โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone: GH) คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากต่อมใต้สมอง และเข้าสู่กระแสเลือด มีหน้าที่สำคัญในการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้เติบโตสมวัย
ในการผลิตโกรทฮอร์โมนของร่างกายจะถูกควบคุมอีกทีด้วยฮอร์โมนที่ผลิตจากสมองส่วนไฮโปทาลามัสภายในสมอง และฮอร์โมนที่ถูกผลิตขึ้นภายในทางเดินอาหารและตับอ่อน นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีโกรทฮอร์โมนชนิดสังเคราะห์ ที่เกิดจากการสร้างขึ้นภายในนอกร่างกาย และนำมาใช้เพื่อทดแทนในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดโกรทฮอร์โมน และช่วยเสริมความแข็งแรงและกล้ามเนื้ออีกด้วย
โกรทฮอร์โมนทำงานอย่างไร ?
โกรทฮอร์โมน เป็นสารเคมีในร่างกายที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อความสูง รวมทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก ซึ่งระดับของฮอร์โมนดังกล่าวมีการผกผันอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน วัยที่มีระดับโกรทฮอร์โมนสูงสุด คือ วัยเด็ก และวัยแรกรุ่น เนื่องจากเป็นวัยเจริญเติบโต และฮอร์โมนนี้จะค่อย ๆ ลดระดับลงเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน นอกจากนี้โกรทฮอร์โมนยังมีหน้าที่หลักในตลอดช่วงชีวิตของคนคือ ช่วยในการทำงานของสมอง ควบคุมปริมาณไขมันและกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมเนื้อเยื่อเนื้อเยื่อ และกระดูกภายในร่างกาย ไปจนถึงระบบเผาผลาญ เช่น การทำงานของอินซูลิน และระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย
ขณะที่ปริมาณของโกรทฮอร์โมนในร่างกายของแต่ละคนจะแตกต่างกัน โดยมีการศึกษาหนึ่งพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกิน จะมีระดับฮอร์โมนดังกล่าวน้อยกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ แต่ก็ไม่มีการพบว่าการได้รับฮอร์โมนเสริมจะช่วยให้ลดน้ำหนักได้มากขึ้น พบแต่เพียงว่าสามารถช่วยในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพิ่มมวลกระดูก และลดปริมาณไขมันในร่างกายเท่านั้น
ทว่าในปัจจุบันโกรทฮอร์โมนรู้จักกันในฐานะสารที่ช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อ ซึ่งนับเป็นสารที่ห้ามใช้ในการแข่งขันกีฬาระดับโลก เนื่องจากมีการศึกษาบางส่วนพบว่าฮอร์โมนนี้สามารถกระตุ้นประสิทธิภาพของนักกีฬาได้
ประโยชน์ของโกรทฮอร์โมน
ขณะที่โกรทฮอร์โมนที่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ตามธรรมชาติจะช่วยควบคุมการเจริญเติบโต และการทำงานต่าง ๆ ในร่างกาย โกรทฮอร์โมนชนิดสังเคราะห์ก็มีประโยชน์ในการนำมาใช้เพื่อรักษาความผิดปกติเกี่ยวกับการเจริญเติบโตต่าง ๆ ของเด็ก เช่น
- โรคเทอร์เนอร์ซินโดรม (Turner's Syndrome) ความผิดปกติทางพันธุกรรมในเด็กหญิงที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโต
- กลุ่มอาการเพรเดอร์-วิลลี (Prader-Willi Syndrome) ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีระดับฮอร์โมนเพศต่ำ และมีความรู้สึกหิวตลอดเวลา
- ภาวะขาดโกรทฮอร์โมน หรือพร่องโกรทฮอร์โมนในร่างกายโรคไตชนิดเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease)
- เสริมสร้างการเจริญเติบโตในทารกที่คลอดก่อนกำหนด
นอกจากนี้ในผู้ใหญ่ การใช้โกรทฮอร์โมนชนิดสังเคราะห์ยังได้รับการรับรองว่าสามารถใช้เพื่อรักษาโรคเหล่านี้ได้ดังต่อไปนี้
- กลุ่มอาการลำไส้สั้น (Short Bowel Syndrome) ปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารที่เกิดขึ้นจากโรคลำไส้ที่รุนแรง เกิดจากการผ่าตัดนำเอาลำไส้เล็กออกไปในปริมาณมาก ทำให้ร่างกายมีการดูดซึมสารอาหารลดลง
- การติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
- ภาวะพร่องโกรทฮอร์โมน เนื่องจากเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง หรือเกิดจากการรักษาความผิดปกติของต่อมใต้สมอง
อันตรายจากโกรทฮอร์โมน
แม้จะช่วยในการรักษาโรคบางชนิดได้ แต่โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ก็ยังมีอันตราย มีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า หากฉีดฮอร์โมนชนิดนี้แล้วจะช่วยลดประมาณไขมันสะสม และช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้มากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ไม่มีผลการศึกษาใดยืนยันได้ว่า ฮอร์โมนสังเคราะห์ชนิดนี้สามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพการนอนหลับ เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ หรือชะลอความแก่ก่อนวัยได้ นอกจากนี้ การใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์เหล่านี้อาจส่งผลข้างเคียงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ โดยอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น
- อาการบวมน้ำ
- อาการปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นประสาท
- โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome)
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
- เกิดอาการเหน็บขาที่บริเวณผิวหนัง
- ในเพศชาย อาจก่อให้เกิดอาการหน้าอกโตผิดปกติได้
ที่สำคัญการใช้โกรทฮอร์โมนในระยะยาวอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพร้ายแรง จนถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นจึงต้องรักษาต่อไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในอนาคต
โกรทฮอร์โมนในร่างกายต่ำก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง ?
ระดับโกรทฮอร์โมนที่ต่ำมากผิดปกติในวัยผู้ใหญ่จะนำมาสู่ภาวะพร่องโกรทฮอร์โมนได้ สาเหตุที่ทำให้ระดับฮอร์โมนนี้ต่ำมากเกินไปจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายนั้นเกิดขึ้นจากปัญหาที่ต่อมใต้สมอง อย่างเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือการฉายรังสี ทั้งนี้ภาวะพร่องโกรทฮอร์โมนอาจก่อให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- มวลกระดูกลดลง หากไม่รักษาอาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้
- มวลกล้ามเนื้อลดลง
- อ่อนเพลีย
- เกิดภาวะซึมเศร้า
- มีปัญหาเรื่องความทรงจำ
- ไขมันในร่างกายมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณเอว
ทั้งนี้นอกจากการรักษาที่ต้นเหตุแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการเพิ่มระดับโกรทฮอร์โมนในร่างกายขึ้นด้วยการเพิ่มฮอร์โมนสังเคราะห์ร่วมด้วย เพื่อบรรเทาความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นตามมา
ภาวะพร่องโกรทฮอร์โมนรักษาอย่างไร ?
โกรทฮอร์โมนชนิดสังเคราะห์ เป็นสารที่นำมาใช้เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนดังกล่าวให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะให้โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์นี้ผ่านทางการฉีดเข้าร่างกาย ซึ่งก่อนจะได้รับฮอร์โมนดังกล่าวผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจพิเศษเพื่อวัดระดับโกรทฮอร์โมน
การฉีดโกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ในเด็กจะช่วยกระตุ้นให้เด็กเจริญเติบโตได้เป็นปกติมากขึ้น ส่วนในผู้ใหญ่ก็สามารถช่วยเพิ่มปริมาณโกรทฮอร์โมนในร่างกายได้ อีกทั้งยังช่วยป้องกันการแตกหักของกระดูก เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ทำให้มีพละกำลังมากขึ้น รวมถีงช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจในอนาคตได้ แต่หากใช้มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน
ได้รับโกรทฮอร์โมนมากเกินไปส่งผลเสียอย่างไร ?
โกรทฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายควรมีในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อร่างกาย แต่หากมากเกินไปก็อาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยอาจทำให้เกิดโรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการได้รับโกรทฮอร์โมนมากเกิน เกิดขึ้นได้จากการเกิดเนื้องอกในต่อมใต้สมอง หรือเกิดจากการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ อาการที่สามารถเห็นได้ชัดจากโรคนี้คือการเจริญเติบโตของกระดูกที่มากผิดปกติ ที่บริเวณใบหน้า มือ และเท้า อีกทั้งอาจทำให้ผิวหนังหนา และกระด้าง หรือมีขนตามตัวมากผิดปกติ
ไม่เพียงเท่านั้นโรคอะโครเมกาลียังมีผลข้างเคียงที่ก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจได้ หากโรคนี้ที่มีสาเหตุจากเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอเกิดขึ้นในเด็กก็อาจทำให้เด็กเจริญเติบโตมากเกินไปจนทำให้มีรูปร่างใหญ่โตเกินกว่าคนปกติในวัยเดียวกันได้ ส่วนเด็กที่เกิดโรคดังกล่าวจากการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์จะไม่เกิดการเติบโตที่ผิดปกติ
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ที่ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ในปริมาณมาก ๆ ก็จะทำให้เกิดภาวะกระดูกหนา เนื้อเยื่อเกี่ยวพันในกล้ามเนื้อขยายตัวมากขึ้น ทำให้ดูเหมือนมีกล้ามเนื้อมากขึ้นและแข็งแรงขึ้น แต่จริง ๆ แล้วกล้ามเนื้อที่ใหญ่ขึ้นนั้นจะไม่มีความแข็งแรง หากใช้ติดต่อกันในปริมาณมาก ๆ เป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อทั่วร่างกายอ่อนแรงแม้กระทั่งหัวใจด้วย
ใครไม่ควรใช้การรักษาด้วยโกรทฮอร์โมน ?
การรักษาด้วยโกรทฮอร์โมนไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับทุกคนเสมอไป และอาจยิ่งส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีประวัติการแพ้โกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ หรือเบนซิล แอลกอฮอล์
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาปอดล้มเหลว หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด อาการบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุทางการแพทย์
- ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวการดวงตาอันเนื่องมาจากโรคเบาหวาน เช่น โรคเบาหวานขึ้นตา
- ผู้ที่อยู่ในระหว่างการรักษากลุ่มอาการเพรเดอร์-วิลลี และมีน้ำหนักเกิน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอย่างรุนแรง อย่างเช่น ปัญหาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ
แต่เพื่อความปลอดภัย หากไม่แน่ใจว่าตัวเองสามารถใช้โกรทฮอร์โมนได้หรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะคนที่มีเงื่อนไขสุขภาพดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยโรคต่อมใต้สมอง
- ผู้ที่มีปัญหากระดูกสันหลังคด
- ผู้ป่วยภาวะพร่องไทรอยด์
- ผู้ที่มีประวัติบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือเนื้องอกในสมอง
- ผู้ปวยที่มีประวัติมะเร็งสมองในวัยเด็กที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี
- สตรีมีครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์