ความหมาย แสบตา (Eye Burning)
แสบตา (Eye Burning) คือ การระคายเคือง แสบ คันบริเวณดวงตา ซึ่งอาจมีผลจากสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ภูมิแพ้ หรือการติดเชื้อที่ดวงตา อาการแสบตามักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือส่งผลกระทบรุนแรง และสามารถดูแลดวงตาเพื่อบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเองที่บ้าน
แต่หากมีการติดเชื้อหรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในเวลาอันเหมาะสม ก็อาจเป็นอันตรายจนทำให้เกิดความเสียหายต่อดวงตา หรือสูญเสียการมองเห็นได้ การหมั่นสังเกตอาการและไปพบแพทย์เมื่อมีอาการแสบตารุนแรง หรือมีอาการผิดปกติต่อดวงตาจึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ
สาเหตุของอาการแสบตา
แสบตาอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น
1. ตาแดง
ตาแดงเป็นโรคตาที่พบบ่อย เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่เยื่อบุตาขาว ทำให้ตาขาวเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือชมพู มีอาการแสบตา คันตา น้ำตาไหล ตาแดงเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว และเครื่องสำอางร่วมกัน
2. ภูมิแพ้
นอกจากจะก่อให้เกิดอาการที่เกี่ยวกับการหายใจ เช่น จาม คัดจมูก คันจมูก และไอ อาการภูมิแพ้ยังส่งผลต่อดวงตา เช่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล ซึ่งเรียกว่าภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic Conjunctivitis) ซึ่งจะเกิดอาการเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ มลพิษทางอากาศ สะเก็ดผิวหนังสัตว์
3. ตาแห้ง
ตาแห้งอาจเกิดจากการที่ตาผลิตน้ำตามาหล่อเลี้ยงดวงตาไม่เพียงพอ หรือน้ำตาระเหยเร็วผิดปกติ ทำให้เกิดอาการตาแห้งและแสบตา
4. สิ่งแปลกปลอมเข้าตา
อาการแสบคันหรือเคืองตามักเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา เช่น ฝุ่น ทราย ละอองเกสรดอกไม้ แมลง หรือเครื่องเทศชนิดผง สารเคมีที่ใช้ในการทำงาน น้ำหอม ควันบุหรี่ ซึ่งบางครั้งอาจขีดข่วนกระจกตาหรือทำให้เกิดการระคายเคืองและเจ็บปวดได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการขยี้ตาเพื่อลดความเสี่ยงในการสร้างความเสียหายให้กับดวงตา
5. เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis)
การอักเสบของเปลือกตาเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันที่โคนขนตา หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเกิดกับดวงตาทั้ง 2 ข้างหรือข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ ทำให้มีอาการตาบวม คันตา แสบตา และมีสะเก็ดเล็ก ๆ คล้ายรังแคที่เปลือกตา
6. พฤติกรรม
อาการแสบตาอาจเกิดจากพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น
- การใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่ถูกวิธี เช่น ไม่รักษาความสะอาด ใส่คอนแทคเลนส์นานเกินไป หรือใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น
- การใช้น้ำยาหยอดตาหมดอายุ การใช้เครื่องสำอางตกแต่งดวงตาร่วมกับผู้อื่น
- การบาดเจ็บ อาการแสบตาอาจเกิดขึ้นจากการได้รับอุบัติเหตุระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเล่นกีฬา
- การมองแสงแดดจ้าเป็นเวลานาน รังสียูวี (UV) ในแสงแดดจะทำลายดวงตา ทำให้เกิดอาการแสบตาได้
7. โรคอื่น ๆ
แสบตาอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ เช่น งูสวัด โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชียที่บริเวณดวงตา และโรคต้อเนื้อ (Pterygium)
อาการแสบตา
อาการแสบตามักเกิดขึ้นร่วมกับอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ตาแดงเรื่อ ๆ หรือตาแดงมาก
- เปลือกตาบวม
- ตาแฉะ
- มีขี้ตาสีเหลืองหรือเขียว
- มีคราบเหลืองบริเวณโคนขนตาหรือหัวตา
- ตาไวต่อแสงหรือแพ้แสง
- ลืมตาลำบากในตอนเช้าเนื่องจากดวงตาชื้นแฉะ
- ในกรณีที่รุนแรง อาจมีรอยแผลหรือรอยขีดข่วนบนกระจกตา ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
อาการแสบตาที่ควรไปพบแพทย์
หากอาการตาแดงไม่หายหรือดีขึ้นภายใน 3–5 วัน หรือมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์
- เปลือกตาบวมอักเสบมากขึ้น
- ขี้ตาเป็นสีเขียว ซึ่งอาจเป็นผลจากเชื้อแบคทีเรีย
- เจ็บมากหรือดวงตาไวต่อแสงมากขึ้น
- ความสามารถในการมองเห็นลดลง เห็นภาพมัว
การวินิจฉัยอาการแสบตา
แพทย์อาจสอบถามลักษณะอาการที่เกิดขึ้น ระยะเวลาที่เกิดอาการ ประวัติการบาดเจ็บบริเวณดวงตา การใส่คอนแทคเลนส์ จากนั้นแพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น
- ตรวจบริเวณเปลือกตา เยื่อบุตา กระจกตารวมถึงปฏิกิริยาในการตอบสนองต่อแสง ขนาดรูม่านตา การเคลื่อนไหวของดวงตา และความสามารถในการมองเห็น
- ใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจตาชนิดลำแสงแคบ หรือ Slit Lamp ซึ่งช่วยขยายภาพหรือความผิดปกติที่จอประสาทตา
- ใช้สารเรืองแสง (Fluorescent Dye) ก่อนการตรวจตาด้วยกล้อง Slit Lamp เพื่อให้มองเห็นบริเวณที่เกิดอาการได้ชัดเจนขึ้น
- เก็บตัวอย่างขี้ตาหรือน้ำตาในการตรวจหาเชื้อเพิ่มเติม
การรักษาอาการแสบตา
การรักษาอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยสามารถใช้วิธีการรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้น หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
การดูแลตนเอง
การบรรเทาอาการแสบตาอาจทำได้โดย
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
- ประคบเย็นบนดวงตาเพื่อลดอาการคัน
- ประคบร้อนบริเวณดวงตา และใช้สำลีจุ่มแชมพูเด็ก เพื่อเช็ดทำความสะอาดคราบบริเวณเปลือกตา
- หยอดน้ำตาเทียม เพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง แสบ คัน และระคายเคือง
- หากผู้ป่วยมีโรคภูมิแพ้ให้หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองจากต้นไม้ ขนสัตว์ และเครื่องสำอาง
- ผู้ที่มีอาการตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อไวรัส ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาข้างที่ไม่มีการอักเสบ เนื่องจากอาจทำให้การอักเสบลุกลามได้
การรักษาโดยการแพทย์
การรักษาอาการมักขึ้นอยู่กับลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละคน กรณีมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและปลอดภัย
นอกจากนี้ แพทย์อาจจ่ายยาต่าง ๆ เพื่อรักษาอาการแสบตา ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ เช่น
- ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ให้กับผู้มีอาการแสบตาจากภูมิแพ้
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) และยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) สำหรับผู้ที่มีอาการจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ยาหยอดตากลุ่มต้านไวรัส (Antiviral) หรือขี้ผึ้งทาตาสำหรับการติดเชื้อจากไวรัส แต่โดยส่วนใหญ่อาการติดเชื้อจากไวรัสมักบรรเทาได้เองภายใน 2–3 สัปดาห์
- ยาหยอดตากลุ่มสารหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา (Lubricant) มักใช้เพื่อรักษาอาการตาแห้ง
โดยทั่วไป หากผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ จะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและหายเป็นปกติได้ในเวลา 1–2 สัปดาห์ เว้นแต่ในกรณีที่มีอาการเรื้อรังหรือตาแห้งร่วมด้วย
การป้องกันอาการแสบตา
การป้องกันและรักษาดวงตาคือ วิธีการที่ช่วยไม่ให้เกิดปัญหาในการมองเห็นหรือการสูญเสียการมองเห็นได้ ซึ่งมีวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอหลังจากสัมผัสดวงตา
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งต่าง ๆ ร่วมกับผู้มีดวงตาติดเชื้อ เช่น ชุดเครื่องนอน คอนแทคเลนส์ แว่นตาหรือแว่นกันแดด ผ้าเช็ดตัว และแปรงแต่งหน้า เป็นต้น
- หากมีการติดเชื้อ ควรล้างมือภายหลังการสัมผัสดวงตาที่ติดเชื้อ หรือบริเวณอื่น ๆ บนใบหน้าเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
- สวมแว่นนิรภัยหรือแว่นตาป้องกันขณะเล่นกีฬาหรือทำงานในบริเวณที่มีสารเคมีหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ
- ทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ และตลับคอนแทคเลนส์ให้เหมาะสม ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่และถอดคอนแทคเลนส์
- ไม่ควรไว้เล็บยาว เนื่องจากอาจขีดข่วนคอนแทคเลนส์ขณะใส่และถอดได้
- ไม่ใช้น้ำยาหยอดตาหรือน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์หมดอายุ