แมงป่องต่อยเกิดได้บ่อยในช่วงหน้าฝน โดยแมงป่องมักแฝงตัวอยู่ในบริเวณที่ชื้นและเย็นอย่างห้องน้ำหรือใต้กองไม้ และมักหากินตอนกลางคืน เราจึงไม่ทันสังเกตและอาจถูกแมงป่องต่อยโดยไม่รู้ตัว แม้พิษของมันมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็สร้างความเจ็บปวดและอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะกับเด็กและผู้สูงอายุ
อันตรายของแมงป่องนั้นอยู่บริเวณหางของมัน ซึ่งจะมีต่อมพิษ 2 ต่อมและเหล็กในที่ปลายสุดของหางเพื่อเอาไว้ใช้ป้องกันตัวเอง แมงป่องแต่ละสายพันธุ์จะมีพิษหลายชนิดที่รุนแรงมากน้อยต่างกันไป เช่น พิษต่อระบบประสาท (Neurotoxins) หรือพิษต่อระบบเลือด (Hematotoxin) โดยสายพันธุ์ที่มีพิษรุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลหรือการรักษาอย่างทันท่วงที
แมงป่องต่อยทำให้เกิดอาการอะไรบ้าง
ผู้ที่ถูกแมงป่องต่อยอาจพบอาการหลัก ๆ เช่น อาการปวด อุ่น บวม แดงในบริเวณที่ถูกต่อย หรืออาจรู้สึกปวดมากแม้ไม่มีอาการบวมแดง บางรายอาจมีอาการคัน แสบร้อน มีรอยไหม้ที่แผล ชา หรือรู้สึกเหมือนมีของแหลมทิ่มแทงร่วมด้วย
พิษของแมงป่องยังอาจทำให้เกิดอาการในระบบประสาท เลือด หรือทางเดินหายใจ เช่น หัวใจเต้นผิดปกติหรือเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง รู้สึกอ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก การเคลื่อนไหวของศีรษะ คอ และดวงตาผิดปกติ เป็นอัมพาตบางส่วน น้ำลายไหล ชัก ง่วงซึม มีเหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน กระสับกระส่าย หายใจลำบาก ในเด็กอาจร้องไห้จนผิดปกติหรือร้องไห้ไม่หยุด
ในกรณีที่เคยถูกแมงป่องต่อยมาแล้ว หากถูกต่อยซ้ำอีกครั้งอาจส่งผลให้เกิดอาการแพ้ตามมา โดยอาจเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่รุนแรงจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ (Anaphylaxis) เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก คลื่นไส้ หรืออาเจียน แต่มักพบได้น้อย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับพิษจากแมงป่องแล้วไม่ได้รับการปฐมพยาบาลหรือรับการรักษาที่ถูกต้อง อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจหรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลวภายในไม่กี่ชั่วโมงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็ก
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมงป่องต่อย
ผู้ที่มีสุขภาพดีส่วนใหญ่หากถูกแมงป่องต่อยแล้วมีอาการไม่รุนแรงก็มักฟื้นตัวได้เองภายใน 48 ชั่วโมงโดยไม่จำเป็นต้องรักษา แต่การปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องจะช่วยบรรเทาอาการในเบื้องต้นได้ ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ควรรีบไปพบแพทย์อย่างผู้สูงอายุ เด็ก และผู้มีอาการรุนแรงหรืออาการแพ้หลังถูกแมงป่องต่อย โดยอาจปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้
- ทำความสะอาดแผลและผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ด้วยน้ำและสบู่อ่อน
- ประคบเย็นด้วยเจลเย็นหรือถุงน้ำแข็งห่อผ้าขนหนู เพื่อลดอาการปวดบวมที่แผลและลดการแพร่กระจายของพิษ
- ยกอวัยวะข้างที่มีแผลจากแมงป่องต่อยให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ เพื่อลดอาการปวดบวมและป้องกันพิษแมงป่องแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย
- งดรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำและเครื่องดื่มใด ๆ หากมีปัญหาในการกลืน
- รับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เองอย่างยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวดหรือความรู้สึกไม่สบายตัว โดยควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดหรือปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
หากถึงมือแพทย์แล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจได้รับยาระงับประสาทชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือด ยาต้านพิษแมงป่อง ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยาสเตียรอยด์ รวมถึงยารักษาตามอาการที่แพทย์เห็นสมควร เพื่อรักษาอาการที่เกิดขึ้นและป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรืออาการที่อาจรุนแรงยิ่งขึ้นได้
แมงป่องต่อยเป็นปัญหาสุขภาพที่เราป้องกันได้หากระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีแมงป่องชุกชุม เช่น ปิดประตูบ้านให้สนิทในช่วงหน้าฝน ตัดหญ้าเป็นประจำ สวมรองเท้าในตอนกลางคืน สวมถุงมือก่อนทำสวน ยกก้อนหิน เก็บกวาดกองไม้หรือกองดินโดยไม่ลืมตรวจสอบก่อน เขย่ารองเท้าและถุงมือก่อนสวม รวมถึงไม่ควรล้มตัวนอนกับพื้นหากปราศจากผ้าปูหรือเสื่อรอง