การถูกแมวกัดหรือแมวข่วนเป็นสิ่งที่ทาสแมวทั้งหลายต้องเคยประสบพบเจอกันอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าเจ้าเหมียวจะเป็นสัตว์ที่น่ารักและเป็นเพื่อนคู่ใจของใครหลายคน แต่เขี้ยวและเล็บของพวกมันถือว่าอันตรายไม่เบาเลยทีเดียว ดังนั้นทาสแมวทั้งหลายจึงควรทราบความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการถูกแมวกัด และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์
แมวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเขี้ยวเรียวเล็กและแหลมคม เมื่อถูกแมวกัดอาจทำให้เกิดแผลขนาดลึกได้ รวมถึงอาจทำให้เกิดแผลติดเชื้อได้ง่ายหากแผลที่ถูกกัดไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่างอาจมีความเสี่ยงในการเกิดแผลติดเชื้อรุนแรงได้กว่าคนทั่วไป เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากถูกแมวกัดจึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการถูกแมวกัด
หลายคนอาจคิดว่าการถูกแมวกัดเป็นเรื่องเล็ก และไม่มีอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย แต่ความจริงแล้วน้ำลายของแมวมีเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก และการถูกแมวกัดอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อหลายชนิด
ตัวอย่างเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อสู่คนจากการถูกแมวกัดได้ เช่น
- เชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่ถูกแมวกัด
- เชื้อแบคทีเรียพาสทูเรลลา มัลโตซิดา (Pasteurella Multocida) ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) จนอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดไดั
- เชื้อแบคทีเรียแคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย มีไข้ และคลื่นไส้
- เชื้อแบคทีเรียบาโทเนลลา (Bartonella) ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้แมวข่วน (Cat Scratch Fever)
- เชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า
แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แมวที่เลี้ยงไว้จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าน้ำลายของมันจะไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อเหล่านี้ จึงควรระมัดระวังในการเล่นกับแมวไม่ให้โดนแมวกัด ส่วนในกรณีของแมวจรจัด อาจมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเหล่านี้ได้ง่ายกว่า จึงไม่ควรเล่นกับแมวจรจัดหากไม่จำเป็น หรือใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการเล่น
แมวกัด กับอาการและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์
เมื่อถูกแมวกัด ควรล้างแผลด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด และปิดแผลด้วยพลาสเตอร์หรือผ้าพันแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากแผลมีอาการไม่รุนแรงมาก อาจไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ เพียงแค่คอยสังเกตสัญญาณของอาการติดเชื้อหรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น
อาการหลังจากถูกแมวกัดที่ควรไปพบแพทย์ ได้แก่
- บริเวณแผลที่ถูกแมวกัดมีอาการบวมแดง เจ็บปวดมาก และรู้สึกอุ่นเมื่อสัมผัส
- บริเวณแผลที่ถูกแมวกัดมีหนองสีขาวหรือสีเหลืองไหลออกมา และมีกลิ่นเหม็น
- บริเวณแผลที่ถูกแมวกัดเป็นแผลลึก มีขนาดใหญ่ หรือมีเลือดไหลออกมาไม่หยุด
- บริเวณแผลที่ถูกแมวกัดสูญเสียความรู้สึกชั่วคราว หรือรู้สึกชาบริเวณบาดแผล
- เป็นไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย เมื่อยล้า หรือมีภาวะต่อมน้ำเหลืองบวมร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม หากไม่แน่ใจว่าแมวที่กัดได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ หรือแมวมีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือทำตัวแปลก ๆ หลังจากกัด ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ รวมถึงในกรณีที่ผู้ที่ถูกแมวกัดไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว หรือมีภาวะสุขภาพที่น่ากังวลอย่างการมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอด้วย