การรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
โรคกระเพาะอาหารอักเสบจะรักษาตามสาเหตุและการประคับประคองไปตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารเบื้องต้น หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะให้การรักษาด้วยการใช้ยาควบคู่ไปด้วย ซึ่งสามารถแบ่งประเภทของยาที่ใช้รักษาหรือยาแก้โรคกระเพาะได้หลายกลุ่ม
ยาปฏิชีวนะ
ยาปฏิชีวนะจะช่วยในการการฆ่าเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ที่อยู่ในระบบย่อยอาหาร เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ยาอะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) หรือ ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ผู้ป่วยควรรับประทานให้ครบตามแพทย์แนะนำ
ยาลดกรด
จะช่วยให้กรดในกระเพาะอาหารเกิดความสมดุลและช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง แต่อาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดอาการท้องผูกหรือท้องร่วง ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวยาหลักในแต่ชนิดยา เช่น ยาลดกรดที่มีสารประกอบแมกนีเซียม ยาลดกรดที่มีสารประกอบอลูมิเนียม ยาลดกรดที่มีสารประกอบแคลเซียม
นอกจากนี้ควรระวังการใช้ยาลดกรดร่วมกับยาในกลุ่มอื่น เพราะยาลดกรดอาจส่งผลต่อการดูดซึมต่อยาบางชนิดที่ต้องรับประทานร่วมกัน
ยายับยั้งการหลั่งกรดและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
เป็นยาที่มีฤทธิ์หยุดการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร แบ่งออกได้ 2 ประเภท
- ยากลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors) มีทั้งยาที่ต้องจ่ายโดยแพทย์และยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น ยาลดกรด (Omeprazole) ยาแลนโซพราโซล (Lansoprazole) ยาราบีพราโซล (Rabeprazole) ยาอีโซเมปราโซล (Esomeprazole) เด็กซ์แลนด์โซพราโซล (Dexlansoprazole) แพนโทพราโซล (Pantoprazole) เป็นต้น
- ยาในกลุ่มยับยั้งฮิสทามีนชนิดที่ 2 (Histamine (H-2) Blockers) ที่ไปหยุดการทำงานของเซลล์ในกระเพาะอาหารให้ผลิตกรดลดลง ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง เช่น ยาแรนิทิดีน (Ranitidine) ยาฟาโมทิดีน (Famotidine) ยาไซเมทิดีน (Cimetidine) ยานิซาติดีน (Nizatidine)
ยาเคลือบกระเพาะอาหาร
ทำหน้าที่เคลือบเยื่อบุและแผลที่เกิดภายในกระเพาะอาหารจากกรด เช่น ยาซูครัลเฟต (Sucralfate) หรือยาบิสมัท (Bismuth) ที่ใช้เคลือบกระเพาะอาหารแล้วและยังช่วยป้องกันการเกิดแผลในทางเดินอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงจากการใช้ยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบ
ยาต้านอาเจียนหรือยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
ตัวยาจะมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เป็นผลจากความผิดปกติของกระเพาะอาหารหรือลำไส้
อย่างไรก็ตาม แม้โรคกระเพาะอาหารอักเสบจะไม่ใช่โรคร้ายแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการแบบเฉียบพลันและหายดีได้ในเวลาไม่นาน แต่บางรายอาจมีอาการเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ จึงจำต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอและเข้ารับการตรวจทางการแพทย์อื่น ๆ เพิ่มเติม
หากผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนก็อาจต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การรักษาดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งอาจทำให้มีค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการติดต่อกันนานเป็นเดือนจนถึงเป็นปีหรือมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย
ดังนั้น หากผู้ป่วยมีการวางแผนการเงินที่ดี ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพจากรัฐบาล หรือทำประกันสุขภาพก็อาจจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้