แท้งคุกคาม (Threatened Abortion) เป็นภาวะผิดปกติที่หญิงตั้งครรภ์มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ บางคนอาจมีอาการปวดท้องและปวดหลังร่วมด้วย แท้งคุกคามถือเป็นสัญญาณเตือนที่อาจนำไปสู่การแท้งลูกได้
แท้งคุกคามมักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความผิดปกติของทารก และโรคประจำตัวของคุณแม่ แม้ว่าอาการเลือดออกจากช่องคลอดอาจพบได้ในผู้ที่ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก แต่คุณแม่ควรสังเกตอาการของตัวเอง หากมีเลือดออกจากช่องคลอด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาต่อไป
สังเกตอาการแท้งคุกคาม
อาการที่บ่งบอกภาวะแท้งคุกคามคือการมีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะที่ปากมดลูกยังไม่เปิด มักเกิดขึ้นในช่วง 20 สัปดาห์แรกที่คุณแม่ตั้งครรภ์ โดยอาจเป็นเลือดหรือมูกเลือดปริมาณเล็กน้อยหรือปานกลาง ซึ่งระยะเวลาที่มีเลือดออกทางช่องคลอดอาจแตกต่างกัน เช่น หลายวันไปจนถึงหลายสัปดาห์ต่อเนื่องกัน
คุณแม่บางคนอาจมีอาการปวดหน่วงที่ท้องคล้ายปวดประจำเดือน ปวดตื้อ ๆ หรือปวดแปลบบริเวณท้องน้อยและหลัง รวมทั้งอาจมีเยื่อเมือกไหลจากช่องคลอดด้วย หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจและรักษา
นอกจากนี้ คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีเลือดไหลจากช่องคลอดมากผิดปกติจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย 1 แผ่นทุกชั่วโมง มีเยื่อเมือกหรือลิ่มเลือดขนาดใหญ่ออกจากช่องคลอด มีอาการปวดท้องหรือปวดหลังอย่างรุนแรง และรู้สึกอ่อนเพลียหรือเป็นลม
ปัจจัยเสี่ยงของการแท้งคุกคาม
แม้จะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะแท้งคุกคาม แต่ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เลือดออกทางช่องคลอดอาจได้แก่
- ความผิดปกติของโครโมโซมของทารกในครรภ์
- ความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ เช่น ท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy)
- มีติ่งเนื้อ เนื้องอกที่มดลูก หรือถุงน้ำในมดลูก
- การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียขณะตั้งครรภ์
- ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงบริเวณท้อง
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด ยาบางชนิด และการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินวันละ 200 มิลลิกรัม
- คุณแม่ตั้งครรภ์เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป
- โรคประจำตัวของคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน และไทรอยด์ที่ไม่ได้รักษาอย่างต่อเนื่อง
การตรวจและรักษาภาวะแท้งคุกคาม
โดยทั่วไป แพทย์จะสอบถามอาการ ตรวจร่างกาย และตรวจภายใน เช่น ตรวจดูว่าปากมดลูกเปิดหรือไม่ ตรวจขนาดของมดลูก และตรวจหาความผิดปกติอื่นที่อาจเป็นสาเหตุของเลือดออกจากช่องคลอด จากนั้น แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น เช่น การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาระดับฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin)
นอกจากนี้ แพทย์อาจให้คุณแม่ตั้งครรภ์ตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอด ซึ่งมีความแม่นยำกว่าการอัลตราซาวด์หน้าท้อง โดยเฉพาะกับคนที่ตั้งครรภ์ในระยะแรก การอัลตราซาวด์ช่องคลอดจะใช้ตรวจการเต้นของหัวใจทารก ตำแหน่งการตั้งครรภ์ เช่น ตั้งครรภ์ปกติหรือนอกมดลูก ความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ และช่วยให้ทราบปริมาณเลือดที่ไหลออกมาทางช่องคลอด
การรักษาภาวะแท้งคุกคามจะรักษาตามอาการเป็นหลักเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออกมากขึ้น ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่นอนพักผ่อนมาก ๆ งดออกแรง หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกระแทกที่หน้าท้อง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ และงดการใส่ผ้าอนามัยแบบสอดจนกว่าอาการจะดีขึ้น แต่ในบางกรณีอาจต้องใช้ยาหรือรับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น
- การฉีดยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เสริม เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนของร่างกายของคุณแม่
- การฉีดยาโปรตีนภูมิคุ้มกันอาร์เอช (Rh Immunoglobulin) หากคุณแม่มีหมู่เลือดหมู่เลือดอาร์เอชลบ (Rh-Negative) และตั้งครรภ์ทารกที่มีหมู่เลือดอาร์เอชบวก (Rh-Positive) เพื่อป้องกันการทำลายเม็ดเลือดของทารกในครรภ์
- การรักษาโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และไทรอยด์ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน
หากได้รับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม คนที่มีภาวะแท้งคุกคามมีโอกาสที่การตั้งครรภ์ต่อไปและคลอดลูกได้อย่างปลอดภัยโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ดังนั้น หากมีเลือดออกจากช่องคลอด หรือมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจและรับคำแนะนำในการดูแลตัวเองต่อไป
แท้งคุกคามเป็นภาวะที่ป้องกันได้ยาก แต่การปรับพฤติกรรมบางอย่างอาจช่วยดูแลสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรง เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานวิตามินบำรุงครรภ์ตามที่แพทย์สั่ง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ไม่ใช้สารเสพติด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เป็นต้น