โยคะชำระโรค

โยคะ คือ การฝึกฝนร่างกายและจิตใจ ด้วยชุดท่าที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนาความแข็งแรงและเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกายประกอบกับการหายใจ ทำให้เกิดสมาธิและความผ่อนคลาย ซึ่งเป็นการฝึกฝนเพื่อให้สุขภาพร่างกายและจิตใจเกิดความสมดุล

โยคะ

โยคะมีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดียและมีการฝึกฝนกันมาอย่างยาวนานนับ 5,000 ปี และต่อมาได้มีการนำมาดัดแปลงฝึกฝนกันในประเทศอื่น ๆ หลากหลายรูปแบบ จนถึงปัจจุบันได้เป็นการฝึกฝนร่างกายชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและพบเห็นได้ทั่วไป เช่น ศูนย์ออกกำลังกาย โรงเรียนสอนโยคะ หรือโรงพยาบาล

โยคะมีกี่ประเภท ?

โยคะมีมากกว่า 100 ประเภท โดยแต่ละประเภทจะมีความแตกกันไป บางประเภทจะมีท่วงท่าที่รวดเร็วและมีความเข้มข้นในการฝึกสูง และบางประเภทก็จะมีท่วงท่าที่นุ่มนวลและเน้นความผ่อนคลาย รวมไปถึงวิธีการหายใจของแต่ละประเภทก็จะมีความแตกต่างกันไป

ตัวอย่างประเภทของโยคะ เช่น

  • หฐโยคะ (Hatha)
  • วินยาสะโยคะ (Vinyasa)
  • อัษฎางค์โยคะ (Ashtanga)
  • โยคะร้อน (Bikram)
  • ไอเยนการ์โยคะ (Iyengar)
  • ศิวะนันทะโยคะ (Sivananda)
  • พาวเวอร์โยคะ (Power Yoga)

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถบอกได้ว่าโยคะประเภทใดดีที่สุดหรือแต่ละประเภทดีกว่ากันอย่างไร ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สามารถเลือกประเภทของโยคะได้อย่างเหมาะสม จะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ฝึกและความต้องการส่วนตัวของผู้ฝึกเอง แต่โดยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโยคะประเภทใดก็ล้วนแต่เกิดผลดีต่อผู้ฝึกทั้งสิ้น

ระดับความเข้มข้นของการฝึกโยคะ

ระดับความเข้มข้นในการฝึกโยคะจะขึ้นอยู่กับประเภทของโยคะที่เลือกฝึก ตัวอย่างเช่น หฐโยคะและไอเยนการ์โยคะ จะมีท่วงท่าที่นุ่มนวลและช้า ส่วนโยคะร้อนและพาวเวอร์โยคะ (Power Yoga) จะมีท่วงท่าที่รวดเร็วและมีความท้าทายมากกว่า โดยผู้ที่ต้องการฝึกโยคะสามารถสอบถามถึงรายและเอียดในการฝึกโยคะแต่ละประเภทได้กับครูสอนโยคะที่ได้ผ่านการอบรม เพื่อให้ทราบว่าตนเองเหมาะกับโยคะประเภทใด

ลักษณะเฉพาะของการฝึกโยคะ

  • ฝึกความแข็งแรง เพราะโยคะเป็นการออกกำลังที่ต้องใช้พละกำลังของร่างกายในการทรงตัวหรือควบคุมให้ร่างกายอยู่ในท่าที่สมดุล ซึ่งการฝึกโยคะเป็นประจำจะทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา หลัง และกล้ามเนื้อแกนกลาง มีความแข็งแรง
  • ฝึกความยืดหยุ่น เพราะท่าฝึกโยคะจะช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อและช่วยให้สามารถขยับร่างกายได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อฝึกเป็นประจำก็จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับร่างกายได้
  • เป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ (Low-Impact) แม้ว่าการฝึกโยคะจะเป็นการฝึกบริหารที่ใช้ทุกส่วนของร่างกาย แต่ก็จะไม่ทำให้เกิดแรงกระแทกใด ๆ ต่อข้อต่อ

องค์ประกอบสำคัญของการเล่นโยคะโดยทั่วไป

  • การวางท่า เป็นชุดท่าเคลื่อนไหวที่ออกแบบมาเพื่อให้ฝึกความแข็งแรงและความยืดหยุ่น ตั้งแต่ลำดับท่าที่เริ่มจากการนอนลงบนพื้นด้วยความผ่อนคลาย ไปจนถึงท่าที่ต้องใช้ความทนทานของร่างกายมากขึ้น
  • การหายใจ การควบคุมการหายใจเป็นสิ่งที่สำคัญของการเล่นโยคะ ซึ่งการฝึกการหายใจในการเล่นโยคะ จะช่วยให้สามารถควบคุมร่างกายและช่วยให้จิตใจเกิดความสงบ
  • สมาธิและการผ่อนคลาย การฝึกโยคะเป็นการฝึกร่วมกันด้วยสมาธิหรือการผ่อนคลาย โดยสมาธิจะช่วยให้เกิดสติและความรู้สึกตัวอยู่กับปัจจุบัน

ประโยชน์ของการเล่นโยคะ

โยคะเป็นการฝึกฝนร่างกายและจิตใจที่ผสมผสานระหว่างท่วงท่าที่ใช้กำลังของร่างกายและควบคุมการหายใจร่วมกับการใช้สมาธิและการผ่อนคลาย โดยมีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ฝึกมากมายดังต่อไปนี้

  • เพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย การเล่นโยคะจะช่วยฝึกและพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้มีความแข็งแรง เช่น กล้ามเนื้อแกนกลาง แขน ขา ก้น และหลัง พร้อมทั้งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ และที่สำคัญเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้เกิดแรงกระแทกน้อย ซึ่งจะไม่ส่งผลให้ข้อต่อเกิดความเสียหาย โดยมีส่วนช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรง ยืดหยุ่นและเกิดความสมดุล
  • ลดความเครียด จากการศึกษาวิจัยมากมายได้ระบุว่าการฝึกโยคะอาจมีส่วนช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล และยังอาจช่วยพัฒนาอารมณ์และความสุขทางใจโดยรวมของผู้ฝึกได้อีกด้วย
  • ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือภาวะเรื้อรัง การฝึกโยคะอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคหืด โรคข้ออักเสบ โรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ นอกจากนั้น ยังอาจช่วยบรรเทาภาวะเรื้อรังบางชนิด เช่น ภาวะซึมเศร้า อาการเจ็บปวด ภาวะวิตกกังวล และอาการนอนไม่หลับ
  • ช่วยอาการปวดหลัง จากการศึกษาวิจัยพบว่า การฝึกโยคะอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดหลังเรื้อรังได้ โดยผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง เมื่อได้ฝึกโยคะพบว่าอาการปวดหลังดีขึ้น นอกจากนั้น มีการศึกษาหนึ่งพบว่าผู้ที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังที่ได้รับการฝึกโยคะเพียง 1 สัปดาห์ จะมีอาการที่ดีขึ้นกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการออกกำลังกายชนิดอื่น ๆ นั่นก็เป็นเพราะการเล่นโยคะจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับร่างกายและกระดูกสันหลัง
  • อาจช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวและการประสานงานของกล้ามเนื้อผิดปกติในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) จากการวิจัยพบว่าการฝึกโยคะมีส่วนช่วยพัฒนาการทำงานของร่างกายและอารมณ์ ซึ่งมีผลช่วยให้โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งมีอาการที่ดีขึ้นได้ โดยมีการศึกษาหนึ่งพบว่า ผู้ที่ฝึกโยคะทุกสัปดาห์ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน สามารถช่วยให้อาการอ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้าจากโรคดังกล่าวดีขึ้นพอ ๆ กับการออกกำลังชนิดอื่น
  • อาจช่วยลดความตึงเครียด แล้วอาจเพิ่มโอกาสในการมีบุตรสำหรับผู้ที่มีบุตรยาก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคู่รักที่เลือกฝึกโยคะเพื่อลดความเครียดและเพิ่มโอกาสในการมีบุตรกันมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาวิจัยได้ระบุว่าการฝึกโยคะอาจมีผลดีต่อการเสริมสร้างภาวะเจริญพันธุ์ เพราะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด และช่วยส่งเสริมการทำงานต่าง ๆ ของอวัยวะในร่างกาย ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสของการมีบุตรได้ นอกจากนั้น ยังอาจช่วยให้การไหลเวียนโลหิตในส่วนอวัยวะที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ดีขึ้น ซึ่งอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะที่สำคัญในร่างกายและการทำงานของฮอร์โมนดีขึ้น
  • ช่วยบรรเทาอาการเมาค้าง โยคะเสมือนเป็นวิธีที่จะช่วยขจัดสารพิษในร่างกาย และช่วยกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย โดยเฉพาะการฝึกท่ายืนด้วยหัวไหล่ (Shoulder Stand) ท่าคันไถ (Plow) และท่าปลา ซึ่งเป็นท่าที่เชื่อว่าช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์และเพิ่มกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย จึงอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการเมาค้างได้อย่างรวดเร็ว
  • ช่วยเพิ่มความจำให้ดีขึ้น เนื่องจากการฝึกโยคะเป็นการฝึกจิตใจอย่างหนึ่ง เสมือนเป็นวิธีที่ช่วยกำจัดขยะออกไปจากร่างกายและจิตใจ โดยมีส่วนช่วยในการลดความเครียดทางอารมณ์และร่างกาย เมื่อจิตใจมีความสงบ ปลอดโปร่งและมีสติ จึงทำให้สามารถจำอะไรได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งทำให้มีความคิดที่เป็นระบบและมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น

ข้อควรระวังก่อนเล่นโยคะ

โดยทั่วไปการฝึกโยคะมีความปลอดภัยกับผู้ที่มีสุขภาพปกติและฝึกภายใต้คำแนะนำของผู้สอนที่ผ่านการอบรม อย่างไรก็ตาม การฝึกโยคะก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้ หากเป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีภาวะต่อไปนี้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนหากต้องการฝึกโยคะ เช่น

  • มีปัญหาทางสายตา เช่น ต้อหิน
  • โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน (Herniated Disk)
  • โรคกระดูกพรุนอย่างรุนแรง
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด
  • มีปัญหาในการทรงตัวอย่างรุนแรง
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงบางท่าที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์