แผลน้ำร้อนลวก คือแผลที่เกิดจากการถูกของเหลวที่มีความร้อนสูง เช่น น้ำ ไอน้ำ น้ำมัน ลวกตามร่างกายและทำให้เกิดแผลตามมา ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ บริเวณแผล เช่น ผิวแดงและบวม ผิวลอก ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือสีเข้ม มีตุ่มน้ำใส โดยแผลน้ำร้อนลวกอาจทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวดแผล ดังนั้น การปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีอาจช่วยรักษาแผลน้ำร้อนให้ดีขึ้นได้
แผลน้ำร้อนลวกมักเกิดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น สะดุดล้ม อุบัติเหตุจากการทำงานในครัว โดยน้ำร้อนอาจทำลายเนื้อเยื่อและเซลล์ผิวหนังและทำให้เกิดแผล อย่างไรก็ตาม แผลน้ำร้อนลวกส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายและสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง แต่หากแผลน้ำร้อนลวกมีขนาดใหญ่หรือผิวหนังถูกน้ำร้อนลวกอย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อป้องกันการเกิดอาการอันตราย เช่น อาการช็อก การติดเชื้อ
วิธีปฐมพยาบาลเพื่อรักษาแผลน้ำร้อนลวกอย่างเหมาะสม
แผลน้ำร้อนลวกส่วนใหญ่สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ซึ่งขั้นตอนการปฐมพยาบาลแผลน้ำร้อนลวก มีดังนี้
- ผู้ที่ถูกน้ำร้อนลวกควรออกห่างจากบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บเพิ่มเติม
- ล้างแผลน้ำร้อนลวกด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ โดยควรปล่อยให้น้ำไหลผ่านแผลประมาณ 20 นาที หลีกเลี่ยงการใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัด เพราะอาจทำให้แผลได้รับความเสียหายเพิ่มเติม และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหม่องหรือยาสีฟัน เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
- ถอดเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่โดนน้ำร้อน แต่ควรหลีกเลี่ยงการถอดเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่ติดอยู่บนแผลน้ำร้อนลวก เพราะอาจทำให้ได้รับความเสียหายเพิ่มเติมได้
- ปิดแผลน้ำร้อนลวกด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุปิดแผลที่อาจติดกับแผลหรือผิวหนัง เพราะอาจทำให้รู้สึกเจ็บขณะดึงออกและเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บเพิ่มเติมได้
- หากถูกน้ำร้อนลวกที่แขนหรือขา ควรยกบริเวณแผลน้ำร้อนลวกให้อยู่เหนือหัวใจ เพราะอาจช่วยลดอาการบวมที่แผลได้
- ใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวดแผล
หลังจากนั้น บริเวณแผลน้ำร้อนลวกอาจมีตุ่มน้ำใส ๆ เกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการบีบตุ่มน้ำดังกล่าว เพราะตุ่มน้ำเหล่านี้จะช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่แผล หากตุ่มน้ำแตก ควรล้างแผลและทาครีมยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
นอกจากนี้ ยังสามารถทาว่านหางจระเข้บริเวณแผลน้ำร้อนลวกประมาณ 3–4 ครั้งต่อวัน โดยว่านหางจระเข้จะช่วยลดอาการปวด อักเสบ ป้องกันไม่ให้แผลแห้งจนเกินไป อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวและช่วยฟื้นฟูบาดแผลได้
หากแผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง แผลอาจเริ่มดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน แต่สำหรับแผลน้ำร้อนลวกที่มีอาการรุนแรงอาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ในการรักษาแผลให้หายดี
สัญญาณที่ควรไปพบแพทย์เมื่อมีแผลน้ำร้อนลวก
ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากแผลน้ำร้อนลวกมีอาการรุนแรงหรือมีสัญญาณของอาการผิดปกติ เช่น
- แผลน้ำร้อนลวกมีขนาดใหญ่เกิน 3 นิ้ว หรือครอบคลุมมากกว่าบริเวณส่วนหนึ่งของร่างกาย
- แผลน้ำร้อนลวกบริเวณใบหน้า ลำคอ คอ มือ เท้า หรือบริเวณอวัยวะเพศ
- มีอาการช็อกจากการถูกน้ำร้อนลวก เช่น หนาวสั่น ตัวเย็น เหงื่อออก หายใจหอบ อ่อนแรง เวียนศีรษะ
- มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น แผลน้ำร้อนลวกแดง บวม และปวดอย่างรุนแรง แผลมีกลิ่นเหม็น มีไข้สูง
แพทย์อาจประเมินความรุนแรงของบาดแผลและรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น โดยแพทย์ล้างแผลและกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเนื้อตายออกจากแผล รวมถึงจ่ายยาต่าง ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดและป้องกันการติดเชื้อ ในบางกรณีที่แผลน้ำร้อนลวกมีความรุนแรงมาก แพทย์อาจผ่าตัดนำผิวหนังส่วนอื่นมาปิดแผลแทน (Skin graft)
แผลน้ำร้อนลวกเป็นแผลที่ทำให้รู้สึกเจ็บและปวดแผลอย่างมาก อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นหลังจากแผลหายดีอีกด้วย ดังนั้น การป้องกันอุบัติเหตุที่เป็นต้นเหตุของแผลน้ำร้อนลวกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ใช้ผ้าที่หนาและไม่ลื่นจับภาชนะที่บรรจุน้ำร้อน วางน้ำร้อนให้อยู่ไกลจากมือเด็ก เก็บสิ่งของที่ขวางทางเดินให้เข้าที่เพื่อป้องกันการสะดุดล้มและทำให้น้ำร้อนหกใส่ตัว