โยเกิร์ต คือ ผลิตภัณฑ์จากนมที่ผ่านการหมักโดยใช้แบคทีเรียโปรไบโอติก (Probiotics) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดดีตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไป ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้มีประโยชน์ในการฟื้นฟูและปรับสมดุลของแบคทีเรียในระบบย่อยอาหารและอวัยวะเพศหญิง การรับประทานโยเกิร์ตจึงอาจช่วยในการบรรเทาอาการท้องเสียหรือการติดเชื้อราในช่องคลอดให้ดีขึ้นได้
ตัวอย่างแบคทีเรีย เช่น แลคโตบาซิลลัสแอซิโดฟิลัส (Lactobacillus Acidophilus) แลคโตบาซิลลัส แรมโนซัส (Lactobacillus Rhamnosus) แลคโตบาซิลลัส บัลการิคัส (Lactobacillus Bulgaricus) เอนเทอโรค็อกคัส ฟีเชียม (Enterococcus Faecium) สเตรปโตค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส (Streptococcus Thermophilus) และอีกหลากหลายชนิด
ประโยชน์อื่น ๆ ของโยเกิร์ตที่นิยมนำมาใช้ยังรวมถึงการรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารและระบบทางเดินปัสสาวะ ลดระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง หรือผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตสบางคนก็เลือกรับประทานโยเกิร์ตแทนนม สารพัดสรรพคุณของโยเกิร์ตที่เชื่อกันนั้นเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด หากพิจารณาตามการศึกษาทางวิทยาศาสตร์สามารถแบ่งระดับประสิทธิภาพของโยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์โปรไบโอติกกับการรักษาโรคต่าง ๆ ได้ดังนี้
ประโยชน์ของโยเกิร์ตที่อาจได้ผลจริง
อาการท้องเสียของทารกหรือเด็กเล็ก
ด้วยคุณประโยชน์จากจุลินทรีย์มีชีวิต โยเกิร์ตอาจช่วยป้องกันหรือรักษาอาการท้องเสียที่เกิดขึ้นกับทารกและเป็นสาเหตุให้น้ำหนักตัวลดลง มีการทดลองให้เด็กอายุ 6-24 เดือนที่มีอาการท้องเสียมาน้อยกว่า 4 วัน จำนวน 80 คน แบ่งกลุ่มรับประทานโยเกิร์ตนมวัวพาสเจอไรซ์เพิ่มเติมจากการรักษาตามปกติ หรือรับการรักษาตามปกติจากโรงพยาบาล ผลลัพธ์ปรากฏว่าโยเกิร์ตมีส่วนช่วยลดความถี่ของการถ่ายท้องและทำให้น้ำหนักของทารกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ไม่เพียงแต่อาการท้องเสียชนิดเฉียบพลัน การทดลองกับเด็กที่ท้องเสียอย่างต่อเนื่องเองก็มีเช่นกัน เช่น การให้เด็กอายุ 3-36 เดือนที่มีปัญหานี้ รับประทานนมหรือโยเกิร์ตที่ทำจากนมสูตรเด็กแรกเกิดที่หมักแลคโตบาซิลลัสบัลการิคัสแทนนม ซึ่งก็พบว่าเด็กที่รับประทานโยเกิร์ตมีอาการท้องเสียลดน้อยลงกว่าอย่างน่าจะได้ผล ผู้วิจัยจึงให้ความเห็นว่าโยเกิร์ตอาจเป็นทางเลือกในการบรรเทาอาการท้องเสียต่อเนื่องของทารกในเบื้องต้นได้
อาการท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะ
โยเกิร์ตยังอาจช่วยลดอาการท้องเสียซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาบางชนิด โดยมีการทดลองกับผู้ป่วยในโรงพยาบาล 202 คน อายุเฉลี่ย 70 ปี ที่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะหรือให้ยาโดยการฉีดเข้าเส้นเลือด ผลพบว่าการรับประทานอาหารเสริมโยเกิร์ตที่ประกอบด้วยโยเกิร์ต 227 กรัม เป็นเวลา 8 วัน หลังจากได้รับยาปฏิชีวนะ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดอาการท้องเสียจากยาปฏิชีวนะได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทว่าอีกงานวิจัยที่ทดลองกับเด็กอายุมากกว่า 1 ปีที่ต้องได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 1 สัปดาห์ กลับได้ผลไปในทางตรงกันข้าม หลังจากบริโภคโยเกิร์ตรสสตรอว์เบอร์รี่ที่มีจุลินทรีย์มีชีวิต 150 มิลลิลิตร นาน 12 วัน เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เริ่มใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่พบว่ามีประสิทธิภาพลดอาการท้องเสียจากการรับประทานยาปฏิชีวนะแต่อย่างใด
ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันของ 2 งานวิจัยนี้ อาจเป็นปัจจัยจากอายุที่ต่างกันของกลุ่มผู้ทดลองหรือสาเหตุอื่นคงต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการรับประทานโยเกิร์ตเพื่อลดผลข้างเคียงจากยาปฏิชีวนะบางชนิดยังควรระมัดระวังด้วยการไม่รับประทานในเวลาใกล้เคียงกัน เพราะโยเกิร์ตอาจส่งผลให้ยาออกฤทธิ์ไม่เต็มที่
ป้องกันการติดเชื้อราในช่องคลอด
เชื่อว่าจุลินทรีย์มีชีวิตในโยเกิร์ตนั้นมีประโยชน์ในการป้องกันหรือรักษาช่องคลอดอักเสบอันเกิดจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย จากการรวบรวมและวิเคราะห์งานวิจัยในด้านนี้มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์บางส่วนที่กล่าวว่าโยเกิร์ตอาจเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยและได้ผลต่อการป้องกันการติดเชื้อราในช่องคลอด ดังงานวิจัยหนึ่งที่แนะนำว่าการรับประทานโยเกิร์ตโปรไบโอติกช่วยลดการเพิ่มจำนวนเชื้อราในช่องคลอดของหญิง 24 คน ได้มากกว่าการไม่รับประทานอาหารที่เป็นโปรไบโอติกเลย และยังช่วยลดอัตราการติดเชื้อในช่องคลอดของหญิงผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีนัยสำคัญ
ภาวะแพ้แลคโตส
ผู้ที่มีปัญหาไม่สามารถย่อยเอนไซม์แลคโตสในนมบางคนเลือกรับประทานโยเกิร์ตแทนนมเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดท้อง ท้องอืด หรือท้องเสีย ทั้งนี้จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มี คาดว่าเป็นเพราะในโยเกิร์ตมีแบคทีเรียที่จะช่วยในการย่อย ทำให้ร่างกายสามารถย่อยแลคโตสในโยเกิร์ตได้ดีกว่าแลคโตสที่พบในในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากนม
ดังงานวิจัยหนึ่งที่สนับสนุนประโยชน์ข้อนี้ของโยเกิร์ต โดยชี้ว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการรับประทานนม โยเกิร์ตที่ผ่านการพาสเจอไรซ์ และโยเกิร์ตที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์มีชีวิต 12 กรัม พบว่าเด็กที่แพ้แลคโตสมีอาการแพ้ลดน้อยลงหลังจากรับประทานโยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์มากกว่ากลุ่มที่ดื่มนม
โรคกระเพาะอาหารที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
จุลินทรีย์โปรไบโอติกในโยเกิร์ตอาจช่วยรับมือกับแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. pylori) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เมื่อใช้ควบคู่กับยาแผนปัจจุบันอย่างยาแลนโซพราโซล อะม็อกซีซิลลิน และคลาริโธรมัยซิน โดยจากการศึกษาชี้ว่าการผสมโยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสหรือไบฟิโดแบคทีเรียมเข้ากับยาเหล่านี้น่าจะช่วยให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามแผนการรักษาได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้การรักษาและกำจัดแบคทีเรียเอชไพโลไรมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าการรับประทานโยเกิร์ตเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ช่วยกำจัดการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ โยเกิร์ตจะมีประโยชน์ในการรักษาโรคนี้ในรูปแบบใด คงต้องติดตามผลการวิจัยในอนาคตต่อไป
ลดระดับคอเลสเตอรอล
บางงานวิจัยเผยว่าโยเกิร์ตอาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง เช่น การศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 44 คนที่มีไขมันชนิดไม่ดีสูง ด้วยการให้รับประทานโยเกิร์ตโปรไบโอติกที่ประกอบด้วยแลคโตบาซิลลัสแอซิโดฟิลัสและไบฟิโดแบคทีเรียมแลคติส วันละ 300 กรัม นาน 8 สัปดาห์ เทียบกับการรับประทานโยเกิร์ตธรรมดา ปรากฏว่ากลุ่มที่บริโภคโยเกิร์ตโปรไบโอติกมีสัดส่วนระหว่างไขมันไม่ดีต่อไขมันดีมากขึ้น โดยมีระดับไขมันดีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของไขมันไตรกลีเซอไรด์และไขมันคอเลสเตอรอลโดยรวม
เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยที่ให้ผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูง 200-300 มิลลิกรัม/เดซิลิตร รับประทานโยเกิร์ตธรรมดาหรือโยเกิร์ตโปรไบโอติกที่มีแลคโตบาซิลลัสแอซิโดฟิลัสและไบฟิโดแบคทีเรียมแลคติสเพิ่มเติมจากแบคทีเรียที่พบในโยเกิร์ตทั่วไป วันละ 300 กรัม เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อเทียบกันแล้ว โยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์มีชีวิตสามารถช่วยให้คอเลสเตอรอลโดยรวมของผู้ป่วยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ระดับไขมันชนิดอื่น ๆ นั้นไม่พบความแตกต่างแต่ประการใด รวมทั้งไม่ได้ช่วยให้ระดับไขมันชนิดดีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อาจไม่ใช่ทุกคนที่รับประทานโยเกิร์ตแล้วจะได้ผลข้างต้น เพราะงานวิจัยเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้
ประโยชน์ของโยเกิร์ตที่ยังไม่อาจระบุประสิทธิภาพ
อาการท้องเสียในผู้ใหญ่
เมื่อการรับประทานโยเกิร์ตอาจให้ผลดีต่อการรักษาอาการท้องเสียในทารก จึงเป็นที่สงสัยว่าจะมีสรรพคุณรักษาอาการท้องเสียในผู้ใหญ่ได้ด้วยหรือไม่ จากการศึกษาในชายสุขภาพดีจำนวน 541 คน กลุ่มหนึ่งรับประทานโยเกิร์ตที่ประกอบด้วยแลคโตบาซิลลัสคาเซอิ ส่วนอีกกลุ่มรับประทานโยเกิร์ตที่ไม่มีจุลินทรีย์โปรไบโอติก ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่าโยเกิร์ตที่มีแลคโตบาซิลลัสคาเซอิไม่ได้ส่งผลให้อาการท้องเสียลดลงมากนัก ปัจจุบันจึงยังคงไม่อาจระบุได้ว่าโยเกิร์ตช่วยรักษาอาการท้องเสียในผู้ใหญ่ได้หรือไม่ อย่างไร
ช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรียวาไจโนซิส
ซึ่งเป็นภาวะแบคทีเรียในช่องคลอดไม่สมดุล ทำให้มีตกขาวผิดปกติ โดยมีงานวิจัยแนะว่าการรับประทานโยเกิร์ตที่อุดมด้วยโปรไบโอติกจำพวกแลคโตบาซิลลัสทุกวันอาจค่อย ๆ ช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแบคทีเรียวาไจโนซิสที่กลับมาเป็นซ้ำได้ นอกจากนี้ยังพบงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการใช้โยเกิร์ตรับมือกับภาวะนี้ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกจำนวน 32 คน ด้วยการทาโยเกิร์ตบริเวณภายในช่องคลอด ซึ่งพบผลลัพธ์การรักษาในทางที่ดี และคาดว่าเป็นเพราะโยเกิร์ตมีส่วนช่วยปรับค่า pH และสมดุลของแบคทีเรียปกติในช่องคลอด
อาการท้องผูก
หลายคนเชื่อว่าโยเกิร์ตมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ทางวิทยาศาสตร์เองก็มีการพิสูจน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ งานวิจัยหนึ่งให้หญิงท้องผูกที่ไม่ได้เกิดจากโรคทางกายและหญิงไม่มีอาการท้องผูก รวม 399 คน รับประทานโยเกิร์ตซิมไบโอติก ผลแสดงให้เห็นว่าหญิงที่มีอาการท้องผูกอยู่แล้วนั้นมีการขับถ่ายดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรืออีกการทดลองในหญิงตั้งครรภ์ที่พบว่าการบริโภคโยเกิร์ตที่มีไบฟิโดแบคทีเรียมและแลคโตบาซิลลัสสูงหรือโยเกิร์ตธรรมดาวันละ 300 กรัมต่างก็มีส่วนช่วยให้ระบบการขับถ่ายระหว่างตั้งครรภ์ดีขึ้น ทว่าข้อมูลงานวิจัยเหล่านี้ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถใช้ได้ผลกับทุกคน
ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
การศึกษาเกี่ยวกับข้อดีของโยเกิร์ตในการป้องกันโรคนี้ มีบางงานที่พบว่าการรับประทานโยเกิร์ตในปริมาณสูงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากการติดตามอาสาสมัคร 45,241 คนที่รับประทานโยเกิร์ตเป็นเวลา 12 ปี แต่ทว่างานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่ยังคงมีข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน โยเกิร์ตจะมีบทบาทในการต่อต้านโรคมะเร็งชนิดนี้ได้จริงหรือไม่นั้นคงต้องพิสูจน์กันต่อไปจนกว่าจะแน่ใจได้
ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
ผลการศึกษาประสิทธิภาพในด้านนี้ยังมีความไม่สม่ำเสมอ จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าโยเกิร์ตจะช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจได้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ดี การศึกษาหนึ่งพบว่าการรับประทานโยเกิร์ตมากกว่า 200 กรัมต่อวันอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ลดน้อยลง ซึ่งจะได้ผลหรือไม่ได้ผลจริงก็ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยที่น่าเชื่อถือและรัดกุมกว่าในปัจจุบัน
ช่วยลดน้ำหนัก
อีกหนึ่งสรรพคุณที่คุ้นเคยกันดีของโยเกิร์ต โดยจากการศึกษาทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของโยเกิร์ตกับการควบคุมน้ำหนักและองค์ประกอบของร่างกายที่เคยมีมา พบว่ายังคลุมเครืออยู่มากทีเดียว งานวิจัย 2 ใน 5 กล่าวว่าการรับประทานโยเกิร์ตในปริมาณมากส่งผลให้ผู้ทดลองมีอัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักลดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่มีงานหนึ่งที่นอกจากจะไม่พบว่าการรับประทานโยเกิร์ตมีส่วนช่วยลดน้ำหนัก การรับประทานโยเกิร์ตในปริมาณมากยังอาจส่งผลให้มีรอบเอวเพิ่มขึ้น ส่วนการศึกษาที่เหลือมีทั้งที่ไม่อาจหาข้อสรุปได้ หรือที่พบว่าการรับประทานโยเกิร์ตช่วยให้ชายที่มีภาวะอ้วนมีรอบเอวและน้ำหนักที่ลดลง แต่กลับส่งผลให้หญิงน้ำหนักปกติมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเมื่อรับประทานในปริมาณสูง
ลดกลิ่นปาก รักษาสุขภาพเหงือกและฟัน
มีงานวิจัยออกมาว่าการรับประทานโยเกิร์ตประมาณวันละ 90 มิลลิลิตร โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 6 สัปดาห์ มีประโยชน์ต่อการลดกลิ่นปากที่เกิดจากการสะสมของสารที่ทำให้เกิดกลิ่นในปาก เช่น ไฮโดรเจน ซัลไฟด์ โดยคาดว่าผลลัพธ์ดังกล่าวมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียที่มีชีวิตในโยเกิร์ต โดยเฉพาะแบคทีเรียสเตปค็อกคัส เธอร์โมฟิลัสและแลคโตบาซิลลัสบัลการิคัส ที่อาจมีคุณสมบัติช่วยลดกลิ่นปากจากการสะสมของแบคทีเรียในปากได้
ไม่เพียงเท่านี้ ผู้วิจัยยังพบว่าเหล่าอาสาสมัครที่รับประทานโยเกิร์ตต่างมีระดับคราบจุลินทรีย์สะสมและการอักเสบของเหงือกที่ลดน้อยลงอย่างน่าจะมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งถึงแม้การศึกษาดังกล่าวจะยังมีผู้เข้าร่วมทดลองจำนวนน้อยและต้องมีการทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล แต่การเพิ่มโยเกิร์ตเป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่รับประทานก็อาจเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับขจัดกลิ่นปากที่ง่ายและปลอดภัย น่าลองทำตาม
บำรุงผิวหน้า
สูตรบำรุงผิวหน้าให้เนียนนุ่มและขาวใสยอดนิยมและเชื่อว่าได้ผลดี คือการใช้โยเกิร์ตธรรมชาติพอกหน้าแล้วล้างออก สำหรับข้อพิสูจน์ในด้านนี้ การศึกษางานหนึ่งเผยผลลัพธ์จากการใช้มาส์กหน้าโยเกิร์ตซึ่งใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ โดยพบว่ามาส์กหน้าโยเกิร์ตช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ความสว่างใส และความหยืดหยุ่นให้แก่ผิวหน้าส่วนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และแม้ผลการศึกษานี้จะยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ใจ แต่การใช้โยเกิร์ตพอกหน้าก็น่าจะเป็นอีกวิธีที่ไม่ยุ่งยากและปลอดภัย ทั้งนี้ผู้ที่รักการบำรุงผิวหน้าทั้งหลายควรลองทำตามอย่างเหมาะสมและระมัดระวังการแพ้หรือระคายเคืองจากการใช้
ฟื้นฟูผิวไหม้จากแสงแดด
หลายคนที่ต้องเผชิญกับแสงแดดจนผิวแสบแดงหรือไหม้เลือกใช้โยเกิร์ตเป็นหนึ่งในทางเลือกของการฟื้นฟูสภาพผิวให้กลับมาขาวใส ทว่าข้อมูลจากทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประโยชน์ข้อนี้ของโยเกิร์ตจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ในปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏ หากต้องการทำตามจึงควรคำนึงถึงความเหมาะสมและปลอดภัยด้วย
ประโยชน์ของโยเกิร์ตที่อาจไม่ได้ผลจริง
รักษาหรือป้องกันโรคหืด จากการทดลองเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของโยเกิร์ตต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย แม้จะมีการศึกษาที่พบว่าโยเกิร์ตอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน เช่น โรคหืด โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอย่างในผู้สูงอายุ แต่รูปแบบของการศึกษาที่มียังเป็นปัญหาและมีข้อจำกัด ทำให้ผลลัพธ์ไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ ประกอบกับงานวิจัยหนึ่งเมื่อนานมาแล้วที่ผลลัพธ์ชี้ว่าการรับประทานโยเกิร์ตแลคโตบาซิลลัสแอซิโดฟิลัส 225 กรัม วันละ 2 ครั้ง ไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยโรคหืดระดับรุนแรงปานกลาง โยเกิร์ตจึงอาจไม่มีสรรพคุณส่งเสริมภูมิคุ้มกันแต่อย่างใด
ข้อควรระมัดระวังในการรับประทานโยเกิร์ต
สำหรับคนทั่วไปโดยมาก การรับประทานโยเกิร์ตเป็นอาหารนั้นค่อนข้างมีความปลอดภัย ส่วนการใช้โยเกิร์ตทาภายในช่องคลอดก็ไม่น่าจะทำให้เกิดอันตรายใด ๆ เช่นกัน โดยไม่พบรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการใช้มากนัก แต่มีบางกรณีที่ผู้ใช้มีอาการป่วยจากการใช้โยเกิร์ตที่ปนเปื้อนแบคทีเรียชนิดอื่น ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค เพื่อความปลอดภัยจึงควรเลือกใช้โยเกิร์ตที่มีการกระบวนการเตรียมและเก็บรักษาอย่างเหมาะสม
แม้แต่หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรเองก็สามารถรับประทานโยเกิร์ตได้อย่างปลอดภัยในปริมาณอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน และอาจไม่เป็นอันตรายหากใช้โยเกิร์ตทาภายในช่องคลอดระหว่างการตั้งครรภ์ โดยมีงานวิจัยขนาดเล็กที่ไม่พบผลข้างเคียงจากการใช้โยเกิร์ตในหญิงตั้งครรภ์ ทว่าการใช้โยเกิร์ตทาในช่องคลอดของหญิงที่กำลังให้นมบุตรนั้นยังไม่มีการศึกษาที่รับรองความปลอดภัยได้เพียงพอ ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ในลักษณะดังกล่าว
นอกจากนี้ มีข้อกังวลว่าแบคทีเรียที่มีชีวิตในโยเกิร์ตอาจไปเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และส่งผลเสียต่อผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ หรือผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยพบรายงานว่าแลคโตบาซิลลัสในโยเกิร์ตเป็นสาเหตุให้เกิดโรคในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แต่ก็ไม่บ่อยครั้ง เพื่อความปลอดภัยผู้ป่วยภาวะนี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานโยเกิร์ตที่มีแบคทีเรียมีชีวิตในปริมาณมากเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
ปฏิกิริยาของโยเกิร์ตกับยารักษาโรค
การรับประทานโยเกิร์ตควบคู่กับยารักษาโรคต่อไปนี้ควรระมัดระวัง เนื่องจากมีโอกาสก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมา
- ยาปฏิชีวนะกลุ่มเตตราไซคลีน (Tetracycline antibiotics) เช่น ยามิโนไซคลีน และเตตราไซคลีน เนื่องจากในโยเกิร์ตมีแคลเซียมซึ่งอาจไปจับตัวกับยาในท้องและลดการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ประสิทธิภาพของยาลดน้อยลง ทางที่ดีควรงดรับประทานโยเกิร์ตใน 2 ชั่วโมงก่อนการใช้ยา และ 4 ชั่วโมงหลังจากใช้ยาชนิดนี้
- ยาไซโปรฟลอกซาซิน อาจมีประสิทธิภาพลดลงเช่นกันเมื่อรับประทานกับโยเกิร์ต จึงไม่ควรรับประทานโยเกิร์ตในช่วง 1 ชั่วโมงหลังการรับประทานยา
- ยาที่ลดภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น ยาอะซาไธโอพรีน บาซิลิซิแมบ ไซโคลสปอริน ทาโครลิมัส ไซโลลิมัส เพรดนิโซน ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ และอื่น ๆ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่ออาการป่วยอันเกิดจากแบคทีเรียและยีสต์ในโยเกิร์ต
ปริมาณการใช้โยเกิร์ต
โยเกิร์ตโดยทั่วไปควรประกอบด้วยจุลินทรีย์มีชีวิตอย่างน้อย 100 ล้านตัวต่อกรัม ทั้งนี้ปริมาณการใช้โยเกิร์ตในการรักษาหรือป้องกันโรคตามการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่มีและพบว่าน่าจะปลอดภัย มีดังนี้
- ป้องกันอาการท้องเสียที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ รับประทานโยเกิร์ตที่มีแลคโตบาซิลัส จีจี (Lactobacillus GG) วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 125 มิลลิลิตรตลอดช่วงการใช้ยาปฏิชีวนะ และมีบางงานวิจัยที่แนะนำให้รับประทานครั้งละ 240 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ควรรับประทานก่อนหรือหลังการใช้ยาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- บรรเทาอาการท้องเสีย รับประทานโยเกิร์ตที่มีแลคโตบาซิลลัสคาเซอิ วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 125 กรัม
- ลดระดับคอเลสเตอรอล โยเกิร์ตที่ใช้ทดลองโดยทั่วไป คือ โยเกิร์ตที่ประกอบด้วยแลคโตบาซิลลัสแอซิโดฟิลัส รับประทานวันละ 200 มิลลิลิตร บางงานวิจัยใช้โยเกิร์ตแลโตบาซิลลัสแอซิโดฟิลัส 125 มิลลิลิตร ผสมกับสารโอลิโกฟรุกโตส 2.5% รับประทานวันละ 3 ครั้ง หรืออีกงานหนึ่งที่ให้รับประทานโยเกิร์ต 450 มิลลิลิตร อันประกอบด้วยเอนเทอโรค็อกคัส ฟีเชียม และสเตปค็อกคัสแบคทีเรีย
- ป้องกันการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด โดยทั่วไปทดลองโดยให้รับประทานโยเกิร์ตที่มีแลคโตบาซิลลัสแอซิโดฟิลัส ในปริมาณวันละ 150 มิลลิลิตร