โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo)

ความหมาย โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo)

โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV) เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุน (Vertigo) โดยผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนหรือตัวเองหมุนแม้ร่างกายจะอยู่กับที่ โดยทั่วไป โรคนี้จัดเป็นโรคที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาได้โดยการทำกายภาพบำบัด แต่ผู้ป่วยมักกลับมาเป็นซ้ำอีก

โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนเกิดจากการที่ตะกอนหินปูนในหู (Otoconia, Otolith) หลุดเข้าไปยังหูชั้นในซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทรงตัว (Semicircular Canals) เมื่อผู้ป่วยขยับตัวหรือหันศีรษะไปมา ก้อนหินปูนที่หลุดเข้าไปในหูชั้นในจะเคลื่อนที่ไปมาในบริเวณนี้ ส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและบ้านหมุนตามมา

Benign Paroxysmal Positional Vertigo

อาการของโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

ผู้ป่วยโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนมักมีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม บ้านหมุน ไม่สามารถทรงตัวได้ คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจมีอาการดวงตากระตุกโดยควบคุมไม่ได้ โดยอาการมักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ และเป็นชั่วคราวเพียงไม่กี่วินาทีหรือไม่กี่นาทีในขณะเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนท่าทางศีรษะ อย่างในขณะเงยหน้าหรือลุกออกจากที่นอน แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่ออยู่นิ่ง ๆ 

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากอาการเวียนศีรษะหรืออาการบ้านหมุนไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ในกรณีที่มีอาการบางอย่างที่รุนแรงเกิดร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีไข้ เห็นภาพซ้อนหรือสูญเสียการมองเห็น สูญเสียการได้ยิน พูดลำบาก แขนและขาอ่อนแรง หมดสติ เดินลำบากหรือหกล้ม รู้สึกชาเหมือนมีเข็มทิ่ม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

ในปัจจุบันมักไม่พบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้ตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่าง เช่น

  • ศีรษะได้รับการกระแทกอย่างรุนแรงหรือถูกกระแทกซ้ำ ๆ อย่างการขับขี่ยานพาหนะบนถนนที่มีพื้นผิวขรุขระ
  • การเคลื่อนไหวศีรษะในท่าเดิมซ้ำ ๆ หรือศีรษะอยู่ในท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน
  • การเสื่อมตามวัยของอวัยวะ
  • ไมเกรน  
  • การติดเชื้อ
  • การผ่าตัดบริเวณหู

นอกจากนี้ โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนยังพบได้มากในผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นเพศหญิง หรือป่วยด้วยโรคบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะที่มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัวในหู

การวินิจฉัยโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

ในการวินิจฉัยโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน แพทย์จะถามอาการผิดปกติและประวัติของผู้ป่วย รวมถึงตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อหาสัญญาณของโรค โดยให้ผู้ป่วยกลอกตาหรือหันศีรษะไปในทิศทางที่แพทย์กำหนด เพื่อตรวจว่าผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะชั่วขณะหรือไม่

จากนั้นแพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยนั่งตะแคงหน้าไปข้างใดข้างหนึ่งและนอนลงอย่างรวดเร็ว โดยให้เงยหน้าหรือห้อยหัวลงเล็กน้อย เพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยมีภาวะดวงตากระตุกหรือเคลื่อนไหวเอง (Nystagmus) ร่วมกับอาการเวียนศีรษะหรือไม่

ในบางกรณี แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เช่น การตรวจด้วยไฟฟ้า (Electronystagmography: ENG) หรือการตรวจด้วยกล้องขนาดเล็ก (Videonystagmography: VNG) เพื่อตรวจการกลอกตาของผู้ป่วย รวมถึงการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging: MRI) บริเวณศีรษะของผู้ป่วย เป็นต้น

การรักษาโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

อาการจากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองในระยะเวลาไม่นาน ในกรณีที่อาการไม่หายไป แพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยหมุนศีรษะไปในทิศทางที่กำหนดเพื่อให้หินปูนเคลื่อนที่กลับไปสู่ตำแหน่งเดิมที่หลุดออกมา

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาบางชนิดเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น ยาบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ หรือยาต้านอาการคลื่นไส้อาเจียน รวมถึงอาจสอนวิธีหมุนศีรษะในข้างต้น เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปทำเองได้ที่บ้าน เนื่องจากโรคนี้มีโอกาสเกิดซ้ำ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีในข้างต้น แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัดเพื่ออุดทางที่ตะกอนหินปูนอาจหลุดเข้าไป แต่เป็นวิธีการรักษาที่ใช้น้อยมาก

ภาวะแทรกซ้อนของโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนมักไม่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ที่อันตรายต่อสุขภาพ นอกจากอาการเวียนศีรษะ ทรงตัวลำบาก หรือเสี่ยงต่อการหกล้มและเกิดอุบัติเหตุ ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการอาเจียนมาก อาจส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำหรือเกลือแร่ได้

การป้องกันโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

การป้องกันโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนอาจทำได้ยาก แต่ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แล้ว อาจลดความเสี่ยงได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาหรือการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการถูกกระแทกแรง ๆ หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันเสมอ และควรเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างวันบ่อย ๆ อย่างช้า ๆ เป็นต้น