โรคกลัวแมงมุม (Arachnophobia) เป็นอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรงเมื่อเห็นแมงมุมและใยแมงมุม เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคกลัวแบบจำเพาะ (Specific Phobia) ที่พบได้บ่อย ผู้ที่เป็นโรคกลัวแมงมุมจะมีอาการทั้งทางร่างกายและจิตใจร่วมกัน ซึ่งเป็นอาการในระยะยาวและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
โรคกลัว (Phobia) เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อเผชิญกับสิ่งกระตุ้นหรือสถานการณ์บางสถานการณ์ โดยผู้ป่วยโรคกลัวมักมีอาการแสดงออกทางร่างกายทันทีเมื่อเจอกับสิ่งที่กลัว เช่น ตัวสั่น เหงื่อออก เวียนศีรษะ และพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้า อย่างการพยายามหนีให้ไกลเมื่อเจอแมงมุม
สาเหตุของโรคกลัวแมงมุม (Arachnophobia)
โดยปกติแล้ว โรคกลัวมักเกิดจากประสบการณ์เลวร้ายที่ฝังใจต่อสิ่งที่กลัวมาตั้งแต่ในวัยเด็ก มีข้อมูลจากงานวิจัยระบุว่า สัตว์บางชนิดอาจกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกกลัวหรือรังเกียจ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกแมลง ทั้งนี้ พบว่าแมงมุมทำให้คนเราเกิดความรู้สึกตื่นกลัวได้มากกว่าแมลงชนิดอื่น อย่างเต่าทอง ผีเสื้อ และผึ้ง
อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการกลัวแมงมุมยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนอาจเกิดความรู้สึกไม่สบายใจหรือวิตกกังวลแตกต่างกัน บางคนกลัวแมงมุมเฉพาะสายพันธุ์ที่มีขนทั่วลำตัว บางคนอาจกลัวรูปร่างที่มีขายาว เป็นข้อปล้อง หรือบางคนอาจรู้สึกกลัวดวงตาของแมงมุมที่จ้องมองมาอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นที่อาจทำให้เกิดความกลัวแมงมุมคือการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แม้ยังขาดข้อมูลและหลักฐานที่เพียงพอ แต่มีแนวโน้มว่าเด็กที่มีพ่อแม่หรือคนในครอบครัวเป็นโรคกลัวแมงมุม อาจมีปฏิกริยาที่จะตอบสนองต่อแมงมุมด้วยความรู้สึกหวาดกลัวได้มากกว่าคนอื่น ๆ
การรักษาโรคกลัวแมงมุม (Arachnophobia)
โรคกลัวแมงมุมเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคกลัวแบบจำเพาะที่รักษาได้ง่ายกว่ากลุ่มโรคกลัวแบบซับซ้อน ซึ่งมักเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยมากกว่า โดยวิธีที่นำมาใช้รักษาโรคกลัวอย่างมีประสิทธิภาพ คือการปรึกษากับนักจิตบำบัด ประกอบด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
การบำบัดด้วยการเผชิญหน้า (Exposure Therapy)
การบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวเป็นวิธีบำบัดที่ได้ผลดีที่สุดในการบำบัดโรคกลัวและโรควิตกกังวล โดยการจำลองสถานการณ์เพื่อให้ผู้ป่วยได้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวหรือพยายามหลีกเลี่ยง ซึ่งจะอยู่ภายใต้การควบคุมของนักจิตวิทยา ทำให้ผู้ป่วยปรับสภาพจิตใจให้รู้สึกกลัวลดลง และไม่หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวอีก
แนวทางการรักษาโรคกลัวแมงมุมในต่างประเทศ ผู้เข้ารับการบำบัดจะได้ฝึกการเข้าใกล้และสัมผัสกับแมงมุมทารันทูร่า (Tarantula) ที่อยู่ในขวดโหลแก้ว ซึ่งในช่วงแรกของการบำบัด ผู้ป่วยส่วนมากไม่สามารถเข้าใกล้ขวดโหลแก้วนั้นได้ จิตแพทย์จะชี้ให้เห็นว่าแมงมุมจะพยายามหลบซ่อนตัวเองมากกว่าจู่โจมเพื่อทำร้ายผู้ป่วย และ หลังจากการบำบัดเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยส่วยมากสามารถเข้าใกล้และสามารถสัมผัสโหลแก้วนั้นได้โดยไม่รู้สึกกลัวแมงมุมอีก
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy)
การบำบัดในรูปแบบนี้เป็นวิธีการบำบัดเพื่อรักษาโรคกลัวแบบเจาะจง โดยเฉพาะโรคกลัวที่เกิดจากแมลงชนิดต่าง ๆ โดยผู้ป่วยจะได้เรียนรู้วิธีการที่หลากหลายในการปรับมุมมองความคิด และเปลี่ยนพฤติกรรมให้รับมือกับสิ่งที่กลัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเน้นการฝึกความมั่นใจและปรับความรู้สึกเพื่อให้สามารถเอาชนะความกลัว โดยไม่รู้สึกอยากหลีกหนีจากสิ่งที่กลัวอีก
นอกจากนี้ โรคกลัวแมงมุมอาจรักษาด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย ได้แก่
- การกำจัดความเครียดด้วยการฝึกสติ (Mindfulness) การฝึกลมหายใจ การเล่นโยคะ เพื่อผ่อนคลายร่างกาย และช่วยลดความเครียดหรือวิตกกังวล
- การปรับพฤติกรรม โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้ร่ายกายแข็งแรง
- การใช้ยา แม้ว่าจะไม่ใช่วิธีการรักษาหลักของโรคกลัวแมงมุม แต่ยาบางชนิดอาจช่วยลดความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนกได้ เช่น ยาเบต้า บล็อคเกอร์ (Beta Blocker) และยาระงับประสาท (Sedatives)
โรคกลัวแมงมุมหรือ Arachnophobia เป็นหนึ่งในโรคกลัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตของคนทั่วไป หากรู้สึกว่าความกลัวก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น มีปัญหาเมื่อต้องออกไปนอกบ้าน หรือรบกวนการใช้เวลาในชีวิตประจำวันและการนอนหลับ การปรึกษาจิตแพทย์ถือเป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยรักษาโรคกลัวแมงมุมได้ เพราะหากเข้ารับการบำบัดรักษาเร็ว จะยิ่งมีโอกาสหายดีและสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น