สาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
ภายในกระเพาะอาหารจะมีการผลิตกรดที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เพื่อช่วยในการย่อยอาหารและฆ่าเชื้อโรคที่ปะปนเข้าไปในอาหารที่รับประทาน ขณะเดียวกันจะมีการสร้างเมือกที่เป็นเยื่อบุบาง ๆ ช่วยป้องกันผนังของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กจากกรด เมื่อเกิดการเสียความสมดุลในกระเพาะอาหาร อาจส่งผลต่อการทำลายเยื่อบุบริเวณกระเพาะอาหารได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน
การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori)
การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรเป็นสาเหตุหลักที่พบได้มากในผู้ป่วย โดยการได้รับเชื้อจากอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อน หรือเกิดจากการติดเชื้อจากคนสู่คน
โดยปกติภายในกระเพาะอาหารจะมีการสร้างกรด เพื่อทำลายเชื้อโรคที่ปะปนเข้ามากับอาหารและน้ำดื่ม แต่เชื้อชนิดนี้มีความคงทนต่อสภาพความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหารมากกว่าเชื้อชนิดอื่น
เมื่อไม่มีการรักษาจึงทำให้เชื้อยังคงอยู่ในเยื่อบุกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งสามารถสร้างความระคายเคืองจนก่อให้เกิดแผลหรือการอักเสบบริเวณกระเพาะอาหารได้ง่าย
การรับประทานยาต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวด
ยาต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวดหลายประเภทที่ใช้แก้ปวด แก้อักเสบ ปวดข้อปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อต่าง ๆ เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) หรือ ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) สามารถสร้างความระคายเคืองให้กับเยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้กรดที่หลั่งจากกระเพาะอาหารกัดกร่อนเยื่อบุกระเพาะอาหารจนเกิดแผลได้
สาเหตุอื่น ๆ
การเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบยังเป็นผลมาจากพฤติกรรม โรคเรื้อรัง หรือภาวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ เช่น
- ผู้ที่เป็นโรคในกลุ่มโรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune Disease) เช่น โรคต่อมไทรอยด์อักเสบหรือโรคเบาหวานชนิดที่ 1 สามารถเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้ แต่พบได้น้อยราย
- ภาวะความเครียด ซึ่งสามารถเกิดได้จากการประสบอุบัติเหตุรุนแรง การผ่าตัดใหญ่ หรือความเครียดสะสมในชีวิตประจำวัน อาจส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือดไปยังกระเพาะอาหารและการทำงานของระบบย่อยอาหารที่ผิดปกติได้ ทั้งนี้ยังไม่พบข้อมูลยืนยันสาเหตุนี้ต่อการเกิดโรคกระเพาะอาหารที่แน่ชัด
- การดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนในปริมาณมาก
- การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิตชนิดอื่น