แพ้ครีมทาผิวเป็นคำที่หลายคนใช้เรียกกลุ่มอาการระคายเคืองผิวหนังหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ไม่เคยใช้มาก่อน เช่น มีผื่นแดง แสบ และคัน อีกทั้งบางคนอาจเข้าใจว่า การแพ้ครีมทาผิวหมายถึงการมีสิวขึ้นหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวหน้า แต่ในความจริงแล้วอาการเหล่านี้เป็นปฏิกิริยาของผิวซึ่งเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน
การแพ้ครีมทาผิวอาจเกิดจากการแพ้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีระดับความเข้มข้นของสารเคมีสูงเกินไป และปฏิกิริยาของผิวต่อสารเคมีที่ก่อให้เกิดการอุดตันที่ผิว ซึ่งทำให้เกิดอาการแตกต่างกัน บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจสาเหตุของการแพ้ครีมทาผิวที่เกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณผิวหน้าและผิวกาย และวิธีรับมือกับอาการอย่างง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
แพ้ครีมทาผิวเป็นอย่างไร
ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่าง ๆ เช่น โฟมล้างหน้า โทนเนอร์ โลชั่น ครีมกันแดด เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) หรือที่หลายคนเรียกกันว่าการแพ้ครีมทาผิว ซึ่งมักทำให้เกิดผื่นแดง คัน แห้งลอก และแสบร้อนที่ผิวหนัง โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
ผื่นระคายสัมผัสจากสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (Irritant Contact Dermatitis)
การแพ้ครีมทาผิวอาจเกิดจากการสัมผัสสารออกฤทธิ์ (Active Chemical) ในครีมบำรุงผิว เช่น กรด AHA และ BHA น้ำมันหอมระเหยอย่างทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil) หรือยารักษาสิวบางชนิด ซึ่งสารเคมีเหล่านี้อาจทำให้บางคนเกิดการระคายเคืองผิวได้ โดยอาจเริ่มมีอาการภายในไม่กี่นาทีหลังใช้ครีมทาผิว ไปจนถึงหลายชั่วโมงจึงจะเริ่มเกิดอาการ
ผื่นระคายสัมผัสจากสารก่อภูมิแพ้ (Allergic Contact Dermatitis)
ครีมทาผิวบางชนิดอาจผสมสารเคมีอย่างน้ำหอมและสารกันเสียซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจึงตอบสนองโดยการปล่อยสารฮิสตามีน (Histamine) ออกมา ทำให้เกิดอาการแพ้และคันผิวหนัง
ในบางรายอาจมีอาการคันบริเวณตา จมูก และปาก ใบหน้าบวม หายใจมีเสียงหวีด และในบางกรณีอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
นอกจากนี้ บางคนที่ใช้ครีมบำรุงแล้วมีสิวขึ้นมากผิดปกติ อาจเรียกอาการที่เกิดขึ้นว่าเป็นการแพ้ครีมทาผิว แต่ความจริงแล้ว การที่มีสิวเห่อบนใบหน้าต่างจากอาการแพ้จากผื่นระคายสัมผัส
อาการสิวเห่อหลังใช้ครีมบำรุงเป็นปฏิกิริยาของผิวที่มีต่อสารที่มีคุณสมบัติเร่งการผลัดเซลล์ผิว เช่น เรตินอยด์ (Retinoid) กรด AHA และ BHA หรือสารในครีมทาผิวที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการอุดตันรูขุมขนอย่าง น้ำมัน ซิลิโคน (Silicone) และสารให้ความนุ่มลื่น (Emollient) ซึ่งอาจกระตุ้นให้บางคนเกิดสิวได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย
รับมืออย่างไรเมื่อแพ้ครีมทาผิว
ผู้ที่แพ้ครีมทาผิวควรหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้และหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารนั้น หากใช้ครีมทาผิวแล้วเกิดอาการแพ้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจผิวหนัง ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมด้วยการทดสอบสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ (Patch Tests)
โดยผู้ที่แพ้ครีมทาผิวสามารถดูแลตัวเองและรักษาอาการแพ้ได้โดยใช้วิธีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ครีมทาผิวที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น น้ำหอม น้ำมันหอมระเหย และสารกันเสีย
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเรตินอยด์ (Retinoid) ร่วมกับกรดที่ใช้ในการผลัดเซลล์ผิว เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองผิว
- ไม่สัมผัส แกะ เกา และสครับผิวในช่วงที่ผิวมีอาการแพ้ และงดใช้ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิวจนกว่าอาการแพ้จะหายดี เพราะกรดที่ใช้ในการผลัดเซลล์ผิวอาจทำให้ผิวแห้ง ลอก และระคายเคืองมากขึ้น
- ผู้มีผิวแพ้ง่ายและเป็นสิวง่าย ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน ซิลิโคน สารให้ความนุ่มลื่น ซึ่งอาจทำให้รูขุมขนอุดตันและเกิดสิวได้ง่าย
- ทดสอบอาการแพ้ก่อนการใช้ครีมทาผิวเสมอ โดยทาครีมเล็กน้อยที่บริเวณหลังใบหูหรือข้อพับแขน ทิ้งไว้เป็นเวลา 24–48 ชั่วโมง และสังเกตอาการ หากมีผื่นแดง คัน แสบร้อน ไม่ควรใช้ครีมทาผิวนี้
ในบางกรณี แพทย์อาจให้ยาทาผิวหรือยาชนิดรับประทานเพื่อรักษาอาการแพ้ที่เกิดขึ้น ดังนี้
- ครีมหรือขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ โดยใช้วันละ 1–2 ครั้งต่อเนื่องกันประมาณ 2–4 สัปดาห์ ช่วยบรรเทาผื่นคันและลดการอักเสบของผิว
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ชนิดรับประทาน ใช้ในกรณีที่ผิวมีอาการอักเสบอย่างรุนแรง
- ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) อย่างยาไดเฟนไฮดรามีนไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้จากสารก่อภูมิแพ้
โดยทั่วไป อาการแพ้จากผื่นระคายสัมผัสมักดีขึ้นได้หลังจากงดใช้ครีมทาผิวที่มีส่วนผสมของสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ โดยมักใช้ระยะเวลาแตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการด้วย
การรับมือกับอาการแพ้ครีมทาผิวอาจเป็นเรื่องยาก แต่หากทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้จะทำให้ทราบว่า ควรหลีกเลี่ยงสารชนิดใดที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ยิ่งไปกว่านั้นควรอ่านส่วนประกอบที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ให้ละเอียดก่อนเลือกซื้อครีมทาผิว เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการแพ้ได้
ทั้งนี้ หากอาการแพ้แย่ลงหรือรุนแรงขึ้น และมีสิวขึ้นผิดปกติต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์หลังใช้ครีมทาผิว ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับการตรวจรักษาต่อไป