แผลอักเสบบวมแดงคือแผลที่อยู่ในช่วงการรักษาและฟื้นฟูของร่างกาย โดยการอักเสบเป็นขั้นตอนที่ร่างกายส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค และช่วยซ่อมแซมบริเวณที่เสียหายหลังเกิดแผล ดังนั้นแผลอักเสบบวมแดงจึงเป็นขั้นตอนทั่วไปในการรักษาของร่างกาย แต่บางครั้งแผลอักเสบบวมแดงที่รุนแรงมากก็อาจหมายถึงการติดเชื้อได้
แม้ว่าแผลอักเสบบวมแดงอาจเป็นขั้นตอนซ่อมแซมของร่างกายที่เกิดได้ทั่วไป แต่บางครั้งอาการอักเสบ บวม แดงที่หนักมาก ๆ ก็อาจหมายถึงแผลติดเชื้อได้ เนื่องจากร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อด้วยการทำให้แผลเกิดการอักเสบมากขึ้น ซึ่งการรู้ลักษณะของแผลติดเชื้อและวิธีรับมือจะช่วยให้ดูแลแผลอักเสบบวมแดงได้ดีขึ้นจนกว่าจะหาย
รู้จักลักษณะของแผลอักเสบบวมแดงที่ติดเชื้อ
เมื่อเกิดแผลสดบนร่างกาย เชื้อโรคและแบคทีเรียต่าง ๆ ก็สามารถเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งการรู้ลักษณะของแผลติดเชื้อไว้ก่อนจะช่วยให้รักษาได้ไวขึ้น
- แผลหายช้า และเจ็บบริเวณแผลมากขึ้นเรื่อย ๆ
- มีอาการบวมบริเวณแผลมาก และผิวบริเวณแผลเป็นสีแดง
- อุณหภูมิตรงแผลหรือรอบ ๆ แผลสูงกว่าปกติ
- มีเลือดหรือหนองไหลออกมาจากแผล
- แผลมีกลิ่นเหม็นโชยออกมา
- มีอาการปวดหรือเจ็บ และมีไข้
แผลติดเชื้อสามารถเกิดได้กับทุกคน แต่ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ที่มีปัญาหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ น้ำหนักเกิน ได้รับสารอาหารน้อย ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดอุดตันหรือตีบ ก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในแผลก็อาจเสี่ยงต่อการมีแผลอักเสบบวมแดงรุนแรงซึ่งเกิดจากการติดเชื้อด้วย ผู้ที่มีความเสี่ยงจึงควรหมั่นสังเกตแผลเป็นประจำ
วิธีรักษาแผลติดเชื้อให้หายดี
การรักษาแผลอักเสบบวมแดงที่ติดเชื้อนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของแผล จุดที่เกิดการติดเชื้อ ระยะเวลาที่เกิดแผล รวมถึงสุขภาพของผู้ที่มีแผลเอง โดยหากเป็นแผลติดเชื้อขนาดใหญ่ หรือแผลติดเชื้อหลังการผ่าตัดก็จำเป็นจะต้องรับการรักษาจากแพทย์ แต่หากเป็นแผลเล็ก เช่น แผลถูกของมีคมบาด หรือแผลถลอกที่มีการติดเชื้อไม่มาก ผู้ที่มีแผลก็อาจสามารถดูแลรักษาได้ด้วยตนเอง
สำหรับการดูแลแผลเล็ก ๆ ที่ติดเชื้อ ควรเริ่มจากการล้างทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นแล้วเช็ดด้วยสำลี จากนั้นอาจใช้ยาปฏิชีวนะแบบครีมหรือขี้ผึ้งที่มีตัวยานีโอสปอริน (Neosporin) หรือกรดฟิวซิดิก (Feusidic Acid) ทาลงบนแผล ตามด้วยการแปะพลาสเตอร์ลงไปจนกว่าแผลจะหายดี โดยควรเปลี่ยนพลาสเตอร์ทุกครั้งที่สกปรกหรือเปียก
ถึงแม้แผลติดเชื้อเล็กน้อยจะสามารถดูแลรักษาได้เอง แต่หากแผลยังคงมีอาการอักเสบ ผิวหนังบริเวณแผลเป็นสีแดงและกระจายไปรอบ ๆ และแผลมีหนองไหลออกมา ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาจะเป็นการดีที่สุด
วิธีป้องกันแผลติดเชื้อ
เมื่อเกิดแผลสดจากการถลอกหรือการถูกของมีคมบาด ก็จำเป็นจะต้องดูแลแผลให้ดีเพื่อป้องกันการติดเชื้อซึ่งจะส่งผลให้แผลหายช้าลง โดยวิธีป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อและเป็นแผลอักเสบบวมแดงที่รุนแรง มีดังนี้
- เมื่อเกิดแผลสดขึ้น ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวหนัง เช็ดแผลให้แห้งด้วยผ้าสะอาดแล้วใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะแบบทา ทาลงบนแผลเพื่อป้องกันเชื้อโรค
- ใช้พลาสเตอร์ปลอดเชื้อแปะลงบนแผล ไม่ควรใช้ผ้าก๊อซและพลาสเตอร์ที่กดทับหรือปิดแผลแน่นจนเกินไป
- เปลี่ยนพลาสเตอร์ปิดแผลทุกวันเพื่อทำความสะอาดแผล
- เมื่อเริ่มเกิดสะเก็ดแผลแล้ว ไม่ควรแกะหรือเกาเพราะอาจขัดขวางกระบวนการฟื้นฟูของร่างกาย รวมถึงทำให้เกิดแผลเป็นได้
แผลอักเสบบวมแดงที่มีอาการเล็กน้อยนั้นอาจเป็นสัญญาณว่าร่างกายกำลังฟื้นฟูตัวเองได้ แต่หากมีอาการอักเสบรุนแรง และมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีน้ำหนองไหลออกมา ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้แผลหายจากการอักเสบและติดเชื้อไวขึ้น