โกโก้เป็นเมล็ดของพืชชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาผลิตช็อกโกแลต ภายในโกโก้มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพซึ่งอาจนำมาใช้รักษาหรือป้องกันโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง ไขมันจากเมล็ดโกโก้อาจนำมาใช้ป้องกันผิวหนังจากริ้วรอยและรอยแตกลายได้ ทั้งนี้ แม้ว่าโกโก้จะเต็มไปด้วยคุณประโยชน์สารพัด แต่ผู้บริโภคก็ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดตามมา
คุณประโยชน์ของโกโก้
เชื่อกันว่าการบริโภคโกโก้อาจมีประโยชน์ในหลายด้าน เนื่องจากโกโก้ประกอบไปด้วยแคลอรี่ ไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร และแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเจิญเติบโตของร่างกาย เช่น โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ทองแดง เหล็ก สังกะสี แมงกานีส เป็นต้น รวมไปถึงสารอีกหลายชนิด เช่น สารต้านอนุมูลอิสระฟลาโวนอยด์ สารอีพิคาเทชิน สารคาเทชิน สารโพรไซยานิดีน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สารสำคัญต่าง ๆ ในโกโก้ย่อมส่งผลดีต่อร่างกายไม่มากก็น้อย จึงมีงานวิจัยบางส่วนค้นคว้าเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของโกโก้ไว้ ดังนี้
รักษาโรคหัวใจ
โรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น ปัญหาสุขภาพเหล่านี้อาจเป็นอันตรายจนถึงชีวิตได้
งานวิจัยในมนุษย์ชิ้นหนึ่งเผยว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์จากโกโก้อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ในทำนองเดียวกันนั้น การศึกษาทดลองหลายชิ้นในมนุษย์ยังชี้ให้เห็นอีกว่า การรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของโกโก้ซึ่งอุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์เป็นประจำในปริมาณที่เหมาะสมอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ลดความดันโลหิต และยังส่งเสริมการทำงานของหลอดเลือดอีกด้วย
แม้การศึกษาเหล่านี้จะบ่งบอกถึงคุณประโยชน์ของโกโก้ แต่ผู้บริโภคก็ควรรอการศึกษาทดลองในกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่เพิ่มเติม เพื่อให้ทราบถึงปริมาณที่เหมาะสมและรูปแบบของโกโก้ที่มีประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด
ลดความดันโลหิต
ความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่มีความดันภายในหลอดเลือดแดงมากกว่าปกติเป็นเวลานานจนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างโรคหัวใจตามมาได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
เนื่องจากสารฟลาโวนอยด์ที่พบได้ในโกโก้อาจไปเพิ่มกระบวนการสร้างไนตริกออกไซด์ในร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่ขยายหลอดเลือดและลดความดันโลหิต จึงมีการศึกษาทดลองบางส่วนที่พบว่า อาหารใด ๆ ที่ทำมาจากโกโก้อาจส่งผลให้ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีมีความดันโลหิตลดต่ำลงเล็กน้อยในระยะเวลาสั้น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการค้นคว้าในมนุษย์อีกหลายชิ้นที่ชี้ว่า การบริโภคโกโก้อาจช่วยให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดทำงานได้ดียิ่งขึ้น ลดความดันโลหิตในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเป็นภาวะความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะหัวใจวายอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรรองานวิจัยในระยะยาวเพิ่มเติม เพื่อยืนยันคุณสมบัติของโกโก้ในการลดความดันโลหิตให้แน่ชัด หากต้องการบริโภคโกโก้เพื่อหวังผลทางการรักษา ควรปรึกษาแพทย์ถึงหลักการบริโภคที่เหมาะสม
ลดคอเลสเตอรอล
คอเลสเตอรอลคือไขมันชนิดหนึ่งที่อยู่ภายในกระแสเลือด แม้ว่าร่างกายของมนุษย์จะต้องการคอเลสเตอรอลเพื่อช่วยในกระบวนการต่าง ๆ แต่ปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกายที่มากเกินไปก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ จึงมีการวิจัยให้อาสาสมัครทั้ง 42 ราย ดื่มนมที่มีส่วนผสมของผงโกโก้เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ จากการทดลองพบว่า การบริโภคโกโก้อาจช่วยลดระดับไขมันในเลือด ซึ่งอาจไปเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีที่ทำปฏิกิริยากับสารบางชนิดจนเกิดอนุมูลอิสระได้โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
นอกจากการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากภาวะคอเลสเตอรอลสูงอย่างออกกำลังกายเป็นประจำหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงแล้ว การรับประทานโกโก้ก็อาจเป็นทางหนึ่งที่ช่วยในการระดับลดคอเลสเตอรอลได้ อย่างไรก็ตาม งานทดลองนี้เป็นเพียงเป็นเพียงการทดลองขนาดเล็ก จึงควรมีการค้นคว้าทดลองประสิทธิผลของโกโก้เพิ่มเติมในอนาคต
รักษาโรคเบาหวาน
เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังซึ่งเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ หรือสร้างไม่ได้ประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดความเสียหายต่ออวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหลอดเลือดและเส้นประสาท
มีการวิจัยในมนุษย์จาก 8 ประเทศในทวีปยุโรปพบว่า อาหารซึ่งอุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์อย่างโกโก้อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ อีกทั้งยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นบ่งชี้ว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์จากโกโก้ในผู้ป่วยที่ผ่านการควบคุมอาหารและระดับน้ำตาลในเลือดมาแล้วอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการรวบรวมคำตอบจากแบบสอบถาม และการทดลองในกลุ่มตัวอย่างเฉพาะ จึงต้องรอการค้นคว้าหรือหลักฐานในอนาคตเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนผลการวิจัยมากกว่านี้
ต้านโรคหืด
โรคหืดเป็นโรคที่หลอดลมหดตัวและตีบแคบเนื่องจากการอักเสบเรื้อรัง ทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นที่เข้ามาในร่างกายมากกว่าคนปกติ ผู้ป่วยอาจมีอาการหายใจลำบาก ไอ มีเสียงหวีดขณะที่หายใจ และหายใจไม่อิ่ม แม้โรคหืดจะไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงสำหรับบางราย แต่หากอาการของโรครุนแรงขึ้นมาก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
มีข้อมูลกล่าวว่าผงโกโก้ธรรมชาติที่ไม่หวานนั้นอุดมไปด้วยสารต้านโรคหืดอย่างสารทีโอโบรมีนและสารทีโอฟีลลีน จึงเกิดการศึกษาค้นคว้าในหนูทดลอง โดยมีผลปรากฏว่า การบริโภคผงโกโก้ในรูปแบบดังกล่าวนั้นอาจช่วยลดความรุนแรงของอาการจากโรคหืดได้เมื่อรับประทานในปริมาณเดียวกับที่ใช้ในการทดลอง ทั้งนี้ ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันคุณสมบัตินี้ก่อนการสรุปผล เนื่องจากการวิจัยในครั้งนี้เป็นเพียงการศึกษาในสัตว์เท่านั้น
มีสุขภาพจิตที่ดี
นอกจากโกโก้จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายแล้วยังส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย โดยสุขภาพจิตนั้นหมายถึงการมีภาวะจิตใจที่เป็นสุข ซึ่งอาจทำให้เราสามารถรับมือกับความเครียดในชีวิต ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อีกด้วย
จากการศึกษาทดลองในกลุ่มผู้ชายมีลักษณะทางสังคมและเศรษฐกิจคล้ายกันพบว่า ผู้สูงอายุที่ชื่นชอบโกโก้อาจมีสุขภาพที่ดี มองโลกในแง่ดี และยังมีสุขภาพจิตที่ดีมากกว่าผู้ที่ชื่นชอบขนมประเภทอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าเหล่านี้เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลผ่านแบบสอบถามเท่านั้น ทำให้ผลลัพธ์ไม่เพียงพอต่อการยืนยันประสิทธิภาพของโกโก้ได้ ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
ลดน้ำหนัก
การลดน้ำหนักนั้นเกิดได้จากความสมัครใจของตนเองอย่างการควบคุมอาหารหรือการออกกำลังกาย และจากอาการเจ็บป่วยที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างมะเร็งหรือการอักเสบเรื้อรัง โดยทั่วไปการลดน้ำหนักเป็นผลมาจากการที่ไขมันในร่างกายลดลง แต่หากมีน้ำหนักลดอย่างมากก็อาจทำให้ร่างกายสูญเสียโปรตีนและสารที่จำเป็นอื่น ๆ ได้
การทดลองชิ้นหนึ่งในสัตว์เป็นระยะเวลา 18 สัปดาห์ พบว่า การบริโภคอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของผงโกโก้อาจช่วยลดอัตราการเพิ่มของน้ำหนักตัวได้ รวมทั้งเพิ่มปริมาณไขมันที่ถูกขับออกทางอุจจาระในหนูทดลองกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีไขมันสูง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการรับประทานโกโก้เพื่อหวังผลดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เนื่องจากงานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาในสัตว์ จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าสามารถนำมาใช้ในการลดน้ำหนักได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ การลดน้ำหนักนั้นอาจทำได้จากหลาย ๆ ทางควบคู่กันไป เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น โดยควรทำให้อยู่ในขอบเขตของความพอดีเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในภายหลัง
มีประโยชน์ต่อผิวหนัง
ผิวหนังของคนเราเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยอาจมีทั้งริ้วรอย จุดกระผู้สูงอายุ หรือความแห้งกร้านเกิดขึ้นได้ และหากมีผิวหนังที่เปราะบางลงและมีไขมันบนใบหน้าลดลงก็อาจทำให้ผิวไม่เรียบเนียนและเกิดการหย่อนคล้อยอีกด้วย
สำหรับประโยชน์ของโกโก้ต่อผิวหนัง มีการศึกษาในผู้หญิงที่มีสุขภาพดีทั้ง 10 ราย โดยให้ดื่มเครื่องดื่มโกโก้ซึ่งมีสารฟลาโวนอยด์ในปริมาณสูงและต่ำ ซึ่งพบว่า เครื่องดื่มโกโก้ที่มีปริมาณสารฟลาโวนอยด์ปริมาณสูงอาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดใต้ผิวหนังและความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด ในทำนองเดียวกัน งานวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาในกลุ่มผู้หญิง 2 กลุ่ม เผยว่า การรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของสารฟลาโวนอยด์จากโกโก้นั้นอาจช่วยป้องกันผิวหนังจากแสงแดด ช่วยให้เลือดใต้ผิวหนังไหลเวียนได้ดีขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผิวหนังชั้นนอกดูสวยสมบูรณ์และคงความชุ่มชื้นอีกด้วย
ทั้งนี้ คุณประโยชน์ของโกโก้เกี่ยวกับผิวหนังนั้นยังไม่ได้รับการยืนยันที่ชัดเจน เนื่องจากการศึกษาวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการทดลองในกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเล็กเท่านั้น จึงควรมีการค้นคว้าในด้านนี้เพิ่มเติมต่อไป
ความปลอดภัยในการบริโภคโกโก้
แม้จะเชื่อกันว่าโกโก้มีคุณประโยชน์มากมาย แต่ก็จำเป็นต้องรอการวิจัยมาสนับสนุนผลลัพธ์ที่กล่าวมามากขึ้น ดังนั้น ผู้บริโภคควรศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางโภชนาการเกี่ยวกับโกโก้และรับประทานโกโก้ในปริมาณที่พอดีในแต่ละวัน ซึ่งหากไม่แน่ใจก็ควรปรึกษาแพทย์ถึงการบริโภคในปริมาณและรูปแบบที่ถูกต้องก่อนเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่อาจกระทบต่อสุขภาพได้
เนื่องจากโกโก้มีส่วนประกอบของคาเฟอีนและสารเคมีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากบริโภคในปริมาณมากก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น รู้สึกกังวลใจ ปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น และสำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่ให้นมบุตร การรับประทานโกโก้อาจมีความปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะหรือปริมาณปกติที่พบได้ในมื้ออาหาร อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังไม่รับประทานจนมากเกินไปเนื่องจากคาเฟอีนในโกโก้อาจเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กได้
สำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้ควรระมัดระวังในการบริโภคโกโก้เป็นพิเศษ
- โรคหัวใจ คาเฟอีนในโกโก้อาจทำให้ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจบางรายเกิดอาการใจสั่น อีกทั้งยังเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และทำให้ผู้ที่หัวใจเต้นผิดปกติมีอาการแย่ลงได้ จึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม โดยปริมาณโกโก้ที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน คือ 19-54 กรัม ดาร์คช็อกโกแลตในปริมาณ 46-100 กรัมต่อวัน หรือผลิตภัณฑ์จากโกโก้ที่มีสารโพลีฟีนอลในปริมาณ 16.6-1080 มิลลิกรัมต่อวัน
- ความดันโลหิตสูง คาเฟอีนในโกโก้อาจเพิ่มความดันโลหิตในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงได้ แต่สำหรับผู้ที่รับประทานคาเฟอีนในปริมาณมากอยู่แล้วอาจมีความดันโลหิตสูงชึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ปริมาณโกโก้ที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับผู้ที่มีปัญหาดังกล่าว คือ ควรรับประทานช็อกโกแลตหรือโกโก้ที่ให้สารโพลีฟีนอลแก่ร่างกายในปริมาณ 25-1,080 มิลลิกรัมต่อวัน
- โรคเบาหวาน น้ำตาลในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโกโก้อาจไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงรบกวนการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ภาวะเลือดออกผิดปกติ ผลิตภัณฑ์จากโกโก้อาจชะลอการแข็งตัวของเลือดซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกผิดปกติ
- ต้อหิน คาเฟอีนในโกโก้อาจเพิ่มแรงดันภายในลูกตา ผู้ป่วยจึงควรระมัดระวังในการบริโภคโกโก้อยู่เสมอ
- กรดไหลย้อน โกโก้อาจไปขัดขวางการทำงานของหลอดอาหารจนส่งผลให้อาการของกรดไหลย้อนแย่ลงได้
- กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน และท้องเสีย หากมีการบริโภคสารคาเฟอีนจากผลิตภัณฑ์โกโก้ในปริมาณมากอาจทำให้ผู้ป่วยกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวนและผู้ป่วยท้องเสียมีอาการแย่ลง
- ปวดหัวไมเกรน โกโก้อาจไปกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนในผู้ที่ไวต่ออาการปวดได้
- โรคกระดูกพรุน สารคาเฟอีนจากโกโก้อาจทำให้ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะมากขึ้น จึงควรระมัดระวังในการรับประทานโกโก้อยู่เสมอ
- ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด การบริโภคโกโก้อาจรบกวนการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดในระหว่างและหลังการผ่าตัดได้ ดังนั้น ก่อนเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ ผู้ป่วยควรหยุดรับประทานโกโก้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- ภาวะวิตกกังวล คาเฟอีนจากโกโก้ในปริมาณมากอาจทำให้ผู้ป่วยประสบภาวะวิตกกังวลหรืออาการทรุดหนักลงได้