แผลเป็นหนอง เป็นแผลที่มีหนองหรือของเหลวข้นสีขาว สีเหลือง หรือสีน้ำตาลไหลออกจากแผล โดยแผลเป็นหนองมักมีกลิ่นเหม็นและเป็นอาการของแผลติดเชื้อ แต่ในขณะเดียวกัน แผลเป็นหนองก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายกำลังต่อต้านการติดเชื้อและฟื้นฟูบาดแผลให้ดีขึ้น
หนองสามารถเกิดได้กับแผลทุกชนิด เช่น แผลผ่าตัด แผลจากการบาดเจ็บ ซึ่งนอกจากการมีหนองออกจากแผลแล้ว ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณของแผลติดเชื้อร่วมด้วย เช่น แผลบวม แดง ปวด รู้สึกอุ่นบริเวณแผล มีไข้ หรือหนาวสั่น อย่างไรก็ตาม หากมีแผลเป็นหนองเกิดขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันอาการอันตรายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา
รู้จักสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลเป็นหนอง
แผลเป็นหนองเกิดขึ้นเมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่เนื้อเยื่อใต้บาดแผลและเกิดเป็นแผลติดเชื้อ โดยระบบภูมิคุ้มกันอาจส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่บริเวณบาดแผล ซึ่งหลังจากจัดการกับการติดเชื้อ เซลล์เม็ดเลือดขาว แบคทีเรีย และเนื้อเยื่อที่ตายแล้วอาจเกิดการสะสมตัว และกลายเป็นหนองสีขาว สีเหลือง หรือสีน้ำตาลที่ไหลออกจากบาดแผล
แผลเป็นหนองมักทำให้แผลหายช้ากว่าปกติ ซึ่งผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลติดเชื้อและแผลเป็นหนองอาจมีดังนี้
- ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 หรือ 2 หรือผู้ที่เป็นโรคอ้วน
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เช่น ผู้ที่ผ่านการทำคีโม ผู้ที่เป็นโรคเอดส์
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
นอกจากนี้ ลักษณะของบาดแผลบางอย่างก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นหนองได้เช่นกัน
- แผลลึกหรือมีขนาดใหญ่
- แผลเกิดจากการถูกแทงหรือถูกบาดด้วยสิ่งของสกปรก
- แผลเกิดจากการถูกสัตว์กัด
- แผลมีสิ่งแปลกปลอมฝังอยู่ เช่น แก้ว ไม้
- แผลผ่าตัดที่มีการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาด
วิธีการรับมือแผลเป็นหนองอย่างเหมาะสม
การรับมือกับแผลเป็นหนองอาจแตกต่างกันไปตามความรุนแรง โดยวิธการดูแลแผลอาจทำได้ดังนี้
การดูแลรักษาแผลเป็นหนองด้วยตนเอง
หากแผลเป็นหนองมีขนาดเล็กหรือแผลติดเชื้อไม่รุนแรงมาก อาจดูแลแผลในเบื้องต้นด้วยตัวเอง เช่น
- เช็ดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือหรือน้ำอุ่นและสบู่
- ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าพันแผล และรักษาแผลให้แห้งอยู่เสมอ
- ประคบร้อนแบบชื้นบริเวณบาดแผล อาจช่วยระบายหนอง รวมไปถึงลดอาการปวดหรือบวมที่บาดแผลได้
ผู้ที่มีแผลเป็นหนองขนาดเล็กหรือไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องระบายหนองออกจากแผลเป็นหนอง เพราะร่างกายจะสามารถดูดซับหนองออกได้เอง
การรักษาแผลเป็นหนองโดยแพทย์
หากแผลเป็นหนองมีอาการไม่ดีขึ้น แผลเป็นหนองมีขนาดใหญ่ แผลผ่าตัดเป็นหนอง หรือแผลติดเชื้ออย่างรุนแรง ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น
- แผลมีอาการปวด แดง บวมเพิ่มมากขึ้น
- แผลเป็นหนองส่งกลิ่นเหม็น
- รู้สึกสับสน
- มีไข้ หนาวสั่น
- หายใจถี่ผิดปกติ
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
โดยแพทย์อาจระบายหนองออก และทำความสะอาดแผลเป็นหนองด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้กินยาปฏิชีวนะเพิ่มเติมเพื่อรักษาแผลติดเชื้อให้มีอาการดีขึ้น ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการบีบหนองออกด้วยตัวเอง เพราะอาจดันหนองให้เข้าไปใต้ผิวหนังลึกกว่าเดิมและก่อให้เกิดแผลเพิ่มเติม ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณอื่นอีกด้วย
การดูแลแผลติดเชื้อเป็นสิ่งสำคัญที่ควรรีบรักษา เพราะการปล่อยแผลติดเชื้อไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้แผลหายช้า เกิดรอยแผลเป็น และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างการติดเชื้อในกระแสเลือดอีกด้วย