แพ้อากาศ อาการบ่งบอกและวิธีรับมือ

โรคแพ้อากาศอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของใครหลายคน เพราะถึงแม้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่ได้รับอันตรายร้ายแรง แต่ก็อาจมีอาการในหลายรูปแบบที่รบกวนการใช้ชีวิต เช่น คันจมูก เป็นผื่น หรือน้ำตาไหล เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยกระตุ้น อย่างการสูดดมเกสรดอกไม้ ฝุ่น หรือรังแคสัตว์ ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคแพ้อากาศจึงควรศึกษาข้อมูลของโรคนี้ไว้ เพื่อให้พร้อมรับมือเมื่อเกิดอาการขึ้นกับตนเองหรือคนที่รัก

Allergic Rhinitis

แพ้อากาศ คือ อะไร ?

แพ้อากาศ ภูมิแพ้อากาศ หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) เป็นชื่อของโรคที่เกิดการอักเสบขึ้นที่เยื่อบุจมูก ซึ่งมีสาเหตุมาจากสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างฝุ่น เกสรดอกไม้ เชื้อรา หรือรังแคสัตว์ เมื่อผู้ป่วยสูดหายใจเอาสารที่ตนเองแพ้เข้าไปก็จะมีอาการต่าง ๆ เช่น น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ เป็นต้น โดยโรคนี้สามารถรักษาได้หลายวิธี อย่างการดูแลอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง ใช้ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน ใช้ยาพ่นจมูกหรือยาหยอดตา และใช้การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด

อาการสำคัญของโรคแพ้อากาศ

ตัวอย่างอาการของโรคแพ้อากาศที่พบได้ทั่วไป มีดังนี้

  • คันบริเวณจมูก ตา คอ หรือผิวหนัง
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือการรับกลิ่นแย่ลง
  • ไอ จาม เจ็บคอ
  • น้ำตาไหล  
  • มีอาการบวมหรือมีรอยหมองคล้ำใต้ดวงตา
  • มีผื่นลมพิษขึ้นบนผิวหนัง
  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย

โดยผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นหลังจากสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งอาจเกิดอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมีหลายอาการก็ได้ ส่วนอาการปวดหัวและอ่อนเพลียมักจะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้ป่วยสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เป็นเวลานาน

วิธีดูแลอาการของโรคแพ้อากาศด้วยตนเอง

วิธีรับมือกับโรคแพ้อากาศที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งอาจป้องกันไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็อาจช่วยลดอาการที่เกิดจากการสัมผัสสารเหล่านั้นได้

โดยการดูแลตัวเองของผู้ป่วยมีหลายวิธี และบางวิธีก็ขึ้นอยู่กับชนิดของสารที่ก่อภูมิแพ้ต่อร่างกายแต่ละคนด้วย ดังนี้

  • ทำความสะอาดโพรงจมูกอย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำเกลือหรือน้ำยาล้างจมูก เพื่อช่วยป้องกันการระคายเคือง
  • หากแพ้ละอองเกสร ควรใช้เครื่องปรับอากาศแทนการเปิดหน้าต่าง
  • หากแพ้ฝุ่น ควรดูดฝุ่นบริเวณที่อยู่อาศัยให้บ่อยครั้ง ซักผ้าปูที่นอนและผ้าห่มในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 55 องศาเซลเซียส ใช้เครื่องลดความชื้นหรือติดตั้งแผ่นกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงภายในอาคาร ใช้อุปกรณ์ป้องกันฝุ่นเมื่อต้องทำงานบ้านหรือปลูกต้นไม้ในสวน และไม่ควรมีพรมอยู่ในบ้าน
  • อาจใช้ยารักษาภูมิแพ้อากาศ เช่น ยาแก้แพ้ชนิดที่ออกฤทธิ์ยาวนานและไม่ทำให้ง่วงนอนมารับประทาน โดยต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนทุกครั้ง

แม้ว่าโรคแพ้อากาศที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมหากอาการต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการเรียน การทำงาน และทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เป็นปกติ รวมทั้งมีอาการต่าง ๆ นานหลายสัปดาห์และไม่มีสัญญาณว่าจะดีขึ้น มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน อาการของโรคแพ้อากาศไม่ตอบสนองต่อการรักษา เด็กเป็นโรคแพ้อากาศอยู่บ่อยครั้ง มีอาการไซนัสอักเสบโดยปวดบริเวณใบหน้า หน้าผาก หรือแก้ม ซึ่งเป็นตำแหน่งของไซนัส มีไข้ ลมหายใจมีกลิ่น หรือมีเสมหะมาก