แต๊บเป็นวิธีที่ใช้จัดแต่งบริเวณองคชาตและอัณฑะให้ดูเรียบเนียน ไร้รอยนูน โดยซ่อนไว้บริเวณช่องขาหนีบและพาดระหว่างขา ส่วนมากจะนิยมใช้ในกลุ่มหญิงข้ามเพศ (Transgender Women) และคนที่มีองคชาตที่ชื่นชอบการแต่งคอสเพลย์หรือแดร็กควีน
การแต๊บสามารถช่วยเพิ่มความมั่นใจในการแต่งตัว ทำให้ไม่ต้องกังวลกับร่างกายของตัวเองและสายตาของคนอื่นเวลาอยู่ในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม การแต๊บด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสมหรือลองทำโดยไม่ศึกษาก่อน อาจก่อนให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บริเวณจุดซ่อนเร้น เช่น อาการคัน ปัญหาผิวหนัง หรือความเสี่ยงอื่น ๆ ตามมาได้
วิธีการแต๊บทำอย่างไร
การแต๊บมีทั้งแบบใช้เทปและไม่ใช้เทป โดยวิธีการแต็บแบบใช้เทปทำได้ดังนี้
- ขั้นแรกค่อย ๆ ดันลูกอัณฑะไปยังช่องขาหนีบทีละข้าง ซึ่งขั้นตอนนี้ควรทำในท่านอนหงายเพราะจะช่วยให้ลูกอัณฑะไม่เคลื่อนไปมา
- จากนั้นพันเทปรอบ ๆ ถุงอัณฑะและองคชาตให้ชิดติดกัน
- แล้วดันทั้งหมดที่พันเทปไว้ลงไปยังระหว่างขาและก้นแล้วใช้เทปติดไว้ไม่ให้เด้งกลับมา
ส่วนวิธีที่ไม่ใช้เทปก็ให้ทำแบบเดียวกัน เพียงแค่ให้สวมด้วยกางเกงชั้นในที่กระชับแน่นตัวแทนการใช้เทปพัน
สำหรับการปลดเทปออกควรทำด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้รู้สึกเจ็บบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับเทป โดยค่อย ๆ ลอกเทปออกจากถุงอัณฑะแล้วประคององคชาตกลับมาไว้ที่ตำแหน่งเดิม หากเทปติดแน่นเกินไป อาจใช้ผ้าเปียกหรือน้ำอุ่นช่วยทำให้เทปเปียกชุ่ม เพื่อให้ลอกออกได้ง่ายขึ้น ส่วนกรณีที่ไม่ได้ใช้เทปนั้นไม่ได้มีข้อควรระวังอะไรเป็นพิเศษ ให้ใช้มือประคองอัณฑะและองคชาตกลับมายังตำแหน่งเดิมอย่างเบามือ
ข้อควรระวังของการแต๊บ
การแต๊บทั้งสองวิธีต่างกันตรงที่ แบบไม่ใช้เทปจะให้ความรู้สึกสบายตัวและทำได้ง่ายกว่า ในขณะที่แบบใช้เทปจะติดแน่นและดูเรียบเนียนกว่า แต่ข้อเสียก็คือต้องปลดเทปทุกครั้งระหว่างเข้าห้องน้ำจึงเสี่ยงต่อการระคายเคืองมากกว่า หากรู้สึกปวดหรือจุกระหว่างที่กำลังแต๊บหรือปลดอุปกรณ์ที่ใช้แต๊บ ไม่ควรฝืนทำต่อ ให้พักจนรู้สึกดีขึ้นก่อนค่อยลองทำใหม่อีกครั้ง
เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองบริเวณจุดซ่อนเร้น ควรใช้เทปกาวหรือวัสดุที่ใช้กับผิวหนังได้โดยเฉพาะ หรือเลือกใช้เทปกาวทางการแพทย์ (Medical Tape) ที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้น้อยกว่า และระวังไม่ให้ขนบริเวณอวัยวะเพศติดกับเทป บางคนอาจเลือกกำจัดขนออกก่อนก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ การแต๊บไม่แน่นพอหรือใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้อัณฑะและองคชาตหลุดออกจากตำแหน่งที่ติดไว้เหมือนกัน โดยเฉพาะกรณีที่เคลื่อนไหวร่างกายเยอะ ๆ เช่น กางเกงชั้นในหลวมไปหรือเทปกาวหลุดง่าย หรือองคชาตแข็งตัวแล้วดันกลับมา
การแต๊บอันตรายไหม
การแต๊บเป็นครั้งคราวอย่างถูกวิธีมักไม่ได้ทำให้รู้สึกแสบหรือเจ็บปวดแต่อย่างใด เพียงแค่อาจทำให้รู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายตัว แต่หากแต๊บไว้นาน ๆ หรือทำบ่อยจนเกินไปอาจทำให้รู้สึกเจ็บ มีผื่นคัน เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ อัณฑะอักเสบ และผิวหนังบริเวณนั้นติดเชื้อได้
นอกจากนี้ การแต๊บอาจทำให้เกิดความรู้สึกชาตรงบริเวณอวัยวะที่ถูกรัดได้หากพันเทปแน่นเกินไปจนเลือดไหลเวียนไม่สะดวก และยังมีงานวิจัยบางส่วนชี้ว่าการแต๊บเป็นประจำอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตอสุจิลดลงได้ เนื่องจากการแต๊บเอาไว้ระหว่างขาหนีบทำให้อุณหภูมิภายในอัณฑะสูงขึ้น ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการสร้างอสุจิ
อย่างไรก็ตาม การศึกษาผลกระทบของการแต๊บปัจจุบันยังมีไม่มากนัก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพจากการแต๊บอาจเลือกทำเฉพาะตอนที่จำเป็น และหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเอง ทั้งก่อนและหลังการแต๊บ หากมีความจำเป็นต้องแต๊บเป็นประจำและกังวลกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น สามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีการป้องกันที่เหมาะสมกับตนเอง