แป้งเด็ก ผลิตภัณฑ์ที่คุณพ่อคุณแม่นิยมใช้ทาป้องกันผดผื่นตามร่างกายของลูกน้อย โดยเฉพาะบริเวณจุดซ่อนเร้นก่อนใส่ผ้าอ้อม มักเข้าใจกันว่าการใช้แป้งเด็กไม่ก่อให้เกิดอันตราย ทว่าจริง ๆ แล้วหากสูดดมหรือกลืนเข้าไปอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทั้งยังอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ได้ด้วย
แป้งเด็กทำมาจากอะไร
แป้งเด็กและแป้งฝุ่นตามท้องตลาดส่วนใหญ่มักมีส่วนประกอบหลักเป็นผงทัลคัม (Talcum) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดซับความชื้น ลดการเสียดสีของผิวหนัง และป้องกันผดผื่น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายอาจแต่งกลิ่น สี หรือผสมสารอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น สารป้องกันความชื้น สารที่ทำให้ผิวเย็น เป็นต้น
ผงทัลคัมทำมาจากแร่หินทัลค์ (Talc) ซึ่งประกอบด้วยธาตุแมกนีเซียม ออกซิเจน ซิลิกอน และบางส่วนอาจมีเส้นใยแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติอย่างแร่หิน ซึ่งถือเป็นสารก่อมะเร็งปะปนอยู่ อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นที่มีผงทัลคัมเป็นส่วนประกอบจำนวน 73 ตัวอย่าง ในปี พ.ศ. 2558 ของกรมวิทยาศาสตร์ทางแพทย์ พบว่าทุกตัวอย่างไม่มีแร่ใยหินปนเปื้อน
แป้งเด็กเป็นอันตรายต่อลูกน้อยอย่างไร
ผงทัลคัมซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในแป้งเด็กนั้นเป็นสารอนินทรีย์ที่ไม่อาจย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ อีกทั้งมีอนุภาคเล็ก ง่ายต่อการฟุ้งกระจายในอากาศ หากสูดดมละอองแป้งเข้าไปเป็นเวลานานอาจเกิดการสะสมในปอด และทำให้ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ นอกจากนั้นละอองแป้งเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อปอดของทารกและส่งผลให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะทารกที่มีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจเป็นประจำหรือเสี่ยงเป็นโรคทางเดินหายใจ เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ที่สูดดมหรือกลืนผงทัลคัมปริมาณมากในคราวเดียวหรือในปริมาณน้อยแต่ค่อย ๆ สะสมอยู่ในร่างกาย ล้วนอาจเกิดภาวะผงทัลคัมเป็นพิษ ส่งผลให้มีอาการผิดปกติดังนี้
- ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย
- ท้องเสีย อาเจียน
- หมดสติ เซื่องซึม อ่อนเพลีย เป็นไข้
- กล้ามเนื้อใบหน้า แขน มือ ขา หรือเท้ากระตุก
- ไอ ระคายเคืองคอ ระคายเคืองตา
- เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงหวีด มีภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว
- ความดันต่ำ
- ผิวพุพอง มีแผลหรือฟกช้ำตามผิวหนัง ริมฝีปาก นิ้วมือ
หากมีภาวะผงทัลคัมเป็นพิษ บุคคลใกล้ชิดควรรีบพาผู้ป่วยไปยังที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ที่สำคัญคือห้ามทำให้อาเจียนเด็ดขาด เว้นแต่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
แป้งเด็กก่อให้เกิดมะเร็งหรือไม่
หลายคนเข้าใจว่าแป้งเด็กเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ แต่แท้จริงแล้วผลการศึกษาในปัจจุบันเป็นเพียงการทดลองกับสัตว์และผลทางสถิติที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าการได้รับผงทัลคัมชนิดปราศจากแร่ใยหินที่นำมาใช้ผลิตแป้งเด็กส่วนใหญ่ตามท้องตลาดนั้นก่อให้เกิดมะเร็ง เนื่องจากผลลัพธ์ที่พบไม่ชัดเจน อีกทั้งเซลล์มะเร็งอาจเกิดจากปัจจัยอื่นที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น สิ่งแวดล้อม พันธุกรรม เป็นต้น
ปัจจุบันงานวิจัยในด้านนี้สรุปได้เพียงว่าแป้งฝุ่นอาจก่อให้เกิดมะเร็งรังไข่ หากใช้กับจุดซ่อนเร้นเป็นประจำและมีผงแป้งหลุดผ่านช่องคลอด มดลูก และท่อนำไข่ไปยังรังไข่ นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยบางส่วนพยายามพิสูจน์ว่าแป้งเด็กก่อให้เกิดมะเร็งชนิดอื่น ๆ หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ผลการวิจัยที่มีนั้นยังไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ยืนยันได้
แป้งทางเลือกทดแทนแป้งเด็กจากผงทัลคัม
ในปัจจุบันมีแป้งฝุ่นหลายชนิดที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ผงทัลคัม เช่น แป้งเด็กที่ผลิตจากแป้งข้าวโพดหรือแป้งข้าวเจ้า ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ทว่าอาจอุดกลั้นทางเดินหายใจได้หากสูดดมครั้งละมาก ๆ นอกจากนี้ อีกทางเลือกหนึ่งของพ่อแม่ที่ต้องการปกป้องลูกน้อยจากการสูดดมละอองแป้งก็คือแป้งเด็กเนื้อโลชั่น เนื่องจากเนื้อแป้งมีลักษณะเหลวจึงไม่ฟุ้งกระจาย แต่แป้งเด็กชนิดนี้มีส่วนประกอบหลักเป็นผงทัลคัมเช่นเดียวกับแป้งฝุ่นส่วนใหญ่ตามท้องตลาด
ใช้แป้งเด็กอย่างไรให้ปลอดภัยต่อลูกน้อย
แป้งเด็กมีอนุภาคเล็กมากจึงฟุ้งกระจายในอากาศและเข้าไปสะสมในร่างกายได้ง่าย ดังนั้น การใช้แป้งเด็กผิดวิธีอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ทารก ซึ่งวิธีใช้แป้งเด็กง่าย ๆ เพียงไม่กี่ข้อต่อไปนี้ อาจช่วยลดการสะสมของผงทัลคัมในระบบทางเดินหายใจได้
- ใช้แป้งครั้งละน้อย ๆ
- เช็ดแป้งที่สะสมตามข้อพับของลูกน้อยออก เพื่อป้องกันการระคายเคือง
- เทแป้งลงบนฝ่ามือของตนเองก่อนทาให้ทารก ห้ามเทลงบนร่างกายของทารกโดยตรง
- เก็บบรรจุภัณฑ์ให้พ้นมือเด็กและทารก
ทั้งนี้ การใช้ผ้าขนหนูซับตามร่างกายทารกให้แห้งหลังอาบน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมนั้นเพียงพอที่จะป้องกันผดผื่นโดยไม่จำเป็นต้องใช้แป้งเด็ก