การรู้จักว่าแผลแบบไหนต้องฉีดบาดทะยักเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันการเป็นบาดทะยักได้ เนื่องจากแผลบางชนิดอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อและจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันอาการอันตรายร้ายแรงที่อาจเกิดจากการติดเชื้อที่ทำให้เกิดบาดทะยัก
บาดทะยักเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและก่อให้อาการบาดทะยักต่าง ๆ เช่น กล้ามเนื้อเกร็งและปวดอย่างรุนแรง อ้าปากไม่ได้ กลืนอาหารและหายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว และชัก โดยวิธีป้องกันบาดทะยักที่มีประสิทธิภาพสูงคือทำความสะอาดและรักษาแผลอย่างเหมาะสม รวมถึงการฉีดวัคซีนบาดทะยักที่ควรได้รับในช่วงวัยเด็กให้ครบ 6 เข็ม และฉีดเข็มกระตุ้นทุก ๆ 10 ปีเพื่อช่วยลดโอกาสการติดเชื้อให้มากขึ้น
ตอบข้อสงสัย แผลแบบไหนต้องฉีดบาดทะยัก
แผลแบบไหนต้องฉีดบาดทะยักอาจเป็นข้อสงสัยที่ทำให้ใครหลายคนรู้สึกกังวลเวลามีบาดแผลเกิดขึ้น โดยผู้ที่มีบาดแผลขนาดเล็กและไม่มีสิ่งสกปรกปะปนในแผลอาจมีความเสี่ยงในการเป็นบาดทะยักต่ำ และไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนบาดทะยัก
แต่ผู้ที่มีลักษณะบาดแผลบางชนิดอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและอาจต้องได้รับวัคซีน ดังนี้
- แผลที่เกิดจากการถูกบาด แผลถูกตำ แผลถูกแทง หรือแผลทะลุ เช่น แผลที่เกิดจากการเหยียบตะปู เข็ม หรือเศษไม้
- แผลที่ปนเปื้อนดิน มูลสัตว์ หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ
- แผลที่มีกระดูกหักออกมานอกผิวหนัง
- แผลที่มีเนื้อเยื่อผิวหนังตาย เช่น แผลไฟไหม้ แผลจากการถูกทำลายด้วยความเย็นจัด (Frostbite) แผลที่เกิดจากการถูกทับ
- แผลจากการเจาะหรือสักด้วยเข็มหรืออุปกรณ์ที่ไม่สะอาด รวมถึงแผลจากการใช้เข็มฉีดยาที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก
- แผลจากการถูกกัดและปนเปื้อนน้ำลายของมนุษย์หรือสัตว์
- แผลจากการคลอดบุตรที่อาจเกิดขึ้นเมื่ออุปกรณ์ทำคลอดไม่สะอาดหรือปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งอาจทำให้ทั้งแม่และเด็กเป็นโรคบาดทะยักได้ โดยส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณพื้นที่ห่างไกลหรือทำการคลอดโดยผู้ที่ไม่มีความรู้หรือคำแนะนำทางการแพทย์
แผลลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้อาจมีความเสี่ยงในการเป็นบาดทะยัก เนื่องจากแบคทีเรียชนิดนี้อาจพบได้บ่อยในดิน น้ำลาย มูลสัตว์ ฝุ่น รวมไปถึงสิ่งของที่มีคราบสนิม เมื่อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคบาดทะยักเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลดังกล่าวก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
แนวทางการรับมือหลังจากทราบว่าแผลแบบไหนต้องฉีดบาดทะยัก
การรู้จักว่าแผลแบบไหนต้องฉีดบาดทะยักอาจช่วยให้รับมือกับบาดแผลที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น หากทราบแล้วว่าแผลแบบไหนต้องฉีดบาดทะยัก ผู้ที่มีลักษณะบาดแผลดังกล่าวควรทำความสะอาดแผลเบื้องต้น และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและฉีดวัคซีนบาดทะยัก ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าบาดแผลดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับวัคซีนบาดทะยักหรือไม่
โดยกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนบาดทะยักหากเกิดแผลลักษณะดังกล่าวอาจมีดังนี้
- ผู้ที่ได้รับวัคซีนบาดทะยักเข็มล่าสุดนานเกิน 5 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่ไม่เคยเข้ารับการฉีดวัคซีนบาดทะยักหรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนบาดทะยัก
- ผู้ที่ได้รับวัคซีนบาดทะยักไม่ครบตามกำหนด
- ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์
วัคซีนบาดทะยักมีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงการติดเชื้อที่ทำให้เกิดบาดทะยักสูง แต่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง ควรแจ้งแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีน เช่น ภาวะเลือดออกผิดปกติ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท เคยมีประวัติชักมาก่อน รวมไปถึงผู้ที่กำลังใช้ยาต่าง ๆ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยารักษามะเร็ง ยากดภูมิคุ้มกัน เพราะยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาบางอย่างกับวัคซีนได้