โครเมียม แร่ธาตุมากประโยชน์ โทษมหันต์

โครเมียม (Chromium: Cr) เป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งที่แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก คือ ไตรวาเลนต์ โครเมียม (Trivalent Chromium) ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและจำเป็นต่อร่างกาย และเฮกซะวาเลนต์ โครเมียม (Hexavalent Chromium) ที่เป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้มาจากคนละแหล่งกัน

หลายคนอาจรู้จักโครเมียมกันมาบ้างจากตารางธาตุหรือเคยได้ยินผ่านหูมาก่อน แต่อาจยังไม่ทราบว่าแร่ธาตุชนิดนี้มีประโยชน์หรือโทษอย่างไร พบได้จากไหน และหากได้รับพิษจากโลหะหนักชนิดนี้ควรทำอย่างไร ซึ่งในบทความนี้ได้รวบรวมประโยชน์ โทษ และวิธีแก้พิษเมื่อร่างกายสัมผัสกับแร่ธาตุชนิดนี้มาให้ได้ศึกษากัน

โครเมียม

ประโยชน์ของโครเมียม

Trivalent Chromium นั้นเป็นแร่ธาตุตามธรรมชาติที่เป็นมีประโยชน์ต่อร่างกาย ในแต่ละวันร่างกายต้องสารชนิดนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพื่อให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งการได้รับจากอาหารและน้ำก็อาจเพียงพอแล้ว แต่ก็มีการศึกษาที่พบคุณสมบัติบางอย่างที่อาจช่วยรักษาหรือเสริมสุขภาพบางด้านให้ดีขึ้นได้ เช่น 

รักษาและป้องกันการขาดโครเมียม

ภาวะขาดโครเมียม (Chromium Deficiency) แม้ว่าจะพบได้ยาก แต่ก็อาจพบได้ เมื่อร่างกายขาดโครเมียมอาจกระทบต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินที่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลภายในเลือดไม่สมดุลจนทำให้เกิดความผิดปกติได้ ซึ่งหากเกิดในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือดอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวาน ก็อาจเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงกว่าคนกลุ่มอื่น

นอกจากนี้ โครเมียมยังอาจใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ อย่างภาวะซึมเศร้า ภาวะไขมันในเลือดสูง และกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome) 

ช่วยปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด

สมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดเป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ไม่น้อย เมื่อระดับน้ำตาลภายในร่างกายผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำตาลสูงหรือต่ำเกินไปก็อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติหรือโรคภัยไข้เจ็บได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเบาหวาน ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานจะประสบกับภาวะระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมนอินซูลิน โดยภาวะแทรกซ้อนจากภาวะน้ำตาลสูงเกินและน้ำตาลต่ำเกินอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้

ทั้งนี้ สารอาหารและแร่ธาตุในอาหารมีผลต่อระบบร่างกายในทุก ๆ ส่วน โดยเชื่อกันว่า Trivalent Chromium มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ผลการศึกษาจากงานวิจัยจำนวนหลายชิ้นที่ศึกษาความสัมพันธ์ของแร่ธาตุชนิดนี้กับระดับน้ำตาลในเลือด พบว่าการได้รับโครเมียมอย่างเพียงพออาจช่วยปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ได้ ดังนั้น การบริโภคอาหารหรืออาหารเสริมที่มีแร่ธาตุดังกล่าวเป็นส่วนประกอบก็อาจช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกิน ซึ่งอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย

อย่างไรก็ตาม การศึกษาและงานวิจัยเหล่านี้ยังมีข้อขัดแย้งและข้อบกพร่องในบางจุด จึงควรรอผลการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพในรักษาโรค รวมไปถึงความปลอดภัยในการบริโภคทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นอกจากนี้ โครเมียมอาจถูกใช้เพื่อรักษาและบรรเทาอาการของโรคหลายโรค เช่น ภาวะซึมเศร้า กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ภาวะไขมันในเลือดสูง และโรคจิตเภท เป็นต้น

Trivalent Chromium สามารถหาได้จากอาหารชนิดต่าง ๆ เช่น มันฝรั่ง บรอกโคลี ถั่วเปลือกเขียว กล้วย องุ่น ขนมปังโฮลเกรนหรือขนมปังที่ทำมาจากธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อสัตว์ และนม โดยปริมาณที่ควรได้รับต่อวันมีดังนี้

  • เพศชาย อายุระหว่าง 19-50 ปี ควรได้รับ 35 ไมโครกรัมต่อวัน
  • เพศชาย อายุ 50 ปีขึ้น ควรได้รับ 30 ไมโครกรัมต่อวัน
  • เพศหญิง อายุระหว่าง 19-50 ปี ควรได้รับ 25 ไมโครกรัมต่อวัน
  • เพศหญิง อายุ 50 ปีขึ้น ควรได้รับ 20 ไมโครกรัมต่อวัน

การบริโภคสารอาหารชนิดนี้จากอาหารนั้นค่อนข้างที่จะปลอดภัย แต่บางกรณีก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างอาการปวดหัว นอนไม่หลับ หรือกระตุ้นอาการของโรคภูมิแพ้ สำหรับโครเมียมในรูปแบบอาหารเสริมมักไม่มีความจำเป็น เนื่องจากร่างกายต้องการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น หากต้องการใช้อาหารเสริมชนิดนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้เพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือการใช้ในเด็กและทารก เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีปริมาณสารอาหารที่ต้องการต่อวันต่างจากคนกลุ่มอื่น จึงอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงได้

โทษจากโครเมียม

นอกเหนือจากโครเมียมชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อีกชนิดก็คือ Hexavalent Chromium ที่เป็นพิษต่อร่างกาย โดยโครเมียมชนิดนี้พบได้จากสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับชิ้นส่วนรถยนต์ การผลิตและชุบโลหะ การผลิตสี การย้อมผ้า และการทำเครื่องประดับ ซึ่งกลุ่มที่เสี่ยงต่อการได้รับพิษจากแร่ธาตุชนิดนี้จึงมักเป็นพนักงานโรงงานหรือผู้ที่ใกล้ชิดกับโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ 

นอกจากนี้ โลหะหนักชนิดดังกล่าวยังพบในบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าได้อีกด้วย โดยลักษณะความผิดปกติที่เกิดจากการได้รับโครเมียมชนิดเฮกซะวาเลนต์แบ่งได้ 2 ชนิด คือ แบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ส่วนอาการที่พบอาจแบ่งได้ 3 รูปแบบ ดังนี้

ทางผิวหนังและเยื่อบุตา

โดยปกติแล้วผิวหนังของมนุษย์ดูดซึมแร่ธาตุชนิดนี้ได้น้อย การสัมผัสเป็นครั้งคราวมักไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่ผู้ที่สัมผัสสารดังกล่าวอยู่เป็นประจำอาจเกิดภาวะเป็นพิษชนิดเรื้อรังได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผล ซึ่ง Hexavalent Chromium ก็อาจเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายได้ โดยอาการทั่วไปหลังรับแร่ธาตุนี้อาจส่งผลให้เกิดแผลบริเวณผิวหนังที่ทางการแพทย์เรียกว่า Chrome Sore ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษาหลายสัปดาห์

นอกจากนี้ อาการชนิดรุนแรงจากการได้รับพิษทางผิวหนังอาจส่งผลให้เกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ตาแดง หรือโรคผิวหนังอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งสัญญาณของภาวะเหล่าอาจสังเกตได้จากผื่นแดง ผิวแห้งลอก ผิวแตก เกิดแผล อาการบวมตามผิวหนัง น้ำตาไหล ระคายเคืองตา ตาแดง แสบร้อน เปลือกตาบวม และมองเห็นไม่ชัด 

ทางการสูดดม

การสูดดมโลหะหนักชนิดนี้ในปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานานอาจส่งทำให้ภาวะเป็นพิษชนิดเรื้อรังได้เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการและโรคต่อไปนี้

  • โรคจมูกอักเสบ
  • ภาวะผนังกั้นโพรงจมูกเกิดรูทะลุ (Perforation of Nasal Septum)
  • ระบบทางเดินหายใจระคายเคือง
  • โรคปอดจากการประกอบอาชีพ อย่างโรคปอดนิวโมโคนิโอสิส (Pneumoconiosis)

ในเบื้องต้นอาจสังเกตได้จากอาการเจ็บคอ ไอ จาม น้ำมูกไหล เลือดกำเดาไหล หายใจถี่ หายใจมีเสียงหวีด นอกจากนี้ Hexavalent Chromium ยังจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็ง หากสูดดมอย่างต่อเนื่องอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด

ทางการรับประทาน

การเกิดอุบัติเหตุจนได้รับโครเมียมผ่านทางการรับประทานอาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษเฉียบพลัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการและภาวะ ดังนี้

  • ระบบทางเดินอาหารอักเสบเฉียบพลัน
  • เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ภาวะขาดน้ำและสมดุลแร่ธาตุในร่างกายผิดปกติ (Electrolyte Imbalance)
  • โลหิตจางจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
  • เนื้อเยื่อตับตาย (Hepatic Necrosis)
  • ภาวะไตวาย
  • ภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติชนิดรุนแรง
  • ช็อกและเสียชีวิต

หากพบว่ามีอาการ เช่น ปวดท้อง บ้านหมุน กระหายน้ำ อาเจียนสีเขียวหรือสีเหลือง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ชัก หรือพบคนได้รับสารพิษชนิดใดก็ตามให้พาบุคคลดังกล่าวไปส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

วิธีรับมือกับพิษจากโครเมียม

ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษสำหรับสารพิษชนิดนี้โดยตรง การรักษาหลักจึงมักเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการที่เกิดขึ้น ในเบื้องต้นหากได้รับโลหะหนักชนิดดังกล่าวอาจปฐมพยาบาลได้ดังนี้

  • สังเกตอาการของผู้ป่วย เช่น อาเจียนเป็นเลือด เหนื่อย อ่อนเพลีย หายใจหอบเหนื่อย ปัสสาวะออกน้อย หรือชัก หากมีสัญญาณของอาการเหล่านี้ ควรพาไปโรงพยาบาลทันที
  • หากได้รับโครเมียมผ่านทางการรับประทาน ห้ามกระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียนเด็ดขาด เพราะอาจทำให้สารพิษย้อนขึ้นมาทำลายทางเดินอาหารส่วนบนและทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ถ้าสัมผัสโดนโครเมียมผ่านทางผิวหนังและดวงตา ควรใช้น้ำเปล่าล้างบริเวณกล่าวในปริมาณมาก ๆ ต่อเนื่องกันจนอาการดีขึ้น

เมื่อถึงโรงพยาบาล หากได้รับสารพิษผ่านทางการรับประทานเข้าไป แพทย์ทำการสวนล้างกระเพาะด้วยมิลค์ออฟแมกนีเซียม (Magnesium hydroxide) หรือยาลดกรดเข้าไปในกระเพาะผ่านทางท่อ นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือทำการตรวจอื่น ๆ เพื่อหาผลกระทบจากการได้รับสารพิษและทำการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นต่อไป

สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่มีโครเมียมหรือสารอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบ ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน อย่างหน้ากากอนามัยที่สามารถกรองสารปนเปื้อนในอากาศขนาดเล็กได้ สวมเสื้อผ้าที่ออกแบบสำหรับการทำงานโดยสวมอย่างถูกต้องและมิดชิด ทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังสัมผัสกับสารเคมี แยกซักชุดทำงานกับเสื้อผ้าปกติ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และที่สำคัญคือการสัมผัสหรือทำงานกับสารเหล่านี้อย่างระมัดระวังอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม อย่างโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โรงงานพ่นสี โรงงานผลิตโลหะ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแหล่งน้ำบริเวณดังกล่าว เนื่องจากน้ำเสียจากโรงงานเหล่านี้มักปนเปื้อนสารพิษหลายชนิด อีกทั้งฝุ่นควันจากโรงงานอาจส่งผลให้สารพิษปนเปื้อนในอากาศ การสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อสุขภาพ จึงควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีโรคหรือข้อจำกัดก็ควรให้ร่างกายได้รับโครเมียมชนิดไตรวาเลนต์อย่างเพียงพอ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงและปราศจากโรค