ปัญหาเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคู่และความมั่นใจในตนเอง โดยโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคู่ต้องเผชิญปัญหานี้ เพราะผู้ที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ รู้สึกเศร้า สิ้นหวัง ไร้ค่า จะกระทบต่อการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ รวมถึงเรื่องทางเพศด้วย ผู้ที่กำลังเผชิญภาวะซึมเศร้าและคู่ครองจึงควรพูดคุยทำความเข้าใจและให้กำลังใจกัน เรียนรู้วิธีปรับตัวรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น และไปปรึกษาแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
โรคซึมเศร้านำไปสู่ปัญหาทางเพศได้อย่างไร ?
สมองเป็นอวัยวะสำคัญในระบบประสาทที่ควบคุมความคิดจิตใจและการทำงานของร่างกาย แรงขับทางเพศก็เป็นผลมาจากการทำงานของสมองและระบบประสาทนี้ ซึ่งจะกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะเพศและมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่เมื่อป่วยเป็นโรคซึมเศร้าระดับของสารสื่อประสาทในสมองจะขาดสมดุล ทำให้เกิดอารมณ์เศร้า ส่งผลต่ออารมณ์ทางเพศที่ลดลง รู้สึกไม่มีความสุขหากมีเพศสัมพันธ์ หรืออาจเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วย
นอกจากนี้ การรับประทานยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิดก็อาจทำให้ผู้ป่วยขาดความต้องการหรือความสนใจทางเพศได้ด้วยเช่นกัน เช่น ยาต้านเศร้ากลุ่ม MAOI ที่ยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดส ยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRI ที่ช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนินในร่างกาย หรือกลุ่ม SNRI ที่ช่วยเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาทเซโรโทนินและนอร์เอพิเนฟริน เป็นต้น
ปัญหาเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากโรคซึมเศร้า
ทั้งการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าสามารถทำให้เกิดปัญหาทางเพศได้ ดังนี้
- ไม่มีอารมณ์หรือความสนใจทางเพศ หรือความต้องการทางเพศลดลง
- ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์จนถึงจุดสุดยอดได้
- ไม่มีความสุขหรือไม่มีอารมณ์ร่วมในขณะมีเพศสัมพันธ์
- รู้สึกไร้ค่าและขาดความมั่นใจจนไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้
- ในผู้ป่วยเพศชายอาจเผชิญภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ถึงจุดสุดยอดในขณะมีเพศสัมพันธ์ช้ากว่าปกติ หรือหลั่งน้ำอสุจิเร็วเกินไป
เพศชายมีแนวโน้มขาดความสนใจทางเพศจากโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศหญิง ในขณะที่เพศหญิงมีแนวโน้มเผชิญภาวะซึมเศร้ามากกว่า แต่อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและทำให้เกิดปัญหาเพศสัมพันธ์ได้ เช่น อายุที่มากขึ้น และความเครียดที่เผชิญอยู่ ในขณะที่เพศหญิงอาจประสบปัญหานี้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ ซึ่งช่วงที่ผู้หญิงมักเสี่ยงเผชิญภาวะซึมเศร้าจนนำไปสู่ปัญหาเพศสัมพันธ์ ได้แก่ ช่วงหลังคลอดบุตร ช่วงก่อนวัยทอง และขณะที่อยู่ในวัยทอง
การรับมือปัญหาเพศสัมพันธ์ขณะป่วยด้วยโรคซึมเศร้า
ผู้ที่มีปัญหาเพศสัมพันธ์ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับคำแนะนำเกี่ยวกับอาการของตน โดยเฉพาะผู้ที่คาดว่ามีปัญหาเพศสัมพันธ์จากการเผชิญโรคซึมเศร้าอยู่ โดยแพทย์อาจวางแผนบำบัด ให้ใช้ยารักษา หรือให้คำแนะนำในการปรับพฤติกรรมด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- รักษาโรคซึมเศร้าก่อน เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยผู้ป่วยหรือผู้ที่มีปัญหาเพศสัมพันธ์ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากกำลังเผชิญภาวะซึมเศร้าอยู่ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะหากหายจากภาวะนี้ก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันและมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
- ปรับการใช้ยาต้านเศร้า เนื่องจากยาต้านเศร้าบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่กระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา และอาจเลี่ยงไปใช้ยาหลังจากมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว หรือแพทย์อาจปรับไปใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าชนิดอื่นเพื่อลดปัญหาเพศสัมพันธ์ลง
- ใช้ยากระตุ้นชนิดอื่น ผู้ป่วยอาจปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับยาที่ช่วยกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดในด้านขั้นตอน ปริมาณ และวิธีการใช้ยา
- ใช้สารหล่อลื่น สำหรับผู้ป่วยเพศหญิงที่อาจมีปัญหาช่องคลอดแห้งอาจใช้สารหล่อลื่นทาบริเวณช่องคลอด โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนใช้เสมอ
- ใช้เทคนิคกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ การกอด การสัมผัส และการนวดร่างกายจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้ รวมถึงการแต่งกาย การอ่านหรือการดูสื่อที่ช่วยเพิ่มความรู้สึกทางเพศ และอาจเพิ่มเวลาในการเล้าโลมให้นานขึ้น เพื่อให้ตนและคู่ครองมีความต้องการทางเพศเพิ่มมากขึ้นและสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดสูบฉีดไปยังอวัยวะเพศได้ดีขึ้น และยังช่วยผ่อนคลายอารมณ์ให้ตึงเครียดน้อยลงและรู้สึกดีขึ้นได้
- ปรึกษากับคู่ครอง ผู้ป่วยควรพูดคุยทำความเข้าใจกับคู่ครองของตนว่าโรคซึมเศร้าส่งผลกระทบต่อชีวิตทางเพศอย่างไร เพื่อคลายความรู้สึกผิดหรือไร้ค่า สร้างความผูกพันเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แล้วหาแนวทางแก้ไขร่วมกันต่อไป
- ยอมรับและปรับความเข้าใจ ในความเป็นจริง คนทั่วไปอาจไปไม่ถึงจุดสุดยอดทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เสมอไป ผู้ป่วยจึงควรทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ อีกทั้งควรตระหนักว่าโรคซึมเศร้าที่เผชิญอยู่เป็นเพียงปัญหาสุขภาพจิตที่เผชิญในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และอาการจะดีขึ้นเองหากได้รับการรักษา
- รับการบำบัดทางจิต ผู้ป่วยอาจปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อเข้ารับการบำบัดแบบพูดคุยปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม เพื่อหาแนวทางจัดการปัญหาทางจิตใจด้วยตนเองภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ