โคลิคคืออาการของทารกที่มีอายุราว ๆ 2–4 สัปดาห์ ที่ร้องไห้อย่างหนักโดยไม่ทราบสาเหตุและไม่สามารถกล่อมให้หยุดร้องไห้ได้ ถือว่าเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้กับทารกทุกคน ทั้งเพศชายและเพศหญิง แม้จะมีสุขภาพดี หรือรับประทานนมได้ตามปกติก็ตาม โดยทั่วไป เมื่อทารกรู้สึกหิว กลัว เหนื่อย หรือรู้สึกเปียกชื้นมักจะส่งเสียงร้องไห้ออกมา แต่บางครั้งลูกน้อยอาจตื่นมาร้องไห้เสียงดังกลางดึกและร้องไห้ยาวนานกว่าปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของอาการโคลิค
เด็กที่มีอาการโคลิคมักจะร้องไห้หนักมาก และร้องไห้ในช่วงเวลาเดิม ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาเย็นหรือหัวค่ำ และจะร้องเสียงดัง เสียงแหลม และนานกว่าปกติ โดยรวมแล้วจะร้องไห้ประมาณวันละ 3 ชั่วโมง มากกว่าสัปดาห์ละ 3 วัน และยาวนานอย่างน้อย 3 สัปดาห์หรือบางรายอาจนานกว่านั้น และอาจมีอาการดีขึ้นเมื่ออายุประมาณ 3–4 เดือน
สาเหตุของโคลิค
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการโคลิค แต่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น
- การหดเกร็งของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร
- มีลมหรือแก๊สในท้องมาก ซึ่งการร้องไห้อาจทำให้ทารกกลืนลมจำนวนมากเข้าไปในท้อง
- อาการปวดท้องที่มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนในร่างกายปรับเปลี่ยน
- การถูกรบกวนหรือถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกมากเกินไป เช่น เสียง แสงไฟ เป็นต้น
- พื้นฐานทางอารมณ์ของทารก หรือเด็กที่พ่อแม่มีปัญหาทางอารมณ์
- การพัฒนาของระบบประสาทที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือการระคายเคืองของระบบประสาท
- ปัญหาจากการป้อนนม ได้แก่ ป้อนมากเกินไป น้อยเกินไป หรือป้อนผิดวิธี
- ปัญหาทางสุขภาพของทารก เช่น กรดไหลย้อน หูอักเสบ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ไส้เลื่อน แพ้นมวัว ผื่นผ้าอ้อม เป็นต้น
สัญญาณที่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์
ถึงแม้ว่าการร้องไห้โยเยของเจ้าตัวน้อยจะเป็นเรื่องปกติแต่หากคุณพ่อคุณแม่กังวลใจหรือสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการรับประทาน การนอน หรือการร้องไห้ที่ผิดปกติไปจากเดิมก็อาจไปปรึกษาแพทย์ได้ และหากพบว่าลูกน้อยมีอาการต่อไปนี้ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
- ร้องไห้หนักมาก ร้องนาน ร้องเสียงแหลม หรือกระสับกระส่าย
- อุ้มขึ้นมาและทารกตัวอ่อนปวกเปียก
- ไม่ยอมกินนม
- อาเจียนเป็นของเหลวสีเขียว ๆ
- อุจจาระเป็นเลือด
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสสำหรับทารกที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน หรือมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสสำหรับทารกที่อายุ 3–6 เดือน
- กระหม่อมบุ๋ม
- ตัวเขียว หรือผิวซีด
- มีอาการชัก
- มีอาการหายใจผิดปกติ
การรักษาสำหรับเด็กที่มีอาการโคลิค
เนื่องจากอาการโคลิคนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้จึงยังไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ อีกทั้งอาการโคลิคมักจะดีขึ้นหรือหายไปเองเมื่อทารกมีอายุประมาณ 3–4 เดือน แต่ยาบางชนิดก็อาจช่วยได้ เช่น ไซเมทิโคน โดยหยดลงในขวดน้ำหรือป้ายที่นมแม่ก่อนให้นม ซึ่งจะช่วยลดแก๊สหรือกรดเกินในกระเพาะอาหารของทารก อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสำหรับทารกควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย ทั้งปริมาณ ขนาด รวมถึงระยะเวลาในการใช้ยา
รับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยมีอาการโคลิค
เมื่อเจ้าตัวน้อยร้องไห้ อาจแสดงถึงความต้องการว่าหิว เหนื่อย กลัว หรืออาจร้องไห้เพราะเจ็บป่วยหรือเป็นผลมาจากความผิดปกติในร่างกาย ดังนั้น สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อลูกน้อยร้องไห้หนักคือพาไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจสอบว่ามีความผิดปกติทางร่างกายเกิดขึ้นหรือไม่ จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลรักษาสุขภาพกายและใจ อาจเริ่มจากการพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับอาการโคลิคของลูกน้อย
การรับมือกับอาการโคลิคทำได้หลายวิธี แต่บอกไม่ได้ว่าวิธีไหนคือวิธีที่ดีที่สุด อาจต้องใช้เวลาในการค้นหาหรือทดลองจนกว่าจะเจอวิธีที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่อาจลองปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- ตรวจสอบความชื้นของผ้าอ้อมหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปว่าเปียกหรือชื้นมากเกินไปจนทำให้เจ้าตัวน้อยไม่สบายตัวหรือเปล่า ปรับอุณหภูมิภายในห้องให้ไม่หนาวหรือร้อนจนเกินไป ป้อนนมให้ลูกน้อยท้องอิ่มจะได้ไม่ร้องไห้โยเย
- บางครั้งทารกร้องไห้อาจจะไม่ได้หิวนมเสมอไป เพียงแค่ต้องการหรืออยากจะดูดบางอย่าง คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกน้อยดูดจุกหลอกหรือดูดนิ้วมือของทารกเองก็ได้
- อุ้มเจ้าตัวน้อยในอ้อมแขนแล้วโยกไปมาเบา ๆ ให้รู้สึกถึงความใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่ หรือใช้เป้อุ้มเด็กแล้วพาออกไปเดินเปลี่ยนบรรยากาศภายนอก อาจช่วยให้ทารกสงบลงได้
- นวดผ่อนคลาย เหมาะสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป นอกจากจะช่วยผ่อนคลายทารกแล้วยังช่วยไล่ลมและกระตุ้นระบบย่อยอาหารได้อีกด้วย ทำได้ทุกวันเพื่อสุขภาพที่ดีของเจ้าตัวน้อยตามท่าดังต่อไปนี้
- ท่าวนเป็นก้นหอย ใช้นิ้วมือแตะที่บริเวณสะดือแล้วนวดวนเป็นก้นหอย ทิศทางตามเข็มนาฬิกาจากด้านในออกสู่ด้านข้างหรือด้านล่างของลำตัว ไออุ่นของนิ้วมือจะช่วยให้ทารกผ่อนคลายและรู้สึกสงบลง
- ท่าเท้าแตะปลายจมูก เป็นท่าที่ช่วยไล่ลม โดยให้ทารกนอนหงาย งอเข่าเล็กน้อย จับฝ่าเท้าทั้ง 2 ชนติดกัน แล้วพยายามยกไปแตะที่ปลายจมูก
- ท่าบิดหมุน ให้ทารกนอนหงาย พยายามให้ช่วงตัวครึ่งบนราบติดพื้น เหยียดขาตรงหรืองอเข่าเล็กน้อย จับที่ปลายเท้าของทารก แล้วโยกไปมาจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ท่านี้อาจช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายได้
- ท่างอและยืดขา ให้ทารกนอนราบไปกับพื้น เหยียดขาตรง แล้วจับปลายเท้าของทารกขึ้นให้เข่างอไปแตะที่บริเวณกลางลำตัว ท่านี้จะช่วยไล่ลมได้เช่นเดียวกัน
- ท่านิ้วโป้งนวดวน ให้ทารกอยู่ในท่าที่สบาย แล้วใช้นิ้วโป้งนวดวนเป็นก้นหอยที่บริเวณฝ่าเท้าหรือฝ่ามือของทารก จะส่งผลดีต่อระบบย่อยอาหารและไล่ลมได้
คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองที่ลูกน้อยมีอาการโคลิค
การดูแลและรับมือกับลูกน้อยที่มีอาการโคลิคนั้นอาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจต้องทำการบ้านหนักสักหน่อย อย่างไรก็ตาม ควรนึกอยู่เสมอว่าอาการโคลิคไม่ใช่ความผิดของใคร ถือเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้กับทารกทุกคน อาการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ลูกน้อยมักจะหยุดร้องเมื่อมีอายุย่างเข้า 4–6 เดือน
ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเองให้ดี หากรับมือไม่ไหว อาจขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ และสมาชิกในครอบครัวให้ผลัดกันช่วยดูแลในยามที่ลูกน้อยมีอาการโคลิค หรือสามารถขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพเด็กได้ที่สายด่วนโรงพยาบาลเด็ก หมายเลขโทรศัพท์ 1415