แผลผ่าตัด เป็นแผลที่ต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพราะหากดูแลไม่ดีพออาจทำให้แผลหายช้า ซ้ำร้ายกว่านั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างการติดเชื้อซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
ลักษณะของแผลผ่าตัด
แผลผ่าตัดเกิดจากการใช้มีดเปิดแผลหรือการใส่ท่อระบายเลือดในระหว่างการผ่าตัด แผลชนิดนี้มีขนาดแตกต่างกันไปตามประเภทของการผ่าตัด ส่วนใหญ่แพทย์จะเย็บปิดแผลไว้ ทั้งนี้ แผลผ่าตัดแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ชนิด ตามความสะอาดของแผล ความเสี่ยงในการติดเชื้อ และบริเวณของร่างกายที่มีแผล ดังนี้
- แผลสะอาด เป็นแผลที่ไม่เสี่ยงเกิดการติดเชื้อหรืออักเสบ ส่วนใหญ่เป็นแผลบริเวณดวงตา ผิวหนัง และระบบไหลเวียนโลหิต
- แผลที่อาจมีการปนเปื้อน เป็นแผลที่อาจติดเชื้อได้ แม้จะไม่มีอาการแสดงให้เห็น เนื่องจากมีโอกาสปนเปื้อนหรือสัมผัสสิ่งสกปรก เช่น แผลผ่าตัดบริเวณระบบทางเดินอาหาร
- แผลที่มีการปนเปื้อน เป็นบาดแผลที่เกิดจากวัตถุต่าง ๆ และเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคบริเวณผิวหนังรอบ ๆ บาดแผลได้สูง เช่น แผลถูกยิง แผลถูกแทง เป็นต้น
- แผลสกปรก เป็นแผลที่เสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคสูงมาก เนื่องจากบาดแผลสัมผัสกับเชื้อโรค สิ่งสกปรก หรือของเสียโดยตรง
ระยะการฟื้นตัวของแผลผ่าตัด
ส่วนใหญ่กระบวนการรักษาตัวของแผลผ่าตัดแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะแผลบวม กระบวนการสมานแผลเริ่มขึ้นทันทีหลังการผ่าตัด เส้นเลือดบริเวณแผลจะสร้างลิ่มเลือดเพื่อช่วยหยุดการสูญเสียเลือด ส่วนเม็ดเลือดขาวจะเคลื่อนตัวไปยังบริเวณดังกล่าวเพื่อช่วยต่อสู้กับเชื้อโรคและป้องกันการติดเชื้อ ในระยะนี้ แผลมักมีลักษณะบวมแดง รู้สึกอุ่นหรือเจ็บบริเวณรอบ ๆ โดยเกิดขึ้นประมาณ 6 วัน หลังจากผ่าตัด อย่างไรก็ตาม หากมีหนองไหลออกมา มีอาการบวมแดงหรือเจ็บรุนแรงขึ้น อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย
ระยะสร้างเซลล์ใหม่ เป็นระยะที่ขอบของแผลผ่าตัดเริ่มสมานตัวเข้าด้วยกัน บางรายอาจเกิดแผลเป็นขึ้นได้ ระยะนี้เริ่มตั้งแต่ 4 วันแรก ไปจนถึง 1 เดือนหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นว่าผิวหนังบริเวณแผลหนาตัวขึ้น หรือบวมแดง รวมทั้งอาจมีอาการเจ็บแปลบ หรือปวดหน่วง ๆ ก่อนที่อาการดังกล่าวจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด หากอาการยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติ
ระยะปรับตัว เป็นระยะสุดท้ายที่เกิดขึ้นในช่วง 6 เดือน-2 ปี หลังผ่าตัด แผลจะสมานตัวจนสนิทดีและเกิดแผลเป็นที่อาจมีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น นูนหนา มีสีแดงหรือมีสีซีดกว่าผิวหนังบริเวณอื่น เป็นต้น
การดูแลแผลผ่าตัดในระยะพักฟื้น
หลังจากผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะแนะนำเรื่องการดูแลรักษาแผลควบคู่ไปกับการพักฟื้น เพื่อให้แผลหายดีตามระยะเวลาที่เหมาะสม วิธีดูแลแผลผ่าตัด มีดังนี้
- แกะพลาสเตอร์ปิดแผลออกตามกำหนด ในบางกรณีแพทย์อาจติดพลาสเตอร์เพื่อป้องกันแผลติดเชื้อจากสิ่งสกปรก โดยจะพิจารณาจากบริเวณที่มีแผลผ่าตัดหรือความรุนแรงของแผล ผู้ป่วยควรสอบถามว่าแกะพลาสเตอร์ออกได้เมื่อใด
- ดูแลแผลให้แห้งอยู่เสมอ ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังจากผ่าตัด ผู้ป่วยต้องไม่ให้แผลสัมผัสน้ำ แพทย์อาจให้แนะนำให้อาบน้ำได้ในวันที่ 2 แต่ต้องติดพลาสเตอร์ป้องกันไว้ และใช้ผ้าเช็ดตัวซับบริเวณแผลผ่าตัดให้แห้งหลังอาบน้ำทุกครั้งเพื่อไม่ให้อับชื้น
- การตัดไหม ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจตัดไหมได้ในช่วงระหว่าง 3 วัน-3 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับการสมานตัวของแผล การตัดไหมต้องทำโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น หลังจากนั้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยติดเทปหรือพลาสเตอร์บริเวณแผลต่อไปอีก 3-7 วัน จึงจะแกะออกได้ ส่วนในกรณีที่แผลผ่าตัดอยู่ใต้ผิวหนัง แพทย์จะเลือกใช้ไหมละลายที่ค่อย ๆ สลายไปได้เองโดยไม่ต้องตัดไหม
- ขยับร่างกายบริเวณแผลผ่าตัดให้น้อยที่สุด หากแผลผ่าตัดได้รับแรงกระทบกระเทือนมากเกินไปจะทำให้แผลหายช้าลงหรือปริออกได้ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการยกของ การออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดแรงดันที่แผลในช่วงเดือนแรกหลังผ่าตัด ควรรอให้แผลสมานตัวและหายดีเสียก่อน
- ล้างมือก่อนสัมผัสกับแผลทุกครั้ง เพื่อป้องกันแผลสัมผัสกับสิ่งสกปรกและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ทั้งนี้ แผลผ่าตัดที่ไม่มีการเย็บปิดแผลนั้นอาจต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่าแผลปิด โดยผิวหนังจะค่อย ๆ เริ่มสมานตัวจากด้านล่างขึ้นมายังบริเวณปากแผล ผู้ป่วยควรหมั่นรักษาความสะอาดตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อเช่นเดียวกัน และอาจใช้ผ้าก๊อซปิดแผลไว้เพื่อดูดซับของเหลวที่ไหลออกมา
ภาวะแทรกซ้อนจากแผลผ่าตัดมีอะไรบ้าง ?
หากแผลผ่าตัดได้รับการดูแลหรือรักษาสุขอนามัยไม่ดีพอ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ดังนี้
การติดเชื้อ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย มักเกิดขึ้นในช่วงเดือนแรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจสังเกตถึงสัญญาณของการติดเชื้อได้จากอาการต่าง ๆ ต่อไปนี้
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- แผลมีลักษณะแดงหรือบวมผิดปกติ
- มีหนองข้น มีสีน้ำตาล เขียว หรือเหลือง ไหลออกมาจากแผล
- มีอาการเจ็บแผลรุนแรงขึ้น
- แผลหายช้า
- แผลดูกว้างและลึกขึ้น แผลแห้งขาดความชุ่มชื้นและเปลี่ยนเป็นสีเข้ม
- บริเวณรอบแผลผ่าตัดฟกช้ำ จับแล้วรู้สึกอุ่น ๆ
อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อที่แผลผ่าตัดนั้นรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยที่มีอาการข้างต้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วนและป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ
รอยแผลเป็น แผลผ่าตัดที่หายดีแล้วอาจทิ้งแผลเป็น ไว้ให้เห็น ทว่าแผลเป็นเหล่านี้มักไม่ก่อให้เกิดอันตราย เนื่องจากเป็นกระบวนการสมานแผลอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ แผลเป็นที่เกิดขึ้นอาจมีลักษณะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย ได้แก่ รูปร่าง ขนาด และความลึกของแผลผ่าตัด ปริมาณเลือดที่ไหลเวียนไปยังแผล รวมทั้งสีผิวและความหนาของผิวหนังผู้ป่วยด้วย