โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ผู้หญิงควรระวัง

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นความเสี่ยงจากการทำกิจกรรมทางเพศซึ่งบางโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต บางโรครักษาไม่หาย ผู้หญิงน้อยคนนักที่จะตระหนักถึงความสำคัญของการมีเพศสำคัญอย่างปลอดภัย ทั้งที่จริงแล้ว ทุกคนควรเรียนรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง เพื่อรู้เท่าทันอันตรายและรักษาได้ทันท่วงที

STIs

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยในผู้หญิง

ผู้หญิงหลายคนที่ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจไม่มีอาการแสดงให้เห็น ทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจนนำไปสู่อาการที่รุนแรงขึ้น บางโรคอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอย่างภาวะมีบุตรยาก อุ้งเชิงกรานอักเสบ มะเร็งปากมดลูก หรือเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ผู้หญิงควรระวัง ได้แก่

  • โรคติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) พบได้มากในผู้หญิง และเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อเอชพีวีจะไม่มีอาการหรือบาดแผลใด ๆ ให้เห็น  ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อและอาจแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือการทำกิจกรรมทางเพศอื่น ๆ ได้ง่าย ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นกังวลว่าตนเองอาจติดเชื้อไวรัสเอชพีวีควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ส่วนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 9-26 ปี และไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน สามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก
  • หนองในแท้ เป็นอีกโรคที่เกิดจากการทำกิจกรรมทางเพศกับผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของโรค หากป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นอยู่ก่อนแล้วจะยิ่งเสี่ยงติดโรคหนองในแท้มากขึ้น นอกจากนี้ อาจติดเชื้อที่บริเวณอื่น ๆ นอกเหนือจากอวัยวะเพศได้ เช่น ตา คอ ทวารหนัก เป็นต้น หลายคนอาจสับสนระหว่างโรคนี้และกับโรคหนองในเทียม เนื่องจากมีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น มีหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศ เจ็บปวดหรือแสบร้อนเวลาปัสสาวะ แต่ผู้ป่วยหญิงหลายคนก็ไม่มีอาการแสดงให้เห็นหรือมีอาการน้อยมาก  ทั้งนี้ โรคหนองในแท้รักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ และควรพาคู่นอนเข้ารับการรักษาพร้อมกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
  • หนองในเทียม เป็นโรคที่มักติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทวารหนัก แต่พบการติดต่อทางปากและตาได้เช่นกัน อาการสำคัญที่เห็นได้ชัดคือ มีหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศ หรือปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ โรคนี้รักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเช่นเดียวกับโรคหนองในแท้ แต่หลังจากรักษาหายแล้ว ผู้ป่วยควรรับการตรวจอีกครั้งภายใน 3 เดือน เพราะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้
  • เริมที่อวัยวะเพศ เป็นโรคจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็ก ไวรัส (Herpes Simplex Virus: HSV) ซึ่งจะเข้าไปฝังตัวบริเวณรากประสาทใกล้กับไขสันหลัง ทำให้เชื้อยังอยู่ในร่างกายแม้ในระยะที่อาการของโรคสงบลงแล้ว จึงไม่อาจรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ การติดเชื้อโรคเริมครั้งแรกนั้นมีอาการค่อนข้างรุนแรง โดยจะปรากฏตุ่มน้ำและมีอาการบวมแดงบริเวณอวัยวะเพศหรือบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ปาก ส่วนการติดเชื้อครั้งต่อไปมักไม่มีอาการรุนแรงเท่าครั้งแรก หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตาม โรคเริมจะแสดงอาการเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำลง ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน มีความเครียด เกิดการติดเชื้อ หรือต้องใช้ยาที่ส่งผลต่อระบบภูมิค้มกัน อาจมีอาการกำเริบได้บ่อยและเป็นนานกว่าผู้ป่วยทั่วไป
  • โรคซิฟิลิส เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจากการทำกิจกรรมทางเพศที่สัมผัสกับแผลโดยตรง อาการของโรคมักปรากฏบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือปาก โรคซิฟิลิสรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาเพนิซิลลิน หากรีบเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ทว่าหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อหัวใจ สมอง หรืออวัยวะอื่น ๆ และเป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งยังแพร่เชื้อจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ได้
  • โรคไทรโคโมนิอาสิส (Trichomoniasis) เกิดจากการติดเชื้อปรสิตชนิดหนึ่งผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก อวัยวะเพศ และทวารหนัก โดยผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น ทำให้ไม่รู้ตัวและไม่ได้รับการตรวจรักษา ซึ่งจะทำให้ให้เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้นไปด้วย โรคนี้รักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจซ้ำภายใน 3 เดือนหลังรับการรักษา เพราะมีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้
  • การติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์ โรคติดเชื้อเอชไอวีนั้นไม่สามารถรักษาให้หายได้ โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ติดต่อกันผ่านทางของเหลวในร่างกาย เช่น เลือด อสุจิ น้ำหล่อลื่นภายในช่องคลอด หรือนมแม่ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ได้รับเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย อย่างไรก็ตาม โรคติดเชื้อเอชไอวีควบคุมอาการได้หากรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทว่าหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้นจนเข้าสู่ระยะเอดส์ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของโรคและส่งผลอันตรายถึงชีวิต

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงป้องกันได้หากรู้จักระมัดระวังและมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ควรให้คู่นอนใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาได้อย่างทันท่วงที