ความหมาย โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) หรือที่ว่าโรคกระเพาะ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบหรือเกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร สามารถเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลันในระยะเวลารวดเร็ว เป็นในระยะสั้น ๆ และหายภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการบ่อยครั้งเป็นระยะเวลานานจนเกิดการอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดแผล และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้
คำว่าโรคกระเพาะเป็นคำเรียกรวม ๆ ของโรคที่เกิดจากภาวะที่มีแผลในเยื่อบุกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นถูกทำลาย ซึ่งครอบคลุมหลายโรคด้วยกัน ตั้งแต่แผลในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะอาหารชนิดที่ไม่มีแผล โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร รวมไปถึงโรคกระเพาะอาหารอักเสบที่กล่าวถึง
สภาวะปกติภายในกระเพาะอาหารจะมีความเป็นกรดสูง ทำให้ต้องสร้างชั้นเยื่อเมือกเคลือบป้องกันกรด ซึ่งเยื่อเมือกที่ว่านี้จะประกอบไปด้วยต่อมที่มีหน้าที่ในการหลั่งกรดและเอนไซม์ต่าง ๆ เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร
แต่เมื่อกระเพาะอาหารเกิดการอักเสบขึ้นจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ทำให้กระเพาะอาหารผลิตกรด เอนไซม์ และเมือกที่ช่วยเคลือบป้องกันกระเพาะอาหารได้น้อยลง จึงส่งผลต่อการย่อยอาหารนานขึ้น ผิวกระเพาะอาหารเกิดอักเสบได้ง่าย
อาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
อาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกันออกไป หรือในบางรายอาจไม่พบอาการชัดเจน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้อง รู้สึกไม่สบายช่องท้องส่วนบน มีอาการท้องเฟ้อ อิ่มง่าย จุกหน้าอก แน่นท้อง เรอบ่อย อาหารไม่ย่อย หรือรู้สึกคลื่นไส้หลังการรับประทานอาหาร ไม่มีความอยากอาหาร
ทั้งนี้ โรคกระเพาะอาหารอักเสบไม่พบที่มีอาการร้ายแรง แต่หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นนานเป็นสัปดาห์หรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะอยู่ในช่วงการรับประทานยาแอสไพริน (Aspirin) และยาบรรเทาอาการปวดอื่น ๆ มีการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือดหรือมีสีดำผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
สาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบยังไม่พบสาเหตุการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เอช ไพโลไร (Helicobacter pylorior หรือ H. pylori) เป็นเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม
ส่วนอีกสาเหตุ คือ การรับประทานในกลุ่มยาต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวด (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs)
อย่างไรก็ตามยังพบโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้จากสาเหตุอื่นเช่นกัน อาทิ การติดเชื้อราบางประเภท การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือระบบภูมิคุ้มกันตนเองบกพร่องจากโรคบางชนิด เช่น โรคโครห์น (Crohn's disease) โรคซาคอยโดซิส (Sarcoidosis) หรือภาวะการอักเสบเรื้อรังทางกระเพาะอาหารอื่น ๆ
การวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
แพทย์จะสอบถามประวัติ อาการเบื้องต้น การตรวจร่างกาย เพื่อค้นหาสาเหตุที่แน่ชัดหลังผู้ป่วยมีอาการที่แพทย์สงสัยว่าจะเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ รวมไปถึงการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร (Endoscopy) การเอกซเรย์กระเพาะอาหารด้วยการกลืนแป้งแบเรียมเพื่อตรวจดูความผิดปกติ หรือการตรวจหาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร โดยการตรวจเลือด การตรวจอุจจาระ หรือการตรวจด้วยวิธีการพ่นลมหายใจ
การรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบจะรักษาตามสาเหตุเป็นหลัก หากผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ที่เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ยาอะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) หรือยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เพื่อช่วยในการการฆ่าเชื้อ
ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ แพทย์จะรักษาตามอาการ เพื่อประคับประคองอาการและช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น เช่น จ่ายยาลดกรดในกลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors) หรือ เอช 2 รีเซพเตอร์ แอนตาโกนีสต์ (H2-Receptor Antagonist หรือ H2 Blocker) เพื่อลดการหลั่งกรด ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังจากการรับประทานยาในกลุ่มบรรเทาอาการปวด แพทย์จะแนะนำให้หยุดการรับประทานยาในเบื้องต้น และปรับเปลี่ยนตัวยาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันแทน รวมไปถึงการหยุดพฤติกรรมที่ส่งผลให้อาการแย่ลง เช่น การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือการสูบบุห
ภาวะแทรกซ้อนของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบอาจก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือมีเลือดไหลด้านในกระเพาะอาหาร ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะโลหิตจางจากการสูญเสียเลือดได้ หรือมีโอกาสการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้จากเซลล์ที่เกิดการอักเสบบ่อย ๆ แต่พบได้น้อยราย
การป้องกันโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
การรักษาความสะอาดและสุขอนามัยในการรับประทานอาหารเป็นหลักสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร เช่น การล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร และเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ
นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของกระเพาะอาหารด้วยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน ภาวะเครียดที่อาจทำให้เกิดอาการเครียดลงกระเพาะ ซึ่งทำให้กระเพาะอาหารอักเสบรุนแรงขึ้น รวมไปถึงไม่ควรซื้อยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารหรือยาในกลุ่มลดอาการปวดรับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล