อาการแพ้ยุง (Mosquito Allergy, Skeeter Syndrome) เป็นภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อการถูกยุงกัดมากกว่าปกติ ซึ่งมักทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่าคนที่ไม่มีอาการแพ้ โดยอาจพบได้ตั้งแต่อาการแพ้ที่ไม่รุนแรงไปจนถึงระดับที่เป็นอันตราย
คนส่วนใหญ่เมื่อถูกยุงกัดมักจะคันและเกิดผื่นแดงตามผิวหนังที่ไม่รุนแรง แต่คนที่แพ้ยุงอาจเกิดอาการแพ้ที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป อย่างลมพิษ คันอย่างรุนแรง อาการบวมตามผิวหนัง และอาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตราย และต้องรับการรักษาจากแพทย์
รู้ได้อย่างไรว่าแพ้ยุง
อาการแพ้ยุงนั้นค่อนข้างแตกต่างจากอาการทั่วไปจากการถูกยุงกัดอย่างเห็นได้ชัด เมื่อคนทั่วไปถูกยุงกัดมักจะเกิดตุ่มแดงคันขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตรตามผิวหนัง ซึ่งไม่ร้ายแรงและอาการมักหายเองโดยไม่ต้องรักษา แต่คนที่มีอาการแพ้ยุงจะพบอาการต่อไปนี้หลังถูกยุงกัด
- อาการคล้ายกับการติดเชื้อ อย่างเป็นไข้และต่อมน้ำเหลืองบวมโต
- คันตามผิวหนัง ผิวหนังบวมอย่างรุนแรงคล้ายกับการถูกสัตว์หรือแมลงมีพิษต่อย โดยอาจพบอาการบวมตามผิวหนังบริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นวงกว้าง ขนาดตั้งแต่ 2–10 เซนติเมตรภายใน 1 ชั่วโมงหลังถูกกัดและอาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หรือเกิดอาการบวมทั่วร่างกาย หากพบสัญญาณของอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ทันที
- ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) หรือภาวะแพ้อย่างรุนแรง แม้จะพบได้น้อย แต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หากพบอาการลมพิษ คอบวม ริมฝีปากบวม หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงหวีดแหลม เวียนหัว และคล้ายจะเป็นลม หรืออาการรุนแรงอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์ทันทีเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ อาการแพ้ยุงอาจเป็นอันตรายมากขึ้นเมื่อเกิดในทารก เด็ก และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
จากอาการข้างต้นบางคนอาจสับสนหรือเข้าใจผิดระหว่างอาการแพ้ยุงและภาวะผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย (Cellulitis) เพราะบางอาการอาจดูคล้ายกันจนทำให้สับสนได้ แต่ภาวะผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้เกิดหนอง ผิวอุ่นเมื่อสัมผัส เป็นไข้ และหนาวสั่น
หากถูกยุงกัดแล้วพบอาการผิดปกตินอกเหนือจากตุ่มแดงตามผิวหนังและอาการคันที่ไม่รุนแรง อาการค่อย ๆ รุนแรงขึ้น หรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์ เพราะอาการแพ้ยุงและภาวะผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียนั้นมีวิธีรักษาที่แตกต่างกัน
อาการแพ้ยุง รับมืออย่างไร
วิธีรับมือกับอาการแพ้จากการถูกยุงกัดอาจแตกต่างกันไปตามความรุนแรงและความเหมาะสมดังนี้
ปฐมพยาบาล
แม้จะเป็นเพียงการถูกยุงกัด แต่คนที่แพ้ก็อาจเสี่ยงต่ออันตรายได้ หากถูกยุงกัดควรทำความสะอาดผิวหนังในจุดที่ถูกกัดด้วยน้ำและสบู่ ซับให้แห้ง จากนั้นบรรเทาอาการบวมและคันด้วยการประคบเย็น โดยสามารถใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด ผ้าห่อถุงน้ำแข็ง หรือขวดน้ำเย็นประคบตรงที่ถูกกัดประมาณ 10 นาที
หากบ้านไหนมีเบกกิ้งโซดา (Baking Soda) สามารถเตรียมเบกกิ้งโซดาใส่ถ้วยไว้เล็กน้อย จากนั้นหยดน้ำลงไปเล็กน้อย กวนให้จับตัวกันแล้วใช้พอกบริเวณที่ถูกยุงกัด ทิ้งไว้ 10 นาที ค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ใช้ยาแก้แพ้สำหรับอาการแพ้ไม่รุนแรงหรือรุนแรงปานกลาง
ยาแก้แพ้ (Antihistamines) เป็นยาที่ช่วยยับยั้งการหลั่งสารฮิสตามีน (Histamines) ซึ่งจะหลั่งออกมามากขึ้นเมื่อร่างกายสัมผัสกับสารที่แพ้ ในกรณีนี้คือสารบางอย่างจากน้ำลายของยุงที่เข้าสู่ร่างกายผ่านการกัดทำให้เกิดอาการแพ้
คนที่ทราบว่าตนเองมีอาการแพ้ยุง ควรพกยาแก้แพ้ติดตัวไว้เสมอ โดยสอบถามแพทย์และเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีใช้ที่ถูกต้องและปลอดภัย หากต้องทำกิจกรรมหรือเข้าไปในที่ที่เสี่ยงต่อการถูกยุงกัด อย่างการเข้าค่าย การเดินป่าหรือพื้นที่ที่อาจมียุงชุก ควรมียาแก้แพ้ติดไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ยาแก้แพ้สามารถบรรเทาได้เพียงอาการแพ้ที่ไม่รุนแรงหรือรุนแรงปานกลาง อย่างผื่นแดงคันและอาการบวมเล็กน้อยจากการถูกยุงกัดเท่านั้น หากใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือพบสัญญาณของปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง ควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
ไม่ควรเการอยที่ถูกยุงกัด
การเกาตรงตำแหน่งที่ถูกยุงกัดจะกระตุ้นให้อาการคันและการอักเสบรุนแรงขึ้น อีกทั้งการเกาอาจทำให้เกิดรอยแผลขนาดเล็กบนผิวหนัง ทำให้เชื้อโรคอาจเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเกาแผลหรือรอยยุงกัดโดยไม่ได้ล้างมือให้สะอาด
ลดความเสี่ยงจากการถูกยุงกัด
มีหลายวิธีที่ช่วยป้องกันการถูกยุงกัด เช่น
- สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวที่มีสีอ่อน
- ทำความสะอาดภายในและนอกตัวบ้านเสมอ โดยเฉพาะบริเวณที่มีน้ำขัง อย่างพื้นดิน ถังขยะ หรือภาชนะที่วางไว้นอกตัวบ้าน เนื่องจากยุงแพร่พันธุ์วางไข่ในน้ำ
- ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ คว่ำถังและกะละมังที่ไม่ใช่งาน รวมทั้งหยดน้ำส้มสายชูหรือทรายอะเบทตามแจกันดอกไม้ ขารองตู้กับข้าว หรือภาชนะอื่นที่มีน้ำภายในบ้าน
- เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเสมอ
- กางมุ้งขณะนอนหลับ โดยเฉพาะเวลากลางวัน
- ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท หรือติดมุ้งลวดกันยุง
- ทายาหรือโลชั่นกันยุงที่ปลอดภัยต่อผิวหนัง แต่ผู้ปกครองควรระมัดระวังเมื่อต้องทาให้ทารก
ปรึกษาแพทย์
หากคาดว่าตนเองหรือเด็กในบ้านอาจมีอาการแพ้ยุง หรืออาการจากการถูกยุงกัดส่งผลต่อการใช้ชีวิตสามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ได้ สำหรับคนที่มีประวัติแพ้ยุงอย่างรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ในรูปแบบของปากกาเข็มฉีดยา พร้อมแนะนำวิธีใช้เมื่อเกิดอาการแพ้รุนแรงหรือปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงขึ้น ซึ่งหากแพทย์สั่งจ่ายยาดังกล่าวก็ควรพกติดตัวไว้เสมอ
เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงจากการถูกยุงกัดได้หลายวิธี ยิ่งเป็นคนที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ป่า และพื้นที่ธรรมชาติที่อาจมีความเสี่ยงจากการถูกยุงกัดได้มากกว่า ควรต้องดูแลตนเองให้มากขึ้น เพราะนอกจากอาการไม่พึงประสงค์จากการถูกยุงกัดและอาการแพ้ยุง การถูกยุงกัดอาจทำให้เกิดโรคติดเชื้อ อย่างโรคไข้เลือดออกและไข้มาลาเรียได้