อุบัติเหตุจากภายนอกอาจก่อให้เกิดแผลตามร่างกายโดยที่เราไม่ทันระวังตัว เช่น รอยถลอก แผลจากของมีคมบาด แผลไฟไหม้ หรือแผลน้ำร้อนลวก เป็นต้น โดยปกติแล้วเราสามารถดูแลแผลจากอุบัติเหตุเล็กน้อยได้ด้วยตนเองที่บ้าน
เมื่อเกิดบาดแผลขึ้นบริเวณผิวหนัง โดยธรรมชาติของบาดแผลขนาดเล็กและไม่รุนแรงมักจะตกสะเก็ดและหายได้เองภายใน 2-3 วัน ซึ่งเป็นกลไกปกติที่ช่วยป้องกันสิ่งสกปรกและเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลในขณะที่ร่างกายกำลังสร้างผิวหนังขึ้นมาทดแทน โดยในช่วงนี้มักจะมีอาการคันบริเวณแผลขึ้น จึงไม่ควรเกาหรือแกะสะเก็ดจากแผลออกเอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมทั้งการดูแลบาดแผลจนกว่าจะแห้งและหายสนิทนั้นก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ
ขั้นตอนการทำแผลที่ถูกต้อง
โดยทั่วไปแผลนั้นมีหลายชนิด เช่น แผลถลอก แผลฉีกขาด แผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก แผลกดทับ แผลถูกแทง แผลฉีกขาดจนผิวหนังหลุดออก เป็นต้น หากแผลมีขนาดใหญ่ ลึก หรือรุนแรงก็ควรไปพบแพทย์เสียแต่เนิ่น ๆ แต่ในกรณีที่เป็นแผลขนาดเล็กและไม่รุนแรงนัก ส่วนใหญ่แล้วสามารถทำแผลเบื้องต้นให้แก่ตนเองได้ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
ล้างมือให้สะอาด
ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคจากตนเองไปสู่ผู้อื่น รวมถึงลดการติดเชื้อโรคด้วย ก่อนการทำแผลจึงควรล้างมือให้สะอาดก่อนเสมอ
กดห้ามเลือด
ปกติแล้ว แผลถลอกมักไม่ค่อยมีเลือดออกมากนัก ในกรณีที่แผลมีเลือดออก การกดทับบริเวณแผลจะช่วยให้เลือดหยุดไหล โดยให้ใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซที่ปลอดเชื้อกดทับบริเวณแผล
ล้างสิ่งสกปรกออกจากแผลและล้างแผลให้สะอาด
หากบริเวณบาดแผลมีสิ่งสกปรกติดอยู่อาจใช้แหนบหรือผ้าสะอาดจัดการกับเศษทราย ดิน หรือกรวดที่ติดอยู่ในแผลออกก่อน จากนั้นล้างแผลด้วยน้ำสะอาด อาจล้างด้วยสบู่ที่อ่อนโยนและไม่ระคายเคืองต่อแผล
ทาแผลด้วยยาปฏิชีวนะ
หลังเช็ดแผลให้แห้ง อาจทายาปฏิชีวนะในรูปแบบขี้ผึ้งหรือครีมเพื่อฆ่าเชื้อโรค ซึ่งตัวยาจะช่วยสมานแผลและลดรอยแผล โดยสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
ปิดแผลด้วยผ้าพันแผลหรือผ้าก็อซปิดแผล
ก่อนนำผ้าพันแผลหรือผ้าก็อซมาใช้ต้องมั่นใจถึงความสะอาดอยู่เสมอ รวมทั้งควรล้างแผลทุกวันและเปลี่ยนผ้าพันแผลบ่อย ๆ แต่ถ้าแผลมีขนาดเล็กก็อาจไม่จำเป็นต้องพันผ้าไว้
สังเกตอาการติดเชื้อ
การเกิดแผลมักเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ขณะเปลี่ยนผ้าพันแผลหรือผ้าก็อซควรสังเกตสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น แผลบวมแดงกว่าเดิม เกิดการอักเสบ รู้สึกร้อนที่แผลเมื่อสัมผัส แผลมีกลิ่น มีไข้ หรือสั่น เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์
การดูแลแผลให้หายเร็วด้วยตัวเอง
ผู้ที่มีบาดแผลอาจเลือกใช้ครีมยาทาแผลที่มีส่วนผสมของตัวยาคลอเฮกซิดีน (Chlorhexidine) ซึ่งจะช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียภายในแผล และโปรวิตามินดี 5 (Dexpanthenol) ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างกลไกการสมานผิวตามธรรมชาติ ส่งผลให้แผลที่ผิวหนังสมานกันเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยส่วนผสมทั้ง 2 อย่างนี้มักไม่ทำให้แสบแผล จึงอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะกับผู้ใช้ทั่วไปและเด็ก ๆ
นอกจากนี้ ขณะที่ร่างกายเป็นแผล เราอาจต้องเสริมโปรตีน แคลอรี่ และสารอาหารต่าง ๆ แก่ร่างกายให้มากขึ้น เพื่อช่วยซ่อมแซมบาดแผลให้หายเป็นปกติ โดยอาจเพิ่มการรับประทานธัญพืช ผักใบเขียว ผลไม้ เนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากนมในอาหารแต่ละมื้อ เพื่อให้ได้สารอาหารอย่างครบถ้วน
แม้ว่ารอยขีดข่วน แผลถลอก หรือแผลขนาดเล็กมักจะหายไปได้เองโดยกลไกของร่างกาย แต่การดูแลรักษาแผลให้สะอาดอยู่เสมอก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดอาการติดเชื้อ รวมถึงหลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นแล้วยังมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น แผลเปิดกว้าง เลือดไหลไม่หยุด หรือแผลเกิดการติดเชื้อ ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป