤทธิ์ช่วยลดหรือกำจัดสารอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้ เช่น เบต้าแคโรทีน แมงกานีส
- วิตามิน ในแตงกวาอุดมไปด้วยวิตามินต่าง ๆ ที่ให้พลังงานและเป็นประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย อย่างวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี
- แร่ธาตุ แตงกวามีแร่ธาตุหลายชนิดที่อาจเป็นผลดีต่อสุขภาพผิวและระบบหมุนเวียนโลหิตได้ เช่น ซิลิกอน โพแทสเซียม และแมกนีเซียม เป็นต้น
แม้จะมีความเชื่อและสมมติฐานมากมายเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของแตงกวา แต่ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ในด้านประสิทธิผลต่อสุขภาพ การรักษา หรือกระทั่งการป้องกันโรคยังคงมีจำกัด และไม่สามารถยืนยันถึงประสิทธิภาพในด้านใดด้านหนึ่งได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้บริโภคควรระมัดระวังและศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการบริโภคหรือการใช้สารสกัดใด ๆ จากแตงกวา
ตัวอย่างการค้นคว้าประสิทธิผลของแตงกวาในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
การป้องกันมะเร็ง
มะเร็งเป็นโรคร้ายที่เซลล์เกิดการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ และอาจลุกลามสร้างความเสียหายแก่เนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ในแตงกวามีสารพฤกษเคมีอย่างฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) คิวเคอร์บิทาซิน (Cucurbitacin) และลิกแนน (Lignan) ซึ่งเชื่อกันว่าสารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านสารอนุมูลอิสระที่อาจก่อมะเร็งได้ จึงคาดว่าแตงกวาอาจมีประสิทธิภาพต่อการป้องกันมะเร็งได้
แม้จะมีการศึกษาค้นคว้าภายในห้องปฏิบัติการ และพบว่าแตงกวาอาจมีประสิทธิผลต่อการป้องกันมะเร็งจากการทดลองกับสัตว์ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังคงไม่่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิภาพในด้านดังกล่าวต่อการบำบัดรักษาหรือป้องกันโรคมะเร็งในคน จึงไม่อาจสรุปคุณประโยชน์ของแตงกวาในด้านนี้ได้ ควรมีการค้นคว้าทดลองเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัดและเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต
คุณสมบัติต้านสารอนุมูลอิสระ
สารอนุมูลอิสระ (Free Radicals) เป็นสารที่อาจรบกวนการทำงานของเซลล์ปกติในร่างกาย และอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) และโรคมะเร็งได้
ในแตงกวามีสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจมีฤทธิ์ช่วยลดหรือกำจัดสารอนุมูลอิสระซึ่งเป็นอันตรายต่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย จึงมีการทดลองที่ค้นคว้าประสิทธิผลในด้านนี้ โดยให้ผู้ทดลองรับประทานสารสกัดจากแตงกวา 30 วัน ก่อนเจาะเลือดเพื่อตรวจคุณสมบัติของแตงกวาในการต้านอนุมูลอิสระ โดยในตัวอย่างเลือดที่เก็บจากผู้ทดลองอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งมีสุขภาพดี แม้จะค้นพบประสิทธิภาพในการต้านสารอนุมูลอิสระของแตงกวา แต่งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองโดยดูคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระในห้องปฏิบัติการจากกลุ่มตัวอย่างบางกลุ่มอายุเท่านั้น ผลลัพธ์ที่ได้จึงอาจเป็นเพียงประสิทธิผลบางส่วนจากสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ทั่วไปในอาหารจำพวกพืชผัก และควรมีการค้นคว้าทดลองในด้านนี้ต่อไป จนกว่าจะมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้อย่างแน่ชัด
การช่วยกระตุ้นให้เด็กรับประทานผักเพิ่มขึ้น
อาหารจำพวกพืชผักมักอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และเส้นใยอาหาร ซึ่งสำคัญต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายและช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเด็กเล็กที่ร่างกายกำลังอยู่ในวัยเจริญเติบโต พ่อแม่ย่อมอยากให้ลูกมีพัฒนาการทางร่างกายที่ดีและมีสุขภาพดี แต่เด็กในวัยนี้อาจไม่ชื่นชอบการรับประทานผักมากเท่าที่ควร เนื่องจากพืชผักส่วนใหญ่ไม่ได้มีรสชาติหวานอร่อยน่ารับประทานเหมือนขนมหวาน พ่อแม่จึงอาจต้องใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ ในการกระตุ้นให้ลูกรับประทานผักมากขึ้นโดยเฉพาะแตงกวา มักเป็นตัวเลือกที่พ่อแม่นิยมใช้เป็นตัวช่วยอันดับต้น ๆ
แตงกวาเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ถูกนำไปทดลองในเด็กเล็กวัย 3-5 ปี จำนวน 61 คน ด้วยการให้เด็กรับประทานพืชผักผลไม้ที่หลากหลายเป็นของว่าง ร่วมกับผักผลไม้ชนิดอื่น ๆ อย่างพริกหวาน มะเขือเทศ แอปเปิ้ล ลูกพีช และสับปะรด ผลการทดลองพบว่า การนำเสนอพืชผักผลไม้อย่างหลากหลายเป็นมื้ออาหารว่างช่วยกระตุ้นให้เด็กก่อนวัยเรียนบริโภคผักผลไม้เพิ่มมากขึ้น และวิธีการนี้อาจเป็นทางเลือกหนึ่งให้พ่อแม่ผู้ปกครองนำไปประยุกต์ใช้กับบุตรหลานได้
อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้เป็นเพียงงานค้นคว้าขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นจูงใจให้เด็กเล็กบริโภคผักผลไม้เพิ่มมากขึ้น โดยทดลองร่วมกับผักผลไม้อื่น ๆ ด้วย จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับประสิทธิผลหรือคุณประโยชน์ของแตงกวาโดยตรง ดังนั้น จึงควรมีการค้นคว้าถึงประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ของแตงกวาให้ครอบคลุมชัดเจนยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป
ความปลอดภัย และปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคแตงกวา
- เนื่องจากแตงกวามีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งอาจมีสารประกอบที่แตกต่างกันออกไป ในขณะนี้ จึงยังไม่มีข้อมูลชัดเจนด้านความปลอดภัยและปริมาณที่แนะนำให้รับประทาน/วัน ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรรับประทานแตงกวาในปริมาณที่พอดีตามมื้ออาหาร และไม่บริโภคแตงกวาเพื่อจุดประสงค์ทางการรักษาโรคหรืออาการป่วยใด ๆ จนกว่าจะมีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดในทางการแพทย์
- ก่อนรับประทานแตงกวา ควรล้างทำความสะอาดและอาจปอกเปลือกออกก่อน เพื่อขจัดสารพิษตกค้างหรือสิ่งปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- หากรับประทานแตงกวาฝานเป็นแผ่นประมาณครึ่งถ้วย จะให้พลังงานประมาณ 8 แคลอรี่ ซึ่งอาจได้รับวิตามินเค มากกว่า 10% ของปริมาณที่แนะนำ/วัน
- แม้สารประกอบบางชนิดในแตงกวาที่นำไปใช้เพื่อบำรุงความงาม เช่น การบำรุงผิวพรรณ จะเคยถูกนำไปทดสอบว่ามีความปลอดภัยและไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ แต่ผู้บริโภคควรพิจารณาปัจจัยทางสุขภาพของตน และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนเสมอ หากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของแตงกวา นอกเหนือจากการรับประทานในรูปแบบอาหาร